พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 (สเปน: Fernando III) หรือ นักบุญ (สเปน: el Santo; ค.ศ. 1199/1201 – 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1252) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัสติยาตั้งแต่ ค.ศ. 1217, พระมหากษัตริย์แห่งเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1230 และพระมหากษัตริย์แห่งกาลิเซียตั้งแต่ ค.ศ. 1231[1] เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนกับเบเรงเกลาแห่งกัสติยา การอภิเษกสมรสครั้งที่สองทำให้พระองค์กลายเป็นเคานต์แห่งโอมาล พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 คือหนึ่งในกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของกัสติยา ไม่เพียงแค่รักษาความเป็นหนึ่งเดียวของราชบัลลังก์กัสติยาและเลออนไว้ได้ แต่ยังเป็นผู้วางแผนการในการสู้รบเรกองกิสตาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3
จุลจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 13
ของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งกัสติยาและโตเลโด
ครองราชย์31 สิงหาคม 1217 – 30 พฤษภาคม 1252
ก่อนหน้าพระราชินีเบเรงเกลา
ถัดไปพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10
พระมหากษัตริย์แห่งเลออนและกาลิเซีย
ครองราชย์24 กันยายน 1230 (พฤตินัย) หรือ 11 ธันวาคม 1230 (นิตินัย) – 30 พฤษภาคม 1252
ก่อนหน้าพระราชินีซันชา และ ดุลเซ
ถัดไปพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10
พระราชสมภพค.ศ. 1199/1201
อารามบัลปาราอิโซ, เปเลอัสเดอาร์ริบา, ราชอาณาจักรเลออน
สวรรคต30 พฤษภาคม ค.ศ. 1252 (50–53 พรรษา)
เซบิยา, ราชบัลลังก์กัสติยา
ฝังพระศพอาสนวิหารเซบิยา, เซบิยา, ประเทศสเปน
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
ดูรายพระนาม...
ราชวงศ์กัสติยาแห่งบูร์กอญ
พระราชบิดาพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน
พระราชมารดาเบเรงเกลาแห่งกัสติยา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ต้นชีวิต แก้

พระเจ้าเฟร์นันโดพระราชสมภพที่อารามบัลปาราอิโซ (เปเลอัสเดอาร์ริบา ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดซาโมรา) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนกับสมเด็จพระราชินีเบเรงเกลาแห่งกัสติยา พระมเหสีพระองค์ที่สอง จึงทำให้เฟร์นันโดสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7จากทั้งสองทาง โดยมีพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2เป็นพระอัยกาทางฝั่งพระบิดา และพระเจ้าซันโซที่ 3เป็นพระปัยกาจากทางฝั่งพระมารดา ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นพระโอรสและผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 บรรพบุรุษคนอื่น ๆ ของเฟร์นันโดที่เป็นเชื้อพระวงศ์คืออูร์รากาแห่งโปรตุเกส ซึ่งเป็นพระอัยกีทางฝั่งพระบิดา และเอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระปัยกีทางฝั่งพระมารดาซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2กับพระราชินีเอเลนอร์แห่งอากีแตน[2]

นับตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจนถึงปี ค.ศ. 1204 เจ้าชายเฟร์นันโดได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทในราชอาณาจักรเลออนของพระราชบิดา โดยมีพระราชมารดาและราชอาณาจักรกัสติยาคอยให้การสนับสนุน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพระราชโอรสคนที่สองของพระเจ้าอัลฟอนโซซึ่งมีพระราชโอรสหนึ่งพระองค์กับพระธิดาสองคนมาก่อนแล้วจากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเตเรซาแห่งโปรตุเกส แต่ในตอนนั้นพระองค์ไม่ยอมรับพระราชโอรสพระองค์โต (ซึ่งชื่อเฟร์นันโดเช่นกัน) เป็นทายาท ทว่าชาวกัสติยามองว่าเจ้าชายเฟร์นันโดพระองค์พี่เป็นคู่แข่งคนสำคัญที่เป็นภัยต่อพระโอรสของพระราชินีเบเรงเกลา

