พลับพลา (อังกฤษ: tabernacle) ได้ถูกกล่าวถึงในพระธรรมอพยพ พระเจ้าทรงบัญชาให้โมเสส สร้างสถานนมัสการพระเจ้าขึ้น เป็นเต็นท์ที่ประทับ และจัดทำองค์ประกอบต่าง ๆ ของสถานนมัสการนั้นขึ้น

พลับพลาจำลองใน Timna Valley Park ประเทศอิสราเอล

ม่านพลับพลา แก้

พลับพลาประกอบด้วยม่าน จำนวน 10 ผืน ผ้าม่านแต่ละผืน ทำด้วยผ้าป่านเนื้อดี และผ้าทอด้วยด้ายย้อมสีฟ้า สีม่วง สีแดงเข้ม และมีรูปเครูปบนผ้าม่านนั้น ผ้าม่านแต่ละผืนยาว 28 ศอก กว้าง 4 ศอก ผ้าม่านนี้คล้องขอเกี่ยวกันเป็น 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยผ้าม่าน 5 ผืน ผ้าม่ามแต่ละชุดจะมีหู จำนวน 50 หู ซึ่งคล้องด้วยขอทองคำให้เกี่ยวกันไว้

นอกจากนี้ ยังมีม่านที่ทำด้วยขนแพะ สำหรับเป็นเต็นท์คลุมพลับพลาชั้นนอกอีก 11 ผืน ผ้าม่านขนแพะแต่ละผืนจะยาว 30 ศอก กว้าง 4 ศอก ผ้าม่านแต่ละผืนมีหว่ง 50 หูติดกับขอบผ้าม่านแต่ละชุด ผ้าม่านชุดที่หนึ่งจะมีผ้าม่านขนแพะ 5 ผืน ผ้าม่านชุดที่สอง มีผ้าม่านขนแพะ 6 ผืน มีขอทองสัมฤทธิ์ เกี่ยวที่หูของผ้าม่าน ทำให้เป็นผืนเดียวกัน

ด้านบนของพลับพลา ใช้หนังแกะตัวผู้ ย้อมสีแดงชั้นหนึ่ง และคลุมหลังด้วยทาคัชอีกชั้นหนึ่ง

ไม้กรอบสำหรับทำพลับพลา ใช้ไม้กระถินเทตตั้งตรง แต่ละแผ่นกว้าง ศอกเศษ ยาว 10 ศอก มีเดือยชิ้นละ 2 อัน ทำฐานรองรับด้วยเงิน ชิ้นละ 2 ฐาน จำนวนไม้กรอบทั้งสั้น 48 แผ่น ใช้สำหรับกรอบด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ทิศละ 20 แผ่น และใช้สำหรบกรอบทางด้านหลัง ใช้ไม้กรอบจำนวน 6 แผ่น และใช้สำหรับมุมอีก 2 แผ่น

สิ่งของประกอบพลับพลา แก้

กำหนดของพระเจ้า ทรงให้นำหีบพระโอวาทไว้ในพลับพลา และวางพระที่นั่งกรุณาบนหีบพระโอวาท และทำผ้าม่านด้วยผ้าทอกั้นไว้ เป็นการแบ่งพื้นที่ระหว่างวิสุทธิสถาน(พื้นที่ลานพลับพลา) และอภิสุทธิสถาน(พื้นที่พลับพลา)[1] และทรงกำหนดเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสำหรับใช้ในพลับพลาดังนี้[2]

ลานพลับพลา แก้

ลานพลับพลานี้ โมเสสได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้สร้าง มีรั้วทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ยาวด้านละ 100 ศอก ทำด้วยผ้าป่านเนื้อดี มีเสา และฐานทองสัมฤทธิ์รองรับเสาด้านละ 20 ต้น รั้วทางด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ยาวด้านละ 50 ศอก มีเสาด้านละ 10 ต้น ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีบานประตู 2 บาน ความกว้างบานละ 15 ศอก บังประตูด้วยผ้าป่าน และผ้าสีฟ้า สี่ม่วง สีแดงเข้ม[3]

