หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน

นักเขียนชาวไทย

นายเรืออากาศโท หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน (21 เมษายน พ.ศ. 2451 - 11 เมษายน พ.ศ. 2491) นักเขียนชาวไทย อดีตนายเรืออากาศที่ต้องโทษในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ผู้มีผลงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตั้งแต่ในช่วงที่ถูกจองจำในเรือนจำกลางบางขวาง

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน
เกิด21 เมษายน พ.ศ. 2451
เสียชีวิต11 เมษายน พ.ศ. 2491 (39 ปี)
มีชื่อเสียงจากนักเขียน
คู่สมรสคุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา
บุตรหม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
บิดามารดาหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน
หม่อมสุดใจ นวรัตน ณ อยุธยา

ประวัติ แก้

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นโอรสของหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน กับหม่อมสุดใจ นวรัตน ณ อยุธยา และเป็นพระนัดดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ กับหม่อมนุ่ม นวรัตน ณ อยุธยา (สกุลเดิม อภัยกุล) ได้รับการอบรมแบบทหารภายใต้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ภายหลังจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ย้ายไปเป็นนักบินขับไล่ประจำการ ณ สนามบินโคกกระเทียม เมื่ออายุ 25 ปี ขณะดำรงยศนายเรืออากาศโท ต้องออกจากราชการด้วยกรณีศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พิพากษาให้จำคุก 9 ปี ในคดีกบฏบวรเดช

ในระหว่างต้องโทษได้เริ่มศึกษาการเมืองโดยการอ่านตำราจากต่างประเทศของผู้ร่วมชะตากรรมในเรือนจำกองมหันตโทษ และเขียนหนังสือขึ้น เริ่มเขียนตำราด้วยลายมือลงในสมุด ลักลอบเวียนกันอ่านในหมู่นักโทษการเมืองในชื่อวารสาร “น้ำเงินแท้” และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ้าง ก่อนที่นักโทษด้วยกันจะขอร้องให้เลิกเพราะกลัวถูกจับได้และจะถูกเพิ่มโทษ แต่ก็ยังคงเขียนต่อไปจนถืงกับส่งบทความออกมาลงหนังสือพิมพ์ภายนอก หลังถูกจองจำอยู่ 5 จึงปีได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อเป็นพ้นโทษแล้วได้เขียนเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” แต่ถูกสันติบาลยึดไปจากโรงพิมพ์ทั้งหมดก่อนวางตลาด เพราะการมีพรรคการเมืองในสมัยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้เป็นอิสระอยู่ได้ไม่นานก็ถูกสันติบาลจับกุมตัวในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล จากสาเหตุที่สันติบาลไปค้นวังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต แล้วเจอหนังสือกราบทูลของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ด้วยสำนึกในพระกรุณาของทูลกระหม่อมพระบิดาของพระองค์หญิง ที่ได้ชุบเลี้ยงตนมาว่า เมื่อออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระ โอกาสที่จะเอาตัวออกรองฉลองพระบาทคงมีบ้าง ซึ่งสันติบาลตีความว่า โอกาสดังกล่าวคือ โอกาสที่จะคิดแก้แค้นรัฐบาล ในที่สุดศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 ได้ตัดสินโทษ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ว่าเป็นกบฏและให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะถูกจองจำอยู่นั้น ได้ลอบแต่งหนังสือ "เมืองนิมิตร" ขึ้น โดยให้ชื่อในขณะนั้นว่า “ความฝันของนักอุดมคติ” ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ และตกถึงมือสันติบาลอีก ซึ่งมีผลทำให้ถึงกับต้องโทษเนรเทศไปอยู่เกาะเต่าถึง 3 ปี รัฐบาลใหม่ของควง อภัยวงศ์ จึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2488 พระราชทานนิรโทษกรรมให้กลับเข้าในราชการรับบำเหน็จบำนาญสังกัดบัญชาการกองทัพไทย ตามเดิม

ในปี พ.ศ. 2490 ได้ทำการสมรสกับ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา จ.จ. (สกุลเดิม สังขดุลย์ ธิดาพระพิจิตรจำนง (แจง สังขดุลย์) กับ นางพิจิตรจำนง (ยิ่ง สังขดุลย์) มีพี่ชายร่วมบิดา มารดา ได้แก่ พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ อดีตทหารผ่านศึกยุทธนาวีเกาะช้าง) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระตำหนัก ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2490 แต่เนื่องจากสังขารที่กรอบเกรียมจากวัณโรคและมาลาเรียครั้งทนทุกข์ทรมานอยู่ ณ เกาะเต่า หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงต่อหน้ามารดาและภรรยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2491 ก่อนที่ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน บุตรชายคนเดียวจะเกิดเพียง 45 วัน เท่านั้น สิริรวมอายุได้ 39 ปี 11 เดือน 20 วัน

งานประพันธ์ แก้

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน มีผลงานที่ได้ประพันธ์ขึ้นและตีพิมพ์สู่บรรณพิภพ นอกจาก “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” ที่หลุดรอดจากการทำลายของสันติบาลหลงเหลืออยู่เล่มหนึ่งในห้องหนังสือหายากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมี “ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง” และ “ความฝันของนักอุดมคติ” หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองนิมิตร” ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และ 1 ใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย นอกจากนั้น ต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ The Emerald’s Cleavage ได้รับการแปลโดย ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หลังจากถึงแก่อนิจกรรมแล้ว 26 ปี และตีพิมพ์ขึ้นในชื่อ ‘’รอยร้าวของมรกต’’ งานประพันธ์ของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ได้รับการแปลและตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษกับภาษาญี่ปุ่น เพื่อเผยแพร่อุดมคติของคนไทยคนหนึ่งไปทั่วโลก

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นเจ้าของประโยคอมตะที่ยังทรงความหมายอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่า

ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติและถวายน้ำพิพัฒน์สัตยาจากพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้ามิใช่ทหารของรัฐบาลหรือกลุ่มนักการเมืองใด ๆ

การยกย่องเชิดชูเกียรติ แก้

กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เรืออากาศโทหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน์ เป็น “บูรพศิลปิน” (สาขาวรรณศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2560 ในฐานะศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมควรค่า แก่การเคารพยกย่อง ซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”

อ้างอิง แก้