พลวัตกลุ่ม เป็นระบบพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มสังคมหรือระหว่างกลุ่มสังคม การศึกษาพลวัตกลุ่มเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจการตัดสินใจ การติดตามการระบาดของโรคภัยในสังคม การคิดค้นวิธีบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ และการอุบัติและความนิยมของแนวคิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ[1] พลวัตกลุ่มเป็นหัวใจสำคัญในการทำความเข้าใจคตินิยมเชื้อชาติ ลัทธิกีดกันทางเพศ และอคติทางสังคมอื่น ๆ และเป็นหัวข้อที่ศึกษาในหลายสาขาวิชา เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ และวิทยาการระบาด

เบื้องหลัง แก้

การศึกษาพลวัตกลุ่มมีรากฐานมาจากวิชาจิตวิทยาและสังคมวิทยา วิลเฮ็ล์ม วุนต์ นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งจิตวิทยาทดลอง" สนใจจิตวิทยาในกลุ่มคน วุนต์มีความเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่ถูกครอบงำ เช่น ภาษา ธรรมเนียมปฏิบัติ และศาสนา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการศึกษารายบุคคล[2] ด้านกุสตาฟว์ เลอ บง นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่าเมื่ออยู่ในกลุ่ม บุคลิกภาพของบุคคลจะถูกกดทับและอิทธิพลของกลุ่มจะมีอำนาจเหนือกว่าแทน[3] ขณะที่วิลเลียม แมกดูกัล นักจิตวิทยาชาวบริติชเชื่อว่า "จิตกลุ่ม" ดำรงอยู่แยกจากปฏิสัมพันธ์ของบุคคล[2]

อย่างไรก็ตาม คำว่าพลวัตกลุ่มถูกคิดค้นโดยเคิร์ต เลอวีน นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน–อเมริกัน เพื่ออธิบายแรงด้านบวกและลบภายในกลุ่มคน[4] ในปี ค.ศ. 1945 เลอวีนก่อตั้งศูนย์วิจัยพลวัตกลุ่มที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ[5] การศึกษาพลวัตกลุ่มในยุคหลังมีการผสานจิตวิทยาวิวัฒนาการในการพยายามอธิบายการปรับตัวของกลุ่มในสังคมที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การรับมือกับสถานภาพ การต่างตอบแทน ความเอื้ออาทร การขับออกจากกลุ่ม และภาวะผู้นำ[6]

พลวัตภายในกลุ่ม แก้

พลวัตภายในกลุ่ม (intragroup dynamics) เป็นกระบวนการพื้นฐานในการก่อเกิดบรรทัดฐาน บทบาท ความสัมพันธ์ทางสังคม และเป้าหมายที่บรรยายลักษณะของกลุ่ม โดยในกลุ่มจะมีภาวะพึ่งพาอาศัย หรือสมาชิกต่างได้รับอิทธิพลจากทัศนคติ ความคิดเห็น และประสบการณ์ของสมาชิกอื่น[7]

การก่อตัวของกลุ่มสามารถเกิดได้ทั้งจาก social cohesion approach หรือเกิดจากความดึงดูดใจระหว่างบุคคล และ social identity approach หรือสมาชิกรู้สึกว่าตนเองแบ่งปันบทบาทเดียวกันในสังคมกับสมาชิกอื่น[2] ก่อนจะใช้เวลาพัฒนาธรรมเนียม ค่านิยม และคติของกลุ่ม นอกจากนี้กลุ่มยังสามารถเกิดได้อย่างฉับพลัน เช่น กลุ่มที่รวมตัวช่วยเหลือในยามเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มลักษณะนี้จะไม่อิงบทบาทหรือประสบการณ์ร่วมกัน แต่ยังคงมีภาวะพึ่งพาอาศัยและความร่วมมือในการทำงานอย่างสูง[8]

