พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Oluf หรือ โอลัฟ; ราว ค.ศ. 1050 – 18 สิงหาคม ค.ศ. 1095) ทรงมีพระสมัญญานามว่า โอลาฟ ผู้หิวกระหาย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กในช่วงปี ค.ศ. 1086 ถึง ค.ศ. 1095 หลังจากการสวรรคตของพระเชษฐาคือ พระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก พระองค์เป็นพระราชโอรสนอกสมรสของพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของกษัตริย์สเวนที่ได้ครองราชย์ พระองค์อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิงเงอเกิร์ดแห่งนอร์เวย์ พระราชธิดาในพระเจ้าฮารัลด์ ฮาร์ดราดาแห่งนอร์เวย์ แต่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชโอรส ราชบัลลังก์จึงได้แก่พระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก พระราชอนุชา

พระเจ้าโอลาฟที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
เหรียญที่สลักพระพักตร์ของกษัตริย์โอลาฟที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1086 – 1095[1]
ก่อนหน้าคนุตที่ 4
ถัดไปอีริคที่ 1
ประสูติราว ค.ศ. 1050
สวรรคต18 สิงหาคม ค.ศ. 1095(1095-08-18) (45 ปี)
คู่อภิเษกอิงเงอเกิร์ดแห่งนอร์เวย์
พระนามเต็ม
โอลาฟ สเวนเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาไม่ปรากฎนาม
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระราชประวัติ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าโอลาฟที่ 1
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

เจ้าชายโอลาฟประสูติราวปี ค.ศ. 1050 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์กกับพระสนมไม่ปรากฎนาม[2] ในช่วงรัชกาลของพระเจ้าคนุตที่ 4 แห่งเดนมาร์ก พระเชษฐา เจ้าชายโอลาฟทรงได้เป็นดยุกแห่งชเลสวิช[3] ในปี ค.ศ. 1085 เจ้าชายโอลาฟทรงจัดตั้งเลดัง เพื่อโจมตีอังกฤษ กษัตริย์คนุตทรงถ่วงเวลาและพระองค์ไม่สามารถร่วมเป็นผู้นำการเรดังได้ ในขณะที่กองเรือไวกิงเริ่มเบื่อหน่ายท่าทีรีรอของพระองค์ เจ้าชายโอลาฟจึงทรงรับหน้าที่นี้แทนเพื่อคลายความกังวลของเหล่าทหาร กษัตริย์คนุตทรงกลับเกรงกลัวว่าเจ้าชายโอลาฟจะไปเข้าพวกกับขุนนาง และเจ้าชายโอลาฟเองทรงขุ่นข้องพระทัยในความทะเยอทะยานทางราชวงศ์ของกษัตริย์คนุต และเจ้าชายทรงมองพระโอรสของกษัตริย์คนุตคือ เจ้าชายคาร์ล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานอา เป็นคู่แข่งทางอำนาจคนสำคัญ[4] กษัตริย์คนุตทรงตำหนิเจ้าชายโอลาฟ ว่าทรงก่อปัญหา พระองค์จึงให้เจ้าชายอีริค พระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งซึ่งต่อมาคือ กษัตริย์อีริคที่ 1[3] ดำเนินการล่ามโซ่ตรวนเจ้าชายโอลาฟ และทรงเนรเทศเจ้าชายโอลาฟไปยังแฟลนเดอส์ภายใต้การควบคุมของโรแบร์ที่ 1 เคานท์แห่งแฟลนเดอส์[2]

พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก แก้

กษัตริย์คนุตทรงถูกปลงพระชนม์ที่โบสถ์นักบุญอัลบันในโอเดนเซ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1086 ตามมาด้วยการกบฏในจัตแลนด์เหนือ โอลาฟทรงได้รับการประกาศเป็นพระมหากษัตริย์โดยการประชุมสภาขุนนางที่วีบอร์ก ทั้ง ๆ ที่ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณอยู่ในแฟลนเดอส์ มีการแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างกษัตริย์โอลาฟที่ 1 กับพระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายนีลส์ เพื่อให้กษัตริย์โอลาฟได้เสด็จนิวัติเดนมาร์ก เมื่อกษัตริย์โอลาฟกลับมา เจ้าชายอีริคจึงเสด็จหนีไปยังสคาเนีย[3] กษัตริย์โอลาฟเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของกษัตริย์สเวนที่ได้ครองราชย์[2]

