ฌานแห่งดามาร์แต็ง
ฌานแห่งดามาร์แต็ง (ฝรั่งเศส: Jeanne de Dammartin) เป็นธิดาขุนนางฝรั่งเศส ทรงเป็นเคาน์เตสแห่งปงตีเยอและโอมาลตามสิทธิ์ของตนเอง, เป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยาและเลออนจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา และเป็นพระราชมารดาของเลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ หลังพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ พระนางขัดแย้งกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา พระโอรสเลี้ยง เรื่องดินแดนและรายได้ที่พระนางควรได้รับในฐานะพระราชินีม่าย ต่อมาทรงเดินทางกลับปงตีเยอและสมรสกับฌ็อง เดอ แนล
ฌานแห่งดามาร์แต็ง | |
---|---|
เคาน์เตสแห่งปงตีเยอ พระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยา | |
ประสูติ | ค.ศ. 1220 (โดยสันนิษฐาน) |
สิ้นพระชนม์ | 16 มีนาคม ค.ศ. 1279 |
พระสวามี | พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา ฌ็อง เดอ แนล ลอร์ดแห่งแฟลวีและอีเรล |
พระราชบุตร | เอเลเนอร์แห่งคาสตีล และอื่น ๆ |
พระบิดา | ซีมงแห่งดามาร์แต็ง |
พระมารดา | มารีแห่งปงตีเยอ |
ชาติกำเนิด
แก้สันนิษฐานกันว่าฌานน่าจะประสูติในราวปี ค.ศ. 1220[1] ในรัชสมัยของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส โดยฌานมีศักดิ์เป็นธิดาของพระภาคิไนยของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 เนื่องจากอาลิกซ์ พระอัยกีฝั่งมารดาของฌานเป็นพี่น้องต่างมารดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2
บิดาของฌานคือซีมง เดอ ดามาร์แต็ง เคานต์แห่งโอมาลซึ่งมีอายุราว 40 ปีในตอนที่ฌานซึ่งเป็นธิดาคนแรกเกิด ซีมงอยู่คนฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าฟีลิปที่ 2 และต่อสู้กับกษัตริย์ฝรั่งเศสในสมรภูมิบูวีนในปี ค.ศ. 1214 แม้ว่าเขาจะสมรสกับมารี มารดาของฌานซึ่งเป็นพระภาคิไนยของพระเจ้าฟีลิป มารีเป็นบุตรที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียวของกีโยม ตาลวา เคานต์แห่งปงตีเยอกับอาลิกซ์ พระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสกับกอนส์ตันซาแห่งกัสติยาและเป็นพระเชษฐภคินีต่างมารดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 พระเจ้าฟีลิปคาดหวังให้การสมรสของอาลิกซ์กับกีโยมไม่มีบุตรเพื่อที่เคาน์ตีปงตีเยอจะได้ตกเป็นของราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ทว่ามารีกลับรอดชีวิต แต่เมื่อบิดาของเธอถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1221 พระเจ้าฟีลิปกลับยกมรดกที่ควรเป็นของเธอให้แก่รอแบร์ เคานต์แห่งเดรอซ์ ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ มารีได้ทำข้อตกลงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 พระโอรสของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 ในปี ค.ศ. 1225 ซีมง สามีของมารีถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1239 และมารีได้ครองตำแหน่งเป็นเคาน์เตสในปี ค.ศ. 1251
ฌานมีน้องสาวสามคน คือ อากัต, ฟีลีปา และมารี สี่พี่น้องมีชีวิตอยู่จนถึงวัยแต่งงาน ตามวิถีปฏิบัติแบบฝรั่งเศสดินแดนมรดกปงตีเยอและโอมาลจะตกเป็นของบุตรคนโต ฌานซึ่งเป็นพี่สาวคนโตจะได้สิทธิ์ในการครอบครองดินแดนมรดกทั้งหมด
สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา
แก้ในปี ค.ศ. 1234/35 ฌานตกเป็นที่หมายตาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งได้ส่งราชทูตมายังปงตีเยอเพื่อขอพระนางสมรส การเจรจาตกลงเรื่องการสมรสตำเนินไปจนถึงขั้นที่พระเจ้าเฮนรีเขียนจดหมายถึงซีมงเพื่อขอให้ส่งตัวฌานมาอังกฤษก่อนเทศกาลเพนเทคอสต์หรือวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1235 แม้ปงตีเยอจะไม่ใช่ดินแดนที่กว้างใหญ่หรือร่ำรวยเป็นพิเศษ แต่มีพรมแดนติดกับแฟลนเดอส์และดัชชีนอร์ม็องดีที่พระเจ้าจอห์น พระราชบิดาของพระเจ้าเฮนรีเสียให้แก่พระเจ้าฟีลิปในปี ค.ศ. 1204 เคาน์ตีจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และจะเป็นฐานที่มั่นอันดีเยี่ยมของอังกฤษในการสู้รบเพื่อเอานอร์ม็องดีกลับคืนมา บลังกาแห่งกัสติยา พระสุณิสาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 พระนัดดาของพระเจ้าฟีลิปตระหนักได้ถึงภัยคุกคามจากซีมง เดอ ดามาร์แต็ง หากธิดาของเขาได้สมรสกับกษัตริย์แห่งอังกฤษ
แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 3 กลับเลือกที่จะสมรสกับอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ น้องสาวของมาร์การิดาแห่งพรอว็องส์ พระมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 บลังกาแห่งกัสติยาจึงร่วมมือกับพระราชินีม่ายเบเรงเกลา พระเชษฐภคินีของพระนางจัดการสมรสแบบคลุมถุงชนระหว่างฌานกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาและเลออน พระโอรสของพระราชินีม่ายเบเรงเกลา โดยฌานกับพระเจ้าเฟร์นันโดเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สองซึ่งอยู่ห่างกันหนึ่งขั้น ทั้งคู่มีบรรพบุรุษร่วมกันคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งกัสติยา (พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 - กอนส์ตันซาแห่งกัสติยา - อาลิกซ์แห่งฝรั่งเศส - มารีแห่งปงตีเยอ - ฌานแห่งปงตีเยอ; พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 - พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน - พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน - พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3) การสมรสของทั้งคู่จะต้องได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาได้ผ่อนผันให้ทั้งคู่สมรสกันได้ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1237
การสมรสของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 กับฌานน่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1237 ที่นครบูร์โกส โดยตามสัญญาการสมรสเคาน์ตีปงตีเยอจะยังคงเป็นของฝรั่งเศส ฌานอาจมีพระชนมายุ 17 พรรษา (หรือไม่ก็ 20 พรรษา) ส่วนพระเจ้าเฟร์นันโดมีพระชนมายุมากกว่าพระองค์ 20 ปี และมีพระราชบุตรอยู่แล้ว 8 คน เป็นพระโอรส 7 คนกับพระธิดา 1 คน ซึ่งเกิดจากการสมรสครั้งแรกกับเบอาทริคส์ (เอลิซาเบธ) แห่งชวาเบิน อัลฟอนโซ พระโอรสคนโตของพระเจ้าเฟร์นันโดอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันกับฌาน พระองค์กับพี่น้องชายอีกหกคนทำให้โอกาสที่พระโอรสของฌานจะได้ขึ้นครองบัลลังก์กัสติยานั้นแสนริบหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสียเปรียบในการสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดแทนที่จะเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งไม่เคยมีพระมเหสีและพระราชบุตรมาก่อน ทว่าทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่มีความสุข ฌานประทับใจในความองอาจทางทหารของพระสวามี เมืองแล้วเมืองเล่าของอัลอันดะลุสถูกพระองค์ตีจนแตกพ่ายในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1230–1240 กอร์โดบาถูกยึดในปีก่อนที่ทั้งคู่จะสมรสกัน นิเอบลาและอูเอลบาแตกพ่ายต่อพระเจ้าเฟร์นันโดในปีต่อมา ตามด้วยเอซิฆาในปี ค.ศ. 1240 และอื่น ๆ อีกมากมาย ในปี ค.ศ. 1244 พระเจ้าเฟร์นันโดย้ายไปปักหลักอยู่ทางตอนใต้ของสเปนซึ่งจะทำให้สานต่อปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มอัลโมฮัดได้ดีกว่า ฌานได้ติดตามพระองค์ไปด้วย สันนิษฐานกันว่าพระราชบุตรวัยเยาว์ของทั้งคู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเลโอนอร์ อนาคตพระราชินีแห่งอังกฤษ พำนักอยู่กับทั้งคู่ด้วย
ฌานมีพระโอรสธิดาจากการสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาและเลออน ดังนี้
- เฟร์นันโด เดอ ปงตีเยอ (ประสูติ ค.ศ. 1238) เคานต์แห่งโอมาลและบารอนเดอ มงโกเมอรี สิ้นพระชนม์ในฝรั่งเศส
- เลโอนอร์ เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1241) พระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ และพระมารดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
- ลุยส์ เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1243) ลอร์แห่งมาร์เชนาและและลอร์ดแห่งซูเอโรส
- ซิมอน เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1244) สิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์
- ฆวน เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1246) สิ้นพระชนม์ตอนคลอด
พระราชินีม่ายแห่งกัสติยา
แก้ฌานตกพุ่มม่ายในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1252 ซึ่งพระนางน่าจะอยู่ในวัยสามสิบต้นๆ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาแห่งเลออน กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่สิ้นพระชนม์ในเมืองเซบิยาซึ่งพระองค์ยึดคืนมาจากกลุ่มอัลโมฮัด พระราชินีฌานอยู่ที่เตียงสิ้นพระชนม์ของพระสวามี โฆเฟร เด โลอายซา นักประวัติศาสตร์ในราชสำนักซึ่งอยู่ในตอนที่พระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์เล่าว่ากษัตริย์ถูกฝังในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน "เบื้องหน้าแท่นบูชาของโบสถ์ซันตามารีอาในเซบิยา" และ "ต่อหน้าพระราชบุตรทุกคนของพระองค์ยกเว้นอาร์ชบิชอปแห่งโตเลโด [ดอนซันโช]"[2] ซึ่งพระราชบุตรที่ว่าอาจรวมถึงเลโอนอร์ อนาคตพระราชินีแห่งอังกฤษซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 10 พรรษา ผู้สืบทอดตำแหน่งเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้าเฟร์นันโดคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรสเลี้ยงวัย 30 พรรษาของฌานที่สมรสกับบิโอลันเตแห่งอารากอน พระธิดาวัย 15 พรรษาของพระเจ้าไชเมที่ 1 "เอลกองกิสตาดอร์" (บิโอลันเตเป็นพระเชษฐภคินีของอีซาเบลแห่งอารากอนซึ่งสมรสกับพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศสและเป็นพระอัยกีฝั่งบิดาของอีซาแบลแห่งฝรั่งเศส พระราชินีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2)
ตามอัตชีวประวัติของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 กษัตริย์คนใหม่เคารพพระมารดาเลี้ยงมาก แต่ทั้งคู่น่าจะมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและเฉยเมยต่อกันมากกว่า พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้ยกดินแดนเด่น ๆ มากมายให้แก่ "ดอญญาฆัวนา" พระราชินีของพระองค์ เช่น กอร์โดบา, การ์โมนา, มาร์เชนา, ลูเก และทรัพย์สินที่ดินกับอาณาเขตอื่น ๆ ในมณฑลกอร์โดบา, ฆาเอน และอาร์โฆนา หลังพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ ฌานทำข้อตกลงกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระองค์เหลือมาร์เชนาเพียงแห่งเดียว[3]
กลับสู่ปงตีเยอ
แก้พระราชินีฌานกลับปงตีเยอบ้านเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1254 พระองค์กับดอนเฟร์นันโด พระราชบุตรคนโตที่มีพระชนมายุ 15 พรรษาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษในช่วงที่เดินทางผ่านอาณาเขตของกัสกอญ เฟร์นันโดถูกเรียกว่าเฟร์นันโดแห่งปงตีเยอแทนที่จะเป็นเฟร์นันโดแห่งกัสติยา สันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่พระองค์เป็นทายาทในเคาน์ตีดังกล่าว ในดินแดนของพระนางเองที่ผู้คนพูดภาษาที่พระนางพูดฌานอาจมีชีวิตที่สะดวกสบายกว่าเมื่อครั้งอยู่ในกัสติยาซึ่งปกครองโดยพระโอรสเลี้ยง เลโอนอร์ พระธิดาของพระนางสมรสกับลอร์ดเอ็ดเวิร์ด พระโอรสและทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งเป็นอดีตคู่หมั้นของฌานในบูร์โกสเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 ดอนลุยส์ พระโอรสคนเล็กยังคงอยู่ในกัสติยาและเริ่มเป็นสักขีพยานในกฎบัตรของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ผู้เป็นพระเชษฐาต่างมารดาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1255[4] สุดท้ายลุยส์สมรสกับฆัวนา โกเมซ เด มันซาเนโด เลดีแห่งกาตอน ธิดาขุนนางกัสติยา ขณะที่ดอนเฟร์นันโด พระเชษฐาคนโตเชื่อมสัมพันธไมตรีกับทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษด้วยการสมรสกับลอร์ เด มงฟอร์ ธิดาขุนนางฝรั่งเศสซึ่งเป็นหลานสาว (ลูกของพี่น้อง) ของซีมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ พระขนิษฐภรรดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ลุยส์สิ้นพระชนม์ก่อนปี ค.ศ. 1279 ส่วนเฟร์นันโดถูกสังหารก่อนปี ค.ศ. 1264 ราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1260 ฌานได้สมรสกับฌ็อง เดอ แนล ลอร์ดแห่งแฟลวีและอีเรล สามีคนที่สองที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นข้าราชบริพารของพระนางเอง
เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 พระชามาดาและพระราชินีเลโอนอร์ พระธิดาของพระนางเดินทางจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับอังกฤษในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1274 ทั้งคู่แวะมาพักกับฌานในปงตีเยอและทิ้งโจนแห่งเอเคอร์ พระธิดาวัย 2 พรรษาซึ่งถูกตั้งชื่อตามฌานไว้กับพระนาง พระนัดดาและพระอัยกีอยู่ด้วยกันจนกระทั่งพระราชินีฌานสิ้นพระชนม์ นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าฌานแห่งเอเคอร์ "อาจถูกตามใจโดยพระอัยกีผู้แสนตามใจ"[5]
ฌาน เคาน์เตสแห่งปงตีเยอและโอมาล พระราชินีม่ายแห่งกัสติยาและเลออน และพระมารดาของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1279 ด้วยวัยเกือบ 60 พรรษาที่เมืองแอบเบอวีล ฌ็อง เดอ แนล สามีม่ายของพระนางมีชีวิตอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1292 (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีอายุน้อยกว่าพระนาง) พระราชินีฌานพระชนมายุยืนกว่าพระโอรสของพระองค์ทั้งสี่คน คือ เฟร์นันโด, ลุยส์, ฆวน และซิมอน ฌ็อง เดอ ปงตีเยอ หลานชายของฌานสืบทอดโอมาลต่อจากพระนาง ขณะที่เคานต์ตีปงตีเยอของพระนางตกเป็นของพระราชินีเลโอนอร์ผู้เป็นพระธิดา
อ้างอิง
แก้- Joan of Ponthieu, Queen of Castile and Leon, Countess of Ponthieu and Aumale
- Jeanne de Dammartin: Findagrave
- ↑ Douglas Richardson, Kimball G. Everingham, Plantagenet Ancestry: A Study in Colonial and Medieval Families, page 192
- ↑ H. Salvador Martínez, trans. by Odile Cisneros, Alfonso X, the Learned (2010), p. 97.
- ↑ Ibid., pp. 41, 111, 112.
- ↑ Parsons, 'Year of Eleanor of Castile's Birth', p. 247.
- ↑ Ibid., pp. 31, 40.