การเข้าร่วมกลุ่มกำหนดด้วยหลายปัจจัย เช่น อุปนิสัยของบุคคล[9] สถานะเพศ[10] หรือประสบการณ์ในกลุ่มก่อนหน้า[11] เนื่องจากการเข้าร่วมกลุ่มต้องใช้เวลา ความสนใจ และความพยายาม[12] ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคมของจอห์น ทิเบาต์ และแฮโรลด์ เคลลีย์อธิบายว่าบุคคลจะมีระดับการเปรียบเทียบเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม โดยระดับการเปรียบเทียบนี้ได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์และความเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อนหน้า ซึ่งสรุปได้ว่าบุคคลที่ได้รับผลตอบแทนมาก แต่เสียทุนน้อยจะมีระดับการเปรียบเทียบสูงกว่าบุคคลที่เสียทุนมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย[13] หรืออีกนัยหนึ่งคือ หากบุคคลได้รับประสบการณ์ที่ดีจากกลุ่มหรือความสัมพันธ์ก่อนหน้า บุคคลนั้นจะมีระดับการเปรียบเทียบสูงกว่าบุคคลที่มีประสบการณ์ไม่ดีต่อกลุ่มหรือความสัมพันธ์ที่ผ่านมา[14]

พลวัตระหว่างกลุ่ม แก้

พลวัตระหว่างกลุ่ม (intergroup dynamics) เป็นความสัมพันธ์ทางพฤติกรรมและจิตวิทยาระหว่างกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการรับรู้ ทัศนคติ และความคิดเห็นต่อกลุ่มตนเอง และกลุ่มอื่น ๆ ต่างกันไป พลวัตระหว่างกลุ่มก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และความขัดแย้ง

ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคมเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกในกลุ่มตนกับสมาชิกกลุ่มอื่น[15] การเปรียบเทียบนี้เป็นกลไกหนึ่งที่เพิ่มความภูมิใจแห่งตน[2] ในช่วงการเปรียบเทียบนี้ บุคคลมีแนวโน้มที่จะชื่นชมกลุ่มตนเองมากกว่ากลุ่มอื่น, ขยายความแตกต่างระหว่างกลุ่มให้เกินจริงเพื่อแยกกลุ่มตนกับกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน, ลดความแตกต่างในหมู่สมาชิกกลุ่มตน, มุ่งสนใจข้อมูลแง่บวกของกลุ่มตนและข้อมูลแง่ลบของกลุ่มอื่น[16] กระบวนการเหล่านี้นำไปสู่อคติ การเหมารวม และความรุนแรง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงในบางกรณี เช่น การแข่งขันระหว่างนักเรียนต่างสถาบัน[2]

มีการเสนอหลายกลวิธีในการลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ในปี ค.ศ. 1954 กอร์ดอน ออลพอร์ตเสนอสมมติฐานการติดต่อ (Contact hypothesis)[17] และเสนอสี่เงื่อนไขในการติดต่อ ได้แก่ ให้สถานะทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน, มีเป้าหมายเดียวกัน, มีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจและกฎหมาย[18] นอกจากนี้มีการใช้อัตลักษณ์เหนือกว่าที่สมาชิกกลุ่มมีร่วมกัน เช่น หากเกิดความขัดแย้งในหมู่นักเรียนผิวขาว ผิวสี และเชื้อสายลาตินอเมริกา ทางโรงเรียนอาจใช้อัตลักษณ์ความเป็นนักเรียนร่วมสถาบันในการลดความขัดแย้ง[19] รวมถึงให้กลุ่มพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ดังเช่นในการทดลองรอบเบอส์เคฟของมุซาเฟอร์ เชอริฟที่ศึกษาความขัดแย้งระหว่างเด็กสองกลุ่ม เชอริฟใช้กลวิธีนี้ในการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม[20] หรือวิธีการเรียนการสอนแบบจิกซอว์ที่เอลเลียต อารอนสันให้นักเรียนต่างเชื้อชาติช่วยกันเรียนเพื่อลดความขัดแย้งในโรงเรียน[21]

