พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย)

พระยาทุกขราษฎร์ ชื่อเดิมในขณะบรรพชา พระมหาช่วย[1] เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดพัทลุง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน สงครามเก้าทัพ

ประวัติ แก้

พระยาทุกขราษฎร์ เดิมชื่อ ช่วย เป็นต้นตระกูล "สัจจะบุตร" และ "ศรีสัจจัง" เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนบุตร 3 คนของขุนศรีสัจจัง เกิดที่บ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง สำหรับวันเดือนปีเกิดไม่ปรากฎหลักฐานแต่ประการใด แต่สันนิษฐานว่าคงเกิดในราว พ.ศ. 2282 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 - 2301) เมื่ออายุได้ 13 ปี บิดามารดาได้นำฝากเรียนหนังสือกับท่านสมภารวัดควนปรง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ด้วยนิสัยรักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาแต่เด็ก จึงได้บรรพชาในปีนั้น และเข้าศึกษาภาษาไทยขั้นอ่านเขียน และพระธรรมวินัยตามแบบฉบับค่านิยม

เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดเขาอ้อ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านไสยศาสตร์ เป็นที่นิยมของชาวเมืองต่างส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่วัดนี้เป็นประจำ เชื่อกันว่าพระมหาช่วยได้ศึกษาด้านไสยศาสตร์กับพระอาจารย์จอมทอง ที่วัดเขาอ้อ ความสามารถที่ปรากฏเมื่อเป็นสามเณร เล่าสืบกันมาว่า สามเณรช่วยสามารถสอบบาลีผ่านได้เป็น “พระมหา” ตั้งแต่เป็นสามเณร ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักตามหัวเมือง ในขณะที่จำพรรษาที่จัดเขาอ้อ ท่านได้ศึกษาวิชาไสยศาสตร์อย่างจริงจัง สามารถปฏิบัติได้จนเป็นที่ยอมรับของพระอาจารย์และบรรดาศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ที่พอเสนอรายชื่อเท่าที่ทราบดังนี้

  • หลวงพ่อศรีธรรม์ วัดนาท่าม อำเภอเมืองตรัง
  • ท่านสมภารบัวชาติ (ทราบว่าอยู่จังหวัดชุมพร)
  • ท่านสมภารบัวราม วัดโดนคลาน ปัจจุบันยังคงมีอัฐิของท่านเก็บรักษาไว้ทางด้านทิศเหนือพระอุโบสถ ยังเป็นที่เคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏเป็นที่ทราบกันทั่วไปของชาวบ้านปันแต

ประมาณปี พ.ศ. 2315 เมืองพัทลุงย้ายที่ตั้งเมืองจากเขาชัยบุรีไปตั้งใหม่ที่บ้านโคกลุง ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เป็นเจ้าเมือง ท่านผู้นี้เดิมนับถือศาสนาอิสลาม แต่ต่อมาได้เปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธ ในช่วงนั้นพระมหาช่วยได้รับนิมนต์มาเป็นสมภารที่วัดป่าลิไลยก์ ประมาณว่าท่านอายุได้ประมาณ 33 ปี และวัดนี้เป็นสำนักสอนภาษาบาลี บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือด้านไสยศาสตร์ก็มาฝากเนื้อฝากตัวมากมายเช่นเดิม จนปรากฏชื่อแพร่หลายควบคู่ทั้งบาลีและไสยศาสตร์ ความสัมพันธ์ด้านส่วนตัวของเจ้าเมืองพัทลุงคงจะสนิทสนมมากขึ้นเพราะเป็นวัดใกล้จวนเจ้าเมือง

เป็นพระอธิการอยู่ที่วัดป่าลิไลย ตำบลลำปำ มีชีวิตอยูในสมัยรัชกาลที่