การอภิเษกสมรสของพระราชบิดามารดาของเจ้าชายเฟร์นันโดถูกประกาศให้เป็นโมฆะตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ในปี ค.ศ. 1204 เนื่องจากเป็นการร่วมประเวณีกันระหว่างญาติใกล้ชิด สมเด็จพระราชินีเบเรงเกลาจึงพาพระราชโอรสธิดา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าชายเฟร์นันโด กลับไปที่ราชสำนักของพระราชบิดา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8[3] ในปี ค.ศ. 1217 พระเจ้าเอนริเกที่ 1 พระอนุชาของพระนางสิ้นพระชนม์ พระนางได้สืบทอดบัลลังก์กัสติยาต่อโดมีเจ้าชายเฟร์นันโดเป็นรัชทายาท แต่ทรงยกบัลลังก์ให้พระราชโอรสอย่างรวดเร็ว

การรวมกันเป็นหนึ่งของกัสติยาและเลออน แก้

 
ตราแรกของกัสติยาและเลออนที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่พระเจ้าเฟร์นันโดใช้

เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระบิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซสวรรคตในปี ค.ศ. 1230 ตามพินัยกรรมทรงยกราชอาณาจักรให้ซันชาและดุลเซ สองพระธิดาคนโตจากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเตเรซาแห่งโปรตุเกส แต่เจ้าชายเฟร์นันโดไม่เชื่อฟังพินัยกรรมดังกล่าวและอ้างสิทธิ์ในการสืบทอดเป็นของตนเอง ท้ายที่สุดก็มีการทำข้อตกลงกัน การเจรจาเริ่มต้นขึ้นระหว่างพระมารดาของทั้งสาม คือ เบเรงเกลากับเตเรซา และได้รับการลงนามที่เบนาเบนเตในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1230 ระบุว่าพระเจ้าเฟร์นันโดจะได้รับราชอาณาจักรเลออน แลกกับการจ่ายค่าชดเชยก้อนโตเป็นเงินสดและที่ดินให้กับซันชาและดุลเซ พระเชษฐภคินีต่างมารดา เฟร์นันโดจึงกลายเป็นคนแรกที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักร ต่อจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ในปี ค.ศ. 1157[4]

ช่วงแรกของการครองราชย์ พระเจ้าเฟร์นันโดต้องรับมือกับการก่อกบฏของตระกูลลารา

การพิชิตอัลอันดะลุส แก้

นับตั้งแต่สมรภูมิลัสนาบัสเดโตโลซาในปี ค.ศ. 1212 ได้ทำให้การรุกคืบในสเปนของกลุ่มอัลโมฮัดหยุดชะงัก การทำสนธิสัญญาพักรบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กัสติยากับกลุ่มอัลโมฮัดที่ครองความเป็นใหญ่ในอัลอันดะลุสอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทว่าวิกฤตการสืบทอดตำแหน่งในรัฐกาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดหลังการเสียชีวิตของยูซุฟที่ 2 ในปี ค.ศ. 1224 เปิดช่องให้พระเจ้าเฟร์นันโดได้เข้าไปแทรกแซง อับดัลเลาะห์ อัลอะดิล ผู้อ้างสิทธิ์ฝั่งอัลอันดะลุส ส่งเรือบรรทุกกำลังพลและอาวุธของกลุ่มอัลโมฮัดล่องเรือข้ามช่องแคบไปโมร็อกโกเพื่อท้าชิงการสืบทอดตำแหน่งกับคู่แข่งซึ่งอยู่ที่นั่น ทำให้อัลอันดะลุสไร้การป้องกัน อัลดัลเลาะห์ อัลบัยยะซี ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นกบฏของอัลอะดิล (กลุ่มแบซัน) ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารต่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เพื่อมาต่อกรกับผู้แย่งชิงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1225 กองทัพกัสติยาร่วมทำสงครามกับอัลบัยยะซี ปล้นทำลายแคว้นแฆน, เบกาเดกรานาดา และก่อนถึงสิ้นปีอัลบัยยะซีก็ได้รับการแต่งตั้งให้ครองตำแหน่งในกอร์โดบา เพื่อเป็นการตอบแทน อัลบัยยะซีมอบฐานที่มั่นชายแดนซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ บัญโญสเดลาเอ็นซินา, ซัลบาเตียร์รา และกาปียาให้พระเจ้าอัลฟอนโซ เมื่ออัลบัยยะซีถูกต่อต้านและสังหารโดยประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาก่อจราจลในกอร์โดบาหลังจากนั้นไม่นาน ชาวกัสติยาก็ยังคงครองดินแดนของอัลบัยยะซีในอัลดูฆาร์, บาเอซา และมาร์โตส

ทว่าวิกฤตในรัฐการหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ในปี ค.ศ. 1228 อับดัลลา อิดิสที่ 1 อัลมะมุน ผู้แสดงตนชาวอัลโมฮัดคนใหม่ตัดสินใจทิ้งสเปนไปหาเศษเสี้ยวสุดท้ายของกองกำลังอัลโมฮัดในโมรอกโก อัลอันดะลุสที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ถูกทิ้งให้อยู่ในมือของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น มูฮัมมัด อิบน์ ยูซุฟ อิบน์ ฮัด อัลยูดามี เมื่อเห็นโอกาส เหล่ากษัตริย์ชาวคริสต์จากทางเหนือ ได้แก่ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา, พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน, พระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งอารากอน และพระเจ้าซังชูที่ 2 แห่งโปรตุเกส จึงรีบลงมือทำการรุกรานอัลดาลุสอย่างต่อเนื่องตลอดแทบทั้งปี กองกำลังอัลอันอาลุสชั่วคราวของอิบน์ ฮัดถูกทำลายอย่างรวดเร็วระหว่างกำลังพยายามหยุดยั้งชาวเลออนที่อาลังเกในปี ค.ศ. 1230 กองทัพคริสเตียนโลดแล่นลงใต้โดยปราศจากการต่อต้าน แต่ละเมืองของอัลอันดะลุสถูกทิ้งให้ต้านทานหรือเจรจาขอยกธงขาวด้วยตัวเอง

ตลอดยี่สิบปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1228 ถึง ค.ศ. 1248 มีการรุกคืบครั้งใหญ่ในการทำเรกองกิสตา ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1248 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 พิชิตเซบิยา นครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอัลอันดะลุส รัฐอะมีรกรานาดายังคงรอดพ้นจากการถูกพิชิต

พระเจ้าเฟร์นันโดผนวกดินแดนที่พิชิตมาได้ส่วนหนึ่งเข้ากับราชบัลลังก์กัสติยาโดยตรง อีกส่วนหนึ่งทรงวางโครงสร้างให้เป็นรัฐบริวารภายใต้การปกครองดูแลของข้าหลวงชาวมุสลิม แม้ว่าสุดท้ายจะถูดยึดครองอย่างถาวรและถูกผนวกเข้ากับกัสติยาก่อนสิ้นศตวรรษ

การสวรรคต แก้

 
รูปปั้นแกะสลักของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 โดยโฆอากิน บิลบาโอ มาร์ติเนซ ในอนุสรณ์สถานซึ่งตั้งอยู่ในปลาซานูเอบา ("จัตุรัสใหม่") ของเซบิยา สร้างขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1920

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เริ่มต้นการครองราชย์ด้วยตำแหน่งกษัตริย์แห่งกัสติยา ในตอนที่ทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1252 พระองค์ได้ยกราชอาณาจักรซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลอย่างมากให้กับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรสและทายาท อาณาเขตใหม่ของรัฐกัสตาที่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้สร้างขึ้นมาจะคงอยู่ไปจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยแทบไม่เปลี่ยนแปลง

ร่างของพระเจ้าเฟร์นันโดถูกฝังในอาสนวิหารเซบิยาโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรส สุสานของพระองค์จารึกด้วยสี่ภาษา คือ ภาษาอาหรับ, ภาษาฮีบรู, ภาษาละติน และภาษากัสติยายุคแรก[5] ทรงได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญในชื่อนักบุญเฟร์นันโดโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ในปี ค.ศ. 1671[6]

ครอบครัว แก้

การอภิเษกสมรสครั้งแรก แก้

 
พระเจ้าเฟร์นันโดกับพระมเหสี อลิซาเบธ ในอาสนวิหารบูร์โกส

ในปี ค.ศ. 1219 พระเจ้าเฟร์นันโดอภิเษกสมรสกับเอลีซาเบ็ทแห่งโฮเอินชเตาเฟิน พระธิดาของกษัตริย์เยอรมัน พระเจ้าฟิลิปป์ที่ 3 แห่งสวาเบีย กับอีรีเนอ แองเจลินา ในสเปนเอลีซาเบ็ทถูกเรียกว่าเบียทริซ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันคือ

  1. พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา ทายาทของพระองค์
  2. ฟาดริเก
  3. เฟร์นันโด (ค.ศ. 1225–1243/1248)
  4. เอเลนอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1227) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  5. เบเรงเกลา (ค.ศ. 1228–1288/89) แม่ชีที่ลัสอูเอลกัส
  6. เอนริเก
  7. เฟลิเป (ค.ศ. 1231–1274) ปฏิญาณตนต่อศาสนจักร แต่ถูกพรากตัวไปโดยความงามของคริสตินาแห่งนอร์เวย์ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าสาวของหนึ่งในพี่น้องชายของพระองค์ จึงทรงทิ้งคำปฏิญาณศักดิ์สิทธิ์ไปแต่งงานกับเธอ เธอเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1262 โดยไร้ซึ่งทายาท
  8. ซันโช อาร์ชบิชอปแห่งโตเลโดและเซบิยา (ค.ศ. 1233–1261)
  9. มานูเอลแห่งกัสติยา
  10. มาเรีย สิ้นพระชนม์ในวัยทารกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1235

การอภิเษกสมรสครั้งที่สอง แก้

หลังเป็นม่าย ทรงอภิเษกสมรสใหม่กับฌาน เคาน์เตสแห่งปงตีเยอ ก่อนเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1237 ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันสี่คนกับพระธิดาหนึ่งคน คือ

  1. เฟร์นันโด (ค.ศ. 1239–1260) เคานต์แห่งโอมาล
  2. เลโอนอร์ (ค.ศ. 1241–1290) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน 16 คน หนึ่งในนั้นคืออนาคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ และพระมหากษัตริย์อังกฤษทุกคนถัดจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เป็นลูกหลานของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3
  3. ลูอิส (ค.ศ. 1243–1269)
  4. ซิมง (ค.ศ. 1244) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็กและถูกฝังในอารามในโตเลโด
  5. ฆวน (ค.ศ. 1245) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็กและถูกฝังในอาสนวิหารกอร์โดบา

อ้างอิง แก้

  1. Janna Bianchini (2012), The Queen's Hand: Power and Authority in the Reign of Berenguela of Castile, University of Pennsylvania Press, ISBN 9780812206265
  2. Shadis, Miriam (2010). Berenguela of Castile (1180–1246) and Political Women in the High Middle Ages. Palgrave Macmillan.ISBN 978-0-312-23473-7, p. xix.
  3. Shadis, Miriam (2010). Berenguela of Castile (1180–1246) and Political Women in the High Middle Ages. Palgrave Macmillan.ISBN 978-0-312-23473-7, p. 70.
  4. Shadis, Miriam (2010). Berenguela of Castile (1180–1246) and Political Women in the High Middle Ages. Palgrave Macmillan.ISBN 978-0-312-23473-7, p. 348.
  5. Menocal, 47.
  6. Bernard F. Reilly, The Medieval Spains, (Cambridge University Press, 1993), 133.