น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกกะปิชนิดหนึ่งในตำรับอาหารชาววัง ที่มีรสชาติเปรี้ยวเค็มเผ็ดหวานอย่างกลมกลืน รับประทานเคียงกับทั้งผักต้มและผักสด คิดค้นโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นอาหารที่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีโปรด[1]

น้ำพริกลงเรือ
มื้อเครื่องจิ้ม
แหล่งกำเนิดไทย
ภูมิภาคภาคกลาง
ผู้สร้างสรรค์เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5
ส่วนผสมหลักกะปิ พริก กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว กระเทียมดอง ไข่เค็ม ปลาดุกฟู หมูหวาน
รูปแบบอื่นข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ

ประวัติ แก้

น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกที่ทำขึ้นครั้งแรกโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ที่ปฏิบัติงานในห้องพระเครื่องต้นในราชสำนักที่หม่อมเจ้าสะบาย นิลรัตน์ เป็นหัวหน้าห้องเครื่อง และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาเป็นผู้คุมห้องต้นเครื่อง[1][2]

หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ หลานสาวของหม่อมเจ้าสะบาย นิลรัตน์ที่เข้ามาในห้องเครื่องวังสวนสุนันทามาแต่ยังเยาว์ได้อธิบายที่มาของชื่อน้ำพริกลงเรือไว้ว่า[3]

"...เจ้านายเล็ก ๆ เสด็จเล่นเรือกันไง เดือน 11-12 น้ำมันเจิ่ง ทีนี้มืดค่ำแล้วถึงเวลาเสวย ไม่เสด็จขึ้นจากเรือ คุณจอมสดับก็ไปชวนเชียว "มาเพคะ เสด็จเลิกเล่นเพคะ ขึ้นเสวยถึงเวลาเสวยแล้ว ประเดี๋ยวท่านป้า [พระวิมาดาเธอฯ] กริ้วเอาเพคะ" พระวิมาดาฯ ไง ท่านป้า กลัวถูกกริ้ว คุณจอมสดับเรียกท่านก็ไม่ขึ้น ไม่ยอมขึ้นมาเสวย คุณจอมสดับก็ตัวสั่นเลย กลัวจะถูกกริ้ว วิ่งขึ้นมาห้องเสวยที่เค้ามีโต๊ะใหญ่ พักเครื่องเวลาเครื่องเชิญมาจากห้องเครื่องพักวาง จนกว่าจะเลื่อนออกไปที่โต๊ะเสวย คุณจอมสดับเข้าไปก็ไปเปิดฝาชามดูเครื่องมีอะไร วันนั้นมีเครื่องน้ำพริกกะปิ หมูหวาน ไข่เค็ม ปลาช่อนทอดฟู ปลาทู ปลาดุกย่างทอด กระเทียมดอง หมูพะโล้ คุณจอมก็เทข้าวลง หยิบเครื่องทุกอย่างใส่จาน มะเขือ แตงกวา วางลง ใส่ช้อนส้อม เอาไปถวายเจ้านายเล็ก ๆ [...] ท่านเสวยหมดทุกองค์ แล้วบอกว่าอร่อยมาก ข้าวอันนี้อร่อยมาก ก็ข้าวคลุกน้ำพริกนี่แหละ แต่เครื่องน้ำพริกมันเยอะเจ้านายอยากเสวยอีก ก็บอกว่าเอาอย่างวันกินน้ำพริกลงเรือ ก็เลยเรียก น้ำพริกลงเรือ..."

ขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน[4] และนิจ เหลี่ยมอุไร บุตรบุญธรรมของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ อธิบายไว้ใกล้เคียงกัน ความว่า[1][2]

"... วันหนึ่งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ มีพระประสงค์จะเสวยอาหารในเรือ จึงรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ให้ไปดูในครัวว่ามีอะไรบ้าง เมื่อเดินเข้าไปสำรวจอาหารในห้องเครื่อง ก็พบว่าเหลือเพียงปลาดุกทอดฟูและน้ำพริกตำไว้เท่านั้น จึงนำน้ำพริกกับปลามาผัดรวมกัน เติมหมูหวานลงไปเล็กน้อย ตามด้วยไข่เค็ม ทิ้งไข่ขาว ใช้เฉพาะไข่แดงดิบ วางเรียงรายลงไป แล้วจัดเครื่องเคียง อาทิ ผักต้ม ผักสด ถวายเป็นอาหารมื้อเย็นบนเรือ ซึ่งทั้งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ และกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงโปรดน้ำพริกถ้วยนี้มาก..."