หีบพระโอวาท แก้

หีบพระโอวาท หรือ หีบพันธสัญญาแห่งพระเจ้า Ark of Covernance เป็นหีบสำคัญ เนื่องจากภายในได้บรรจุ แผ่นศิลาจารึกคำสอนของพระเจ้า ซึ่งอิสราเอลถือได้ว่าเป็นเสมือนตัวแทนพระเจ้าทีเดียว และหีบพระโอวาทมีบทบาทต่ออิสราเอลในยุคต่าง ๆ มาก เช่น

  • เมื่ออิสราเอลต้องการยึดเมืองเยรีโค แม้เมืองจะมีกำแพงเข้มแข็ง แต่อิสราเอลได้เพียงแต่เดินขบวนรอบกำแพงเมือง โดยมีปุโรหิต และหีบพระโอวาทนำหน้า กำแพงเมืองเยรีโค ก็ถล่มราบลงต่อหน้าอิสราเอล[4]
  • เมื่อคนฟีลิสเตียมาบุกอิสราเอล และได้ยึดหีบพระโอวาทไปวางไว้ในวิหารแห่งพระดาโกน เมื่อเช้าขึ้นมา พระดาโกนก็ล้มคว่ำหน้าลงมายังพื้นดินตรงหน้าหีบพระโอวาท และเมื่อชาวฟีลิสเตียยกพระดาโกนขึ้นตั้ง วันรุ่งขึ้น พระดาโกนก็ล้มลง เศียรพระดาโกนก็หักออก[5]
  • เมื่อกษัตริย์ดาวิด ได้นำหีบพระโอวาทกลับมาจากชาวฟีลิสเตีย ได้นำหีบพระโอวาทขึ้นเกวียนบรรทุก โดยมีอุสซาห์ และอาบีนาดับเป็นผู้ดูแล เมื่อระหว่างทางโคสะดุด อุสซาห์ได้เอื้อมมือไปจับหีบพระโอวาท พระพิโรธของพระเจ้าก็ขึ้นกับอุสซาห์ และทรงประหารเขาที่นั่นเพราะเขาเหยียดมือออกจับหีบนั้น (ทั้งนี้ เนื่องจากในพระบัญญัติห้ามมิให้บุคคลทั่วไปแตะต้องหีบพระโอวาท การขนส่งหีบพระโอวาทให้กระทำโดยการหาบด้วยคานหาม)[6]

ในการสร้างหีบพระโอวาทนั้น พระเจ้าทรงบัญชาผ่านโมเสสที่ภูเขาซีนาย ดังนี้ "ให้เขาทำหีบใบหนึ่งด้วยไม้กระถินเทศ ยาว 2 ศอกคืบ กว้างศอกคืบ และสูงศอกคืบ หีบนั้นหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ทั้งด้านในและด้านนอก แล้วทำกระจังคาดรอบหีบนั้นด้วยทองคำ ให้หล่อห่วงทองคำสี่ห่วงสำหรับหีบนั้น ติดไว้ที่มุมทั้งสี่ ...ทำคันหามด้วยไม้กระถินเทศหุ้มด้วยทองคำสำหรับยกหีบนั้น...ไม้คานหามให้สอดไว้ในห่วงของหีบอย่าถอดเลย...แล้วจงทำพระที่นั่งกรุณาด้วยทองคำบริสุทธิ์ ยาวสองศอกคืบ สูงศอกคืบ จงทำเครูบทองคำ 2 รูปตั้งไว้ที่ปลายพระที่นั่งกรุณาทั้งสองข้าง ให้ตอนปลายเครูบทั้งสองข้างติดเป็นเนื้อเดียวกับพระที่นั่งทองคำ ให้เครูบกางปีกออกปกพระที่นั่งกรุณา แล้วตั้งพระที่นั่งกรุณานั้นไว้บนหีบ..."[7]

แท่นเครื่องเผาบูชา แก้

แท่นสำหรับเผาเครื่องเผาบูชา ในพลับพลานั้น ทำด้วยไม้กระถินเทศหุ้มด้วยทองคำ เช่นเดียวกับวัสดุอื่น ๆ ในพลับพลา มีขนาดกว้าง 5 ศอก ยาว 5 ศอก และสูง 3 ศอก มีเชิงงอนติดไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน

แท่นเครื่องเผาบูชา มีเครื่องประกอบอื่น ซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย หม้อสำหรับใส่ขึ้เถ้า ทัพพี ชาม ขอเกี่ยวเนื้อ และถาดรองไฟ นอกจากนี้ยังมีตาข่ายประดับแท่น ติดรอบแท่นในระดับที่ต่ำกว่ากระจัง โดยห้อยตั้งแต่กลางแท่นลงไป และมีห่วงทองสัมฤทธิ์ติดที่มุมทั้งสี่ของตาข่าย มีไม้คานหามทำจากไม้มะกอกเทศ หุ้มทองสัมฤทธิ์ [8]

แท่นเครื่องหอม แก้

แท่นสำหรับเผาเครื่องหอมทำจากไม้มะถินเทศหุ้มด้วยทองคำ ขนาดกว้างxยาวxสูง 1x1x2 ศอก มีเชิงงอนมุมแท่น และกระจังทองคำล้อมรอบ มีห่วงทองคำ 2 อยู่ใต้กระจังด้านละห่วงตรงข้ามกัน มีไม้สำหรับหาม ทำด้วยไม้กระถินเทศหุ้มทองคำ

แท่นสำหรับเผาเครื่องหอมนี้ ถูกไว้ใกล้กับหีบพระโอวาท และมอบหมายให้ปุโรหิตเผาเครื่องหอมวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและเย็น เช่นเดียวกันกับการจุดทันประทีป[9]

โต๊ะขนมหน้าพระพักตร์ แก้

 
คันประทีปทองคำ

ในพลับพลา มีโต๊ะสำหรับวางขนมปังหน้าพระพักตร์ ซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาแก่โมเสสไว้ว่า "จงเอาไม้กระถินเทศมาทำโต๊ะตัวหนึ่ง ยาวสองศอก กว้างหนึ่งศอก สูงสองคืบ...หุ้มโต๊ะนั้นด้วยทองคำ...ประกับโต๊ะให้กว้างหนึ่งฝ่ามือโดยรอบ แล้วทำกระจังทองคำประกอบให้รอบประกับนั้น...จงทำห่วงทองคำติดไว้ที่มุมขาโต๊ะทั้งสี่ ติดกับกระจังเพื่อเอาไว้สอดคานหาม...จงทำคานหามด้วยไม้มะกอกเทศ หุ้มด้วยทองคำ...จงทำจาน ชาม ช้อน คนโท และอ่างน้ำที่ใช้สำหรับรินเครื่องดื่มบูชา เหล่านี้ด้วยทองคำบริสุทธิ์..."[10]

คันประทีปทองคำ แก้

ตามพระบ้ญชาของพระเจ้า ในพลับพลาจะมีคันประทีป 1 อัน ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ โดยมีรายละเอียดที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ดังนี้ ฐานและลำดัวของคันประทีปนั้น ให้ใช้ค้อนทำดอก คือ ฐานดอกและกลีบติดเป็นเนื้อเดียวกันกับคันประทีป ให้มีกิ่ง 6 กิ่งแยกจากคันประทีปนั้น ข้างละ 3 กิ่ง

กิ่งหนึ่งมีดอก เหมือนดอกอัลมันด์ 3 ดอก ทุกดอกมีฐานดอก และกลีบดอก ใต้กิ่งทุก ๆ คู่ ทั้งหกกิ่งที่ลำประทีป มีกระเปาะเป็นเนื้อเดียวกับคันประทีป แต่สำหรับตัวคันประทีป มีดอกเหมือนดอกอัลมันด์ 4 ดอก และคันประทีปนี้มีตะเกียงทั้งสิ้น 7 ดวง

ประทีปในพลับพลา จะต้องเติมด้วยน้ำมันมะกอกเทศบริสุทธิ์ และให้ประทีปนี้ส่องสว่างตลอดเวลา และกำหนดให้ปุโรหิตเป็นผู้ดูแลประทีปนี้ตั้งแต่พลบค่ำจนถึงหัวรุ่ง[11]

นอกจากดวงประทีปแล้ว ยังมีตะไกรตัดใส้ตะเกียง และถาดใส่ตะไกรตัดใส้ตะเกียง โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ ได้แก่ คันประทีป กรรไกรตัดใส้ตะเกียง และถาดใส่ตะไกร ทำมาจากทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก 1 ตะลันต์[12]