อ้างอิง แก้

  1. Backstrom, L.; Huttenlocher, D.; Kleinberg, J.; Lan, X. (2006). "Group formation in large social networks". Proceedings of the 12th ACM SIGKDD international conference on Knowledge discovery and data mining - KDD '06. p. 44. doi:10.1145/1150402.1150412. ISBN 978-1595933393. S2CID 7904289.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Hogg, M. A.; Williams, K. D. (2000). "From I to we: Social identity and the collective self". Group Dynamics: Theory, Research, and Practice. 4: 81–97. doi:10.1037/1089-2699.4.1.81.
  3. "Gustave Le Bon". Britannica. สืบค้นเมื่อ December 10, 2020.
  4. Dion, K. L. (2000). "Group cohesion: From "field of forces" to multidimensional construct". Group Dynamics: Theory, Research, and Practice. 4: 7–26. doi:10.1037/1089-2699.4.1.7.
  5. gupta, niranjan (2013). "The Research Center for tcce pindra garhwa". Sociometry. 8 (2): 126–136. doi:10.2307/2785233. JSTOR 2785233.
  6. Van Vugt, M.; Schaller, M. (2008). "Evolutionary approaches to group dynamics: An introduction". Group Dynamics: Theory, Research, and Practice. 12: 1–6. doi:10.1037/1089-2699.12.1.1. S2CID 15306280.
  7. Wageman, R. (1995). "Interdependence and Group Effectiveness". Administrative Science Quarterly. 40 (1): 145–180. doi:10.2307/2393703. JSTOR 2393703.
  8. Majchrzak, A.; Jarvenpaa, S. L.; Hollingshead, A. B. (2007). "Coordinating Expertise Among Emergent Groups Responding to Disasters". Organization Science. 18: 147–161. doi:10.1287/orsc.1060.0228. S2CID 43354804.
  9. Lucas, Richard E.; Diener, Ed (2001). "Understanding extraverts' enjoyment of social situations: The importance of pleasantness". Journal of Personality and Social Psychology. 81 (2): 343–356. doi:10.1037/0022-3514.81.2.343. PMID 11519937.
  10. Gore, Jonathan S.; Cross, Susan E.; Morris, Michael L. (2006-03-01). "Let's be friends: Relational self-construal and the development of intimacy". Personal Relationships (ภาษาอังกฤษ). 13 (1): 83–102. doi:10.1111/j.1475-6811.2006.00106.x. ISSN 1475-6811.
  11. Bohrnstedt, George W.; Fisher, Gene A. (1986). "The Effects of Recalled Childhood and Adolescent Relationships Compared to Current Role Performances on Young Adults' Affective Functioning". Social Psychology Quarterly. 49 (1): 19–32. doi:10.2307/2786854. JSTOR 2786854.
  12. Hogg, Michael A.; Abrams, Dominic (1993). Group motivation : social psychological perspectives. New York: Harvester Wheatsheaf. ISBN 978-0745012391. OCLC 28963933.
  13. H., Kelley, Harold (1978). Interpersonal relations : a theory of interdependence. Thibaut, John W. New York: Wiley. ISBN 978-0471034735. OCLC 3627845.
  14. Cherry, Kendra (February 22, 2020). "Social Exchange Theory in Psychology". Verywell Mind. สืบค้นเมื่อ December 10, 2020.
  15. Turner, J. C. (1975). "Social comparison and social identity: Some prospects for intergroup behaviour". European Journal of Social Psychology. 5: 1–34. doi:10.1002/ejsp.2420050102.
  16. Gaertner, S. L.; Dovidio, J. F.; Banker, B. S.; Houlette, M.; Johnson, K. M.; McGlynn, E. A. (2000). "Reducing intergroup conflict: From superordinate goals to decategorization, recategorization, and mutual differentiation". Group Dynamics: Theory, Research, and Practice. 4: 98–114. doi:10.1037/1089-2699.4.1.98.
  17. Allport, Gordon (1979). The Nature of Prejudice. Reading: Addison-Wesley Pub. Co. ISBN 978-0-201-00179-2.
  18. Pettigrew, T. F.; Tropp, L. R. (2006). "A Meta-Analytic Test of Intergroup Contact Theory". Journal of Personality and Social Psychology. 90 (5): 751–783. doi:10.1037/0022-3514.90.5.751. PMID 16737372.
  19. Hornsey, M. J.; Hogg, M. A. (2000). "Subgroup Relations: A Comparison of Mutual Intergroup Differentiation and Common Ingroup Identity Models of Prejudice Reduction". Personality and Social Psychology Bulletin. 26 (2): 242–256. doi:10.1177/0146167200264010. S2CID 145116253.
  20. Hopper, Elizabeth (November 21, 2019). "What Was the Robbers Cave Experiment in Psychology?". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ December 10, 2020.
  21. Aronson, Elliot (1997). The Jigsaw Classroom. New York: Longman. ISBN 978-0-673-99383-0.