ส่วนผสม แก้

น้ำพริกลงเรือ ประกอบไปด้วยกะปิ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว กระเทียมดอง ไข่เค็ม (เฉพาะไข่แดง) ปลาดุกฟู และหมูหวาน โดยตำเช่นน้ำพริกทั่วไปก่อนใส่หมูหวานลงไปคลุกเคล้า เสร็จสรรพจึงตักใส่ชาม แล้วโรยด้วยปลาดุกฟูกรอบ ไข่เค็ม และกระเทียมดองตกแต่งให้สวยงาม เคียงด้วยผักต้มหรือผักสดตามชอบ[2][5] และควรปรุงให้มีรสชาติครบทั้งสามรส[3] คือมีทั้งรสเปรี้ยวเค็มหวานกลมกล่อมอย่างเท่า ๆ กันไม่มีรสใดนำโดดเด็ดขาด[2] ในงานเขียน เจ้าจอมก๊กออ ของกัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ ซึ่งเป็นเครือญาติของเจ้าจอมก๊กออแห่งวังสวนปาริจฉัตก์ ได้อธิบายเกี่ยวกับน้ำพริกลงเรือไว้ว่า "...ที่เป็นต้นฉบับน้ำพริกลงเรือจริง ๆ แนมกับปลาดุกฟู (ลอกหนังออกแล้วทอดให้ฟู) และหมูหวานมาก ๆ มะเขือเปราะนั้นหั่นสี่เหลี่ยมแช่น้ำไม่ให้ดำ สงขึ้นมาใส่อ่างผสมรวมกับปลาดุกฟู หมูหวาน กระเทียมดอง ไข่เค็ม (เอาเฉพาะไข่แดงตรงกลางไว้ประดับ) แล้วตำน้ำพริกกะปิรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ตามใจชอบ ตำครกเบ้อเร่อ เอามาเทลงไปเคล้า ๆ กับเครื่องข้างต้น จะได้น้ำพริกลงเรือต้นตำหรับ ไม่ต้องกินกับผักอะไรอีกเลย เพราะผักคลุกอยู่ในนั้นเสร็จ"[6]

แต่ในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงส่วนประกอบเพื่อให้เข้ากับรสชาติที่นิยมในปัจจุบัน เช่น ใส่มะดัน มะอึกเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว หรือไม่ใส่หมูหวานและปลาดุกฟู ดั่งในโรงแรมสวนสุนันทาที่ยังคงรักษาสูตรดั้งเดิมไว้ ทั้งมีการดัดแปลงส่วนประกอบตามความประสงค์ของผู้รับประทานด้วย[2]

นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงข้าวผัดที่มีส่วนประกอบเดียวกับน้ำพริกลงเรือ แต่นำเข้าไปผัดกับข้าวแล้วจัดจานด้วยผักตามชอบ เรียกข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ[7]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "เปิดสำรับ น้ำพริกลงเรือ ถ้วยเก่าคู่ครัวไทย". กระปุกดอตคอม. 2 Sep 2013. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ภัทริน อิ่มแก้ว และอื่น ๆ (1 Mar 2012). "'วังสุนันทา' ต้นกำเนิด 'น้ำพริกลงเรือ'". สวนสุนันทานิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.
  3. 3.0 3.1 เนื่อง นิลรัตน์ ม.ล.. ตำรากับข้าวในวัง ของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์. กรุงเทพฯ : บัวสรวง, 2549, หน้า 35-36
  4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 8
  5. "น้ำพริกลงเรือ อาหารไทยตำรับชาววังสุดอร่อย". กระปุกดอตคอม. 16 Dec 2013. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. เจ้าจอมก๊กออ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558, หน้า 233
  7. "ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ". แม่และเด็ก. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2016.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)