น้ำมันเจิม และเครื่องหอม แก้

ในพระธรรมอพยพ พระเจ้าตรัสสั่งโมเสสถึงสูตรปรุงน้ำมันเจิม และเครื่องหอมไว้ และให้เป็นสูตรเฉพาะสำหรับการเป็นน้ำมันเจิมเท่านั้น ไม่ทรงอนุญาตให้นำไปใช้ชโลมผู้คนทั่วไป โดยน้ำมันเจิมนี้ใช้สำหรับเจิมปุโรหิต เต้นท์นัดพบ หีบพระโอวาท คันประทีป แท่นเครื่องเผาบูชา แท่นเครื่องหอมบูชา และสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ในพลับพลาของพระเจ้า

องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ มดยอบน้ำหนัก 500 เชเขล อบเชยหอมหนัก 250 เชเชล ตะไคร้ 250 เชเชล การบูร 500 เชเชล และน้ำมันมะกอกเทศ 1 ฮิน แล้วนำไปปรุงด้วยศิลปของช่างปรุงน้ามัน[13]

เครื่องโลหะสำหรับวิสทุธิสถาน แก้

ในสถานนมัสการ มีอุปกรณ์ประกอบหลายอย่างที่ต้องใช้ประกอบกับบรรดาองค์ประกอบแต่ละตัวของพลับพลา อาทิ

  • ขันทองสัมฤทธิ์ สำหรับการล้างชำระ[14]
  • พานทองสัมฤทธิ์
  • ม่านบังตา

ในการสร้างพลับพลา และอุปกรณ์ประกอบในพลับพลา พระธรรมอพยพระบุไว้ว่า ได้จากการรวบรวมจากชาวอิสราเอลที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 603,550 คน รวบรวมได้ทองคำ ทั้งสิ้น 29 ตะลันต์ กับ 730 เชเขล และเงิน ทั้งสิ้น 1,770 เชเขล[15]

มาตราส่วน แก้

การเทียบมาตรหน่วยวัด ในพันธสัญญาเดิม[16]

  • 1 ศอก = 44.42 เซนติเมตร
  • 1 คืบ = 22.21 เซนติเมตร
  • 1 เชเขล = 11.424 กรัม
  • 1 ตะลันต์ = 34.272 กิโลกรัม

อ้างอิง แก้

  1. พระธรรมอพยพ บทที่ 26
  2. พลับพลาแบบนี้ ใช้จนกระทั่งถึงสมัยของกษัตริย์ดาวิด ก็มีการเปลี่ยนแปลงสร้างใหม่ต่างไปจากเดิม
  3. พระธรรมอพยพ บทที่ 20
  4. พระธรรมโยชูวา บทที่ 6 ข้อที่ 1-27
  5. พระธรรม 1ซามูเอล บทที่ 5 ข้อที่ 1-12
  6. พระธรรม 2ซามูเอล บทที่ 6 ข้อที่ 1-11
  7. พระธรรมอพยพ บทที่ 25 ข้อที่ 10-22 และพระธรรมอพยพ บทที่ 37 ข้อที่ 1-9
  8. พระธรรมอพยพ บทที่ 27 ข้อที่ 1-8 และพระธรรมอพยพ บทที่ 38 ข้อที่ 1-7
  9. พระธรรมอพยพ บทที่ 30 ข้อที่ 1-10 และพระธรรมอพยพ บทที่ 37 ข้อที่ ข้อ 25-28
  10. พระธรรมอพยพ บทที่ 25 ข้อที่ 23-30 และพระธรรมอพยพ บทที่ 37 ข้อที่ 10-16
  11. พระธรรมอพยพ บทที่ 27 ข้อที่ 20-21
  12. พระธรรมอพยพ บทที่ 25 ข้อที่ 31-40 และพระธรรมอพยพ บทที่ 37 ข้อที่ 17-24
  13. พระธรรมอพยพ บทที่ 30 ข้อที่ 22-38 และพระธรรมอพยพ บทที่ 37 ข้อที่ 29
  14. พระธรรมอพยพ บทที่ ข้อที่ 17-21
  15. พระธรรมอพยพ บทที่ 38 ข้อที่ 21-31
  16. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับเรียงพิมพ์ใหม่ ปี พ.ศ. 2541 (1998)

ดูเพิ่ม แก้