พระรัตนสัมภวพุทธะ
พระรัตนสัมภวพุทธะ (สันสกฤต: रत्नसंभव; ญี่ปุ่น: 宝生如来; โรมาจิ: Hōshō Nyorai; จีน: 寳生如來; พินอิน: Baosheng Rulai) เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ พระนามหมายถึงพระผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งสิ่งมีค่าทั้งมวล ประทับอยู่ทางทิศใต้ของพุทธมณฑล พระกายสีเหลืองทอง เป็นต้นตระกูลพระโพธิสัตว์ตระกูลรัตนะ ซึ่งเปรียบได้กับปัญญาอันประเสริฐ เป็นสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย สัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ จินดามณี หมายถึงการเข้าถึงความรู้แจ้ง มโนวิญญาณธาตุและจิตตรัสรู้ ทรงม้าเป็นพาหนะ
พระรัตนสัมภวพุทธะ | |
---|---|
พระรัตนสัมภวพุทธะ ศิลปะญี่ปุ่น | |
สันสกฤต | รตฺนสมฺภว |
จีน | 南方宝生部主宝生佛 |
ญี่ปุ่น | 宝生如来 Hōshō Nyorai |
มองโกเลีย | ᠡᠷᠳᠡᠨᠢ ᠭᠠᠷᠬᠣ ᠢᠢᠨ ᠣᠷᠣᠨ Эрдэнэ гарахын орон Erdeni garkhu yin oron |
ไทย | รัตนสัมภวะ |
ทิเบต | རིན་ཆེན་འབྱུང་གནས Rinchen Jung ne |
ข้อมูล | |
นับถือใน | วัชรยาน มหายาน |
พระลักษณะ | ความเท่าเทียม |
ศักติ | นางมามะกี(Mamaki) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ความเชื่อ
แก้พระองค์เป็นประมุขของรัตนโคตร ซึ่งแสดงความอุดมสมบูรณ์ รูปลักษณ์ที่อยู่เดี่ยวๆของพระองค์หายาก มักจะรวมอยู่กับพระธยานิพุทธะองค์อื่นๆ ประทับอยู่ทางทิศใต้ของพุทธมณฑล ทรงเป็นตัวแทนปัญญาญาณแบบเท่าเทียม คือมองเห็นผู้อื่นเท่าเทียมกับตน คัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตกล่าวว่าพระองค์จะปรากฏกายในวันที่สามของบาร์โด พร้อมด้วยแสงสีเหลือง พระโพธิสัตว์ที่ปรากฏพร้อมกับพระองค์คือ พระอากาศครรภ์โพธิสัตว์และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์[1]
รูปลักษณ์
แก้ท่าทาง
แก้ภาพของพระองค์มักมีกายสีเหลืองทอง พระหัตถ์ทำท่าทานมุทรา คือพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาอยู่ในท่าทำสมาธิ พระหัตถ์ขวาเหยียดลง แบพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วชี้จดนิ้วโป้ง
พาหนะ
แก้พาหนะของพระองค์คือม้าบิน ซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณมักเป็นตัวแทนของแสงสว่างเพราะเป็นพาหนะของพระอาทิตย์ ส่วนชาวพุทธมหายาน จะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโชคและความสง่างาม
สัญลักษณ์
แก้สัญลักษณ์ของพระองค์คือจินดามณี ซึ่งอาจหมายถึงได้ทั้งพระรัตนตรัยและจิตที่หลุดพ้นแล้ว
เสียง
แก้เสียงประจำพระองค์คือ ตรัม ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากศูนย์ลมที่สะดือ จึงเป็นการสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชีวิต การเปลี่ยนถ่ายเวทนาขันธ์และความผูกพันระหว่างแม่กับลูก
อ้างอิง
แก้- ↑ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช. คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต แปลโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2536
- ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พระพุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม : ศูนย์ไทยทิเบต, 2538.
- สุมาลี มหณรงค์ชัย. พระชินพุทธะทั้งห้า. กทม : ศูนย์ไทยทิเบต, 2547.