ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สุสานแต้จิ๋ว"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Supanut Arunoprayote (คุย | ส่วนร่วม)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:05, 19 มกราคม 2564

สุสานแต้จิ๋ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ สุสานวัดดอน ป่าช้าวัดดอน เป็นสุสานจีนขนาดใหญ่ในเขตเมือง มีขนาดพื้นที่ประมาณ 105 ไร่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442 หรือประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บนถนนจันทร์บริเวณซอยวัดปรก 1 ถนนจันทร์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สุสานแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย เดิมสุสานแห่งนี้ ไม่ใช่ของสมาคมแต้จิ๋วฯ แต่ภายหลังได้โอนการบริหารและงานดูแลรักษาแก่สมาคมเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมด และยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุสานอีกสององค์กร คือ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้ โดยสมาคมแต้จิ๋วฯ จะเป็นผู้ก่อสร้างหลุมฝังศพเอง และให้ถือเป็นลักษณะการเช่า ไม่ใช้การซื้อ

สุสานแต้จิ๋ว ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564

ในช่วงก่อตั้งใหม่ การบริหารสุสานนำเอาต้นแบบมาจากสิงคโปร์ คือระบบ กงซีซัว (ลักษณะเป็นหลุมฮวงซุ้ย) ซึ่งไม่มีการเก็บเงิน “แบบหงี่ท่ง” (บริการฟรี) โดยในปี พ.ศ. 2449 มีรายชื่อคนที่ถูกนำมาฝังรวมแล้วกว่า 4,267 ชื่อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงมีไม่ถึง 8% รุ่นอายุ 20-30 ปี มากที่สุดประมาณ 70% รองลงมาคืออายุ 40-50 ปี ส่วน 60-70 ปี น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นคนจีนส่วนใหญ่ที่อพยพมาได้รับการสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพไม่ดีซึ่งมีคนกล่าวกันว่าชายหนุ่มที่มาบุกเบิกทำงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศ แล้วมาเสียชีวิตที่เมืองไทย โดยการฝังศพที่นี่ มีสองรูปแบบคือ มีศพที่ฝังในลักษณะของฮวงซุ้ย จำนวน 7,961 ศพ ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิอีก 1,800 กว่าศพ และศพที่ไม่มีญาติ บรรจุรวมกันไว้ อีกมากกว่าหมื่นศพ[1] มีค่าดูแลรักษาหลุมละ 800-1,000 บาทต่อปี[2]

ปัจจุบันสมาคมแต้จิ๋ว ได้มอบหมายให้ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋วเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงดูแลและพัฒนาพื้นที่ ซึ่งภายในสุสานแต้จิ๋วมีเนื้อที่ประมาณ 105 ไร่ มีเวลาทำการ 04.00 – 20.00 น. โดยเปิดให้บริการทุกวัน ปัจจุบันพื้นที่สุสานแต้จิ๋ว ได้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนในพื้นที่ ผ่านการเข้ามาปรับปรุงพื้นที่โดยสำนักงานเขตสาทร เมื่อปี พ.ศ. 2539 แล้วได้ใช้ชื่อใหม่ว่า "สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว"[3] โดยอาจถือได้ว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้พื้นที่สุสาน ภายในยังประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น ซึ่งแตกต่างจากสุสานจีนทั่ว ๆ ไป ที่โดยปกติแล้วต้องโปร่งโล่ง

ที่ตั้ง

ขอบเขตสุสาน

สุสานวัดดอนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ซอยโรงน้ำแข็ง 5 และกุโบ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยวัดปรก 1 และซอยเย็นจิต 12
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนกุศลทอง และโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ซอยโรงน้ำแข็ง 5 และวัดปรกยานนาวา

ลักษณะทางกายภาพโดยรอบ

บริเวณโดยรอบสุสานยังสามารถแบ่ง ประเภทการใช้งานของอาคารและที่ดินได้หลายประเภทด้วยกัน เช่น

  • แหล่งชุมชน ประกอบด้วยชุมชนทั้งไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยซิกข์ ชาวไทยฮินดู ชาวไทยมุสลิม และชาวมอญ มีการตั้งที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นตลอดทุกทิศโดยรอบสุสาน ที่อยู่อาศัยส่วนมากเป็นอาคารเดี่ยว หรือ อาคารพาณิชย์ คสล. ความสูงระหว่าง 2-5 ชั้น ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล หอพัก และร้านค้า
  • ย่านธุรกิจทางที่พักอาศัยระดับไฮเอน เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรมห้าดาว รวมถึงอาคารออฟฟิศ ซึ่งตั้งแนวตลอดถนนสาทร หรือทางทิศเหนือของสุสาน
  • สถานพยาบาลเอกชนหนึ่งแห่ง คือ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
  • ศาสนาสถาน พบว่ามีการสร้างขึ้นหลากหลายตามแต่ละเชื้อชาติและคติความเชื่อโดยรอบสุสาน อาทิเช่น วัดปรกยานนาวา ซึ่งเป็นวัดมอญ วัดวิษณุ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วัดบรมสถล หรือ วัดดอน ซึ่งเป็นวัดพุทธ นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานที่มีสุสานควบคู่กันด้วย คือ มัสยิดยะวาและสุสานมุสลิม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับขอบเขตสุสานวัดดอนทางทิศเหนือ
  • สถานศึกษา ประกอบด้วยโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โรงเรียนสังกัดรัฐบาล ได้แก่ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนนิพัทธ์วิทยา และโรงเรียนวัดดอน

อ้างอิง

  1. กรมอนามัย. ยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ กับการพัฒนาป่าช้าวัดดอน. สืบค้นข้อมูล 19 มกราคม 2564.
  2. วธิชาธร ลิมป์สุทธิรัชต์ (2557), โครงการสวนสาธารณะแต้จิ๋ว. ปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. กนกวรรณ จันทร์พรหม (2560). การจัดการพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง: กรณีศึกษาสุสานแต้จิ๋ว กรุงเทพมหานคร. สาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เข้าถึงได้จาก http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/

13°42′52″N 100°31′29″E / 13.714378°N 100.524848°E / 13.714378; 100.524848