รัชกาลของกษัตริย์โอลาฟที่ 1 ประสบปัญหาพืชผลล้มเหลวและภาวะอดอยากหลายปีติดต่อกัน จากบันทึกประวัติศาสตร์ของอาริลด์ ฮูทเฟลด์ใน "Danmarks Riges Krønike" บรรยายว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฤดูใบไม้ผลิแห้งแล้งมากราวกับถูกไฟไหม้ และในฤดูใบไม้ร่วง ท้องฟ้าก็เปิดและฝนตกลงมาบ่อยจนผู้คนล่องลอยไปพร้อมขอนไม้ เพื่อตัดยอดเมล็ดธัญพืชที่ชูโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ความหิวโหยของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างมากจนพวกเขาต้องขุดดินเพื่อหารากไม้กิน คนที่มั่งมีเริ่มผ่ายผอมลง คนยากคนจนล้มตายเพราะอดอยาก ความป่วยไข้และความอดอยากมาเยี่ยมเยียนผู้คนทั้งบ้านใหญ่และบ้านน้อย ในความพยายามให้กษัตริย์คนุตที่ 4 ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ กษัตริย์โอลาฟทรงได้พระสมัญญานามว่า "ผู้หิวกระหาย" จากความกระหายที่อวดอ้างภาพลักษณ์ของกษัตริย์คนุตที่ 4 ในภาพของความงดงามทางศาสนา[4] ในช่วงนั้นมีการเชื่อกันว่าภาวะทุพภิกขภัยถูกส่งมาโดยพระเจ้าในฐานะเป็นการลงโทษของพระเจ้าสำหรับการมรณสักขีการล่วงเกินทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างกษัตริย์คนุตที่ 4[2] แซ็กโซ แกรมมาติคัส นักพงศาวดาร ได้อธิบายถึง ความหิวโหยว่าเป็นปรากฏการณ์ของชาวเดนมาร์กอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการอธิบายในเวลาภายหลังว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วยุโรปในช่วงปีนั้น[2][3]

กษัตริย์โอลาฟที่ 1 ทรงตัดขาดเดนมาร์กจากการปฏิรูปเกรกอเรียน โดยพระองค์สนับสนุนผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 3 แทน[3] ในช่วงรัชกาลของกษัตริย์โอลาฟ กฎหมายบางส่วนของกษัตริย์คนุตถูกยกเลิก และอำนาจของฝ่ายบาทหลวงและราชวงศ์ลดลง ส่วนอำนาจขุนนางเพิ่มมากขึ้น เมื่อสแกล์ม วีดพยายามขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์โอลาฟให้ทรงช่วยล้างแค้นการตายของพี่ชายของเขาในการทำสงครามกับชาวเวนด์ แต่กษัตริย์โอลาฟกลับไม่สามารถรวบรวมกำลังพลเพื่อช่วยเขาได้[3] ขุนนางเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในงานของศาสนจักรมากขึ้น และขุนนางชาวจัตแลนด์อย่าง อัสเชอร์ ทอร์คิลสัน ได้เป็นอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ จากการแต่งตั้งจากกษัตริย์โอลาฟในปี ค.ศ. 1089[2]

สวรรคต แก้

กษัตริย์โอลาฟเสด็จสวรรคตในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1095 อย่างเป็นปริศนา บางคนคาดว่าพระองค์อาจจะทรงก่ออัตวินิบาตกรรม หรืออาจจะทรงสังเวยตัวพระองค์เองเพื่อพสกนิกรผู้โชคร้ายของพระองค์ แซ็กโซ แกรมมาติคัสเขียนว่า พระองค์ "เต็มพระทัยที่จะสูญเสียดินแดนแห่งความโชคร้าย และทรงขอประทานอภัย (ในความผิด) ที่วนเวียนอยู่ในพระเศียรของพระองค์ พระองค์จึงสังเวยพระชนม์ชีพตนเองเพื่อุทิศแก่เพื่อนร่วมชาติของพระองค์"[5] มีการสันนิษฐานว่า พระบรมศพของพระองค์ถูกตัดแบ่งไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของเดนมาร์ก ในฐานะที่ทรงเป็นแพะรับบาป ซึ่งทรงตั้งพระทัยที่จะชำระล้างบาปเลือดของเดนมาร์กและพยายามฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาพเดิม[6] พระอนุชาของพระองค์ได้ครองราชย์ต่อเป็น พระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

อ้างอิง แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Olaf I of Denmark

ก่อนหน้า พระเจ้าโอลาฟที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าคนุตที่ 4    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1086 - ค.ศ. 1095)
  พระเจ้าอีริคที่ 1
พระอิสริยยศใหม่    
เอิร์ลแห่งจัตแลนด์ใต้
(ค.ศ. 1080 - ค.ศ. 1095)
  ว่าง
ตำแหน่งถัดไป
เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด