พระสิงคาลมาตาเถรี

พระสิงคาลมาตาเถรี เป็นหนึ่งในภิกษุณีรูปสำคัญในสมัยพุทธกาล ได้รับการยกย่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา กล่าวคือ พระเถรีเพ่งพุทธานุสสติด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์

ประวัติ แก้

ประวัติเกี่ยวกับชาติกำเนิดและอดีตชาติของพระสิงคาลมาตาเถรี มีปรากฏอยู่ในสิงคาลกสูตร และ "สิงคาลมาตาเถริยาปทานที่ ๔" ว่าด้วยบุพจริยาของพระสิงคาลมาตาเถรี โดยพระเถรี ได้เล่าเท้าความว่า

" ... ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวงเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้นดิฉันเกิดในสกุลอำมาตย์ที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ เป็นตระกูลมั่งคั่ง เจริญ มีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี ดิฉันมีมหาชนเป็นบริวารไปกับบิดา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย ละวจีทุจริตชำระอาชีวะบริสุทธิ์ มีความเลื่อมใสเพราะเคารพมากในพระพุทธเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์ ขวนขวายในการฟังธรรม มีความเห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ในครั้งนั้น ดิฉันได้ฟังภิกษุณีองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุติ จึงปรากฏตำแหน่งนั้นแล้วได้บำเพ็ญไตรสิกขา ครั้งนั้น พระสุคตเจ้าผู้มีพระอัธยาศัยประกอบด้วยกรุณา ตรัสกะดิฉันว่าบุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะรักใคร่สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นหมัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม ดิฉันได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ ได้ทูลถามถึงความปรารถนาดีของดิฉัน ครั้งนั้นพระสุคตเจ้าผู้นำชั้นพิเศษผู้มีปัญญาไม่ทราม มีพระคุณนับไม่ถ้วน ทรงพยากรณ์ว่าท่านเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมงาม จักได้ตำแหน่งนั้นที่ท่านปรารถนาดีแล้ว ... " [1]

ครั้นถึงกัปนี้ในยุคพุทธกาล พระสิงคาลมาตาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ ได้แต่งงานกับชายหนุ่มผู้มีชาติตระกูลและทรัพย์เสมอกัน อยู่ครองเรือนจนมีบุตรหนึ่งคน บรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อบุตรชายของนางว่า “สิงคาลกุมาร” (หรือ สิงคาลกคฤหบดีบุตร ปรากฏเรื่องในสิงคาลกสูตร) ด้วยเหตุนี้ ชนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า “สิงคาลมาตา” แปลว่า "แม่ของสิงคาล" สิงคาลกุมารครั้นเติบใหญ่ก็ไหว้ทิศทั้ง ๖ เป็นประจำวันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จออกจากพระวิหารเวฬุวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกุมารไหว้ทิศทั้ง ๖ พระองค์จึงตรัสถามถึงเหตุผล สิงคาลกุมารกราบทูลว่าไหว้ทิศตามบิดา ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นทางพ้นทุกข์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมให้แก่เขา สิงคาลมาตาได้สดับพระธรรมเทศนาด้วย "ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วออกบวชเป็นภิกษุณี" เมื่ออุปสมบทแล้วได้แลเห็นพระพุทธองค์เสมอ เกิดความชื่นชมใน "พระรูปเป็นที่เพลินตา เป็นพระรูปที่เกิดแต่พระบารมีทั้งปวง เป็นดังว่าเรือนหลวงที่ประกอบด้วยสิริมีพระลักษณะงามทั่วไป" ท่านจึงใช้ความชื่นชมในพระรูปนั้นเจริญพุทธานุสสติ ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล [2]

คุณวิเศษ แก้

ด้วยความที่ท่านเจริญพุทธานุสสติจนบรรลุวิมุติธรรม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสถาปนา พระสิงคาลมาตาเถรี ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่ายศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา อีกทั้งยัง "มีความชำนาญในฤทธิ์ มีความชำนาญในทิพโสตธาตุมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว " [3]

ทั้งนี้ พระสิงคาลมาตาเถรี เป็นที่เคารพบูชาในฐานะพระเถรีองค์สำคัญอย่างน้อย 31 รูปที่มีคุณวิเศษ เป็นเอตทัคคะด้านต่างๆ ในสมัยพุทธกาล ในยุคต่อมาเมื่อมีการรจนาคาถาอาราธนาคุณพระรัตนตรัย ก็ยังปรากฏนามและคุณวิเศษของพระเถรี สำหรับสวดประกาศให้เกิดสวัสดิมลคล เช่นในพระคาถาอุปปาตะสันติ ซึ่งแต่งในอาณาจักรล้านนา บทที่ ๑๘๔ ความว่า

คำบาลี

สิงคาละมาตา ภิกขุนี สัทธาธิมุตตานะมุตตะมา

กะโรตุ โน มะหาสันติง อาโรคฺยัญจะ สุขัง สะทา [4]

แปลไทย

ขอพระสิงคาลมาตาภิกษุณี ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้น้อมไปด้วยศรัทธา

จงประทานความสงบอันยิ่งใหญ่ สุขภาพที่ดี และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดไป [5]

นอกจากนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังพร้อมแผ่นศิลาจารึกด้านทิศใต้ของวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ เป็นเรื่องพระสิงคาลมาตาเนื้อความใกล้เคียงกับที่ปรากฏในสิงคาลมาตาเถริยาปทานเพียงแต่ย่อให้สั้นกว่ามาก [6]

อ้างอิง แก้

  1. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๗๗ - ๖๗๙
  2. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๗๙ - ๖๘๐
  3. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๘๑
  4. บทสวดอุปปาตสันติ หน้า ๔๕
  5. บทสวดอุปปาตสันติ หน้า ๔๖
  6. จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ แผ่นที่ ๑๒

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑
  • บทสวดอุปปาตสันติ (๒๕๕๒) พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
  • จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ แผ่นที่ ๑๒ (พระกีสาโคตมี) และ ๑๓ (พระสิงคาลมาตา) ใน http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=3240[ลิงก์เสีย]