พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง)

พระยาพิชัยไอศวรรย์ ชื่อว่า หยาง จิ้นจง[1][2] (楊進宗 พินอิน: Yáng Jìnzōng) เป็นขุนนางและแม่ทัพผู้มีบทบาทในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินในสมัยกรุงธนบุรี

พระยาพิชัยไอศวรรย์
(หยาง จิ้นจง)
เสนาบดีพระคลัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2314 - 2319
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก่อนหน้าพระยาพิพิธ (เฉิน เหลียน)
ถัดไปเจ้าพระยาพระคลังชาวมุสลิม[1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิตพ.ศ. 2319

หยาง จิ้นจง เป็นพ่อค้าชาวจีนเดินเรือค้าขายระหว่างจีนและสยาม[1] ปรากฏครั้งแรกเป็นผู้นำคณะทูตบรรณาการจากสยามอยุธยาไปยังจีนราชวงศ์ชิง ซึ่งเดินทางถึงกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2309[2] แต่ไม่สามารถเดินทางกลับสยามได้เนื่องจากกรุงศรีอยุธยากำลังถูกพม่าล้อมไว้อยู่ ในพ.ศ. 2310 หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หยางจิ้นจงได้ให้การแก่ราชสำนักจีนว่า หากราชสำนักจีนต้องการติดต่อกับทางสยาม แนะนำให้ติดต่อผ่านทางผู่หลาน (普蘭 พินอิน: Pǔ Lánเจ้าขรัวหลาน) เจ้าเมืองจันทบุรี หรือผ่านทางม่อซื่อหลินเจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียน[2] เป็นเหตุให้ราชสำนักจีนส่งข้าหลวงมาสืบเหตุการณ์เกี่ยวกับสยามที่เมืองบันทายมาศ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2310 หยางจิ้นจงเดินทางมากับข้าหลวงราชสำนักจีนชื่อว่าสู่ฉวน (許全) เดินทางโดยเรือไปยังเมืองห่าเตียน แต่ทว่าเรือเจอพายุทำให้พลัดออกนอกเส้นทางไปจอดที่เมืองนครศรีธรรมราชแทน[1] สู่ฉวนข้าหลวงของจีนล้มป่วยถึงแก่กรรมที่นครศรีธรรมราช[2]

หยางจิ้นจงเข้ารับราชการที่กรุงธนบุรีประมาณพ.ศ. 2311[1] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2314 สงครามสยาม-เวียดนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ โดยมีพระยาพิพิธ (เฉิน เหลียน) ผู้ว่าที่โกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ และมีพระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) เป็นทัพหน้า เทียบกับเอกสารจีนซึ่งระบุว่า เจิ้นสินยกทัพตีเมืองห่าเตียนมีเฉินเหลียนเป็นแม่ทัพเรือและมีหยางจิ้นจงเป็นทัพหน้า[2] พระยาพิชัยไอศวรรย์มีกองเรือกำลังพลจำนวน 1,686 คน[3] ซึ่งเป็นกองเรือฝ่ายสยามที่มีกำลังพลมากที่สุดในสงครามครั้งนั้น[1] มีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์แต่งสาส์นไปเจรจาเกลี่ยกล่อมหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศ หลังจากที่ฝ่ายธนบุรียึดได้เมืองบันทายมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการมอบหมายให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ก่อกำแพงพระนครธนบุรี[3] ในพ.ศ. 2314 เมื่อทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธผู้ว่าราชการที่โกษาธิบดีเป็นพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศคนใหม่แล้ว โปรดฯให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) มาว่าที่โกษาธิบดีแทนที่[1]

สงครามบางแก้ว พ.ศ. 2317 ทัพพม่าจากด่านเจดีย์สามองค์ยกเข้ามาถึงบ้านภูมิแขวงเมืองนครไชยศรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) ผู้ว่าที่โกษาธิบดี ยกทัพจำนวน 1,000 คน ไปตีพม่าที่นครไชยศรี[4]

พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) ซึ่งดำรงตำแหน่งว่าที่พระคลัง ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณช่วงปลายปีพ.ศ. 2319[1] ในปีต่อมาพ.ศ. 2320 มีหมายรับสั่งพระราชโองการพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าหลานเธอเจ้าเสง พระยาสุโขทัย (พระเชียงเงิน) และพระยาพิชัยไอศวรรย์ ที่วัดบางยี่เรือ ในเดือนสิบสอง โปรดฯให้ทำตามอย่างงานพระศพของกรมขุนอินทรพิทักษ์และเจ้านราสุริยวงศ์[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2004). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.11. Matichon Public Company Limited. p. 248. ISBN 9789743230561.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  3. 3.0 3.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖: จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร และจุลยุทธการวงศ์
  4. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  5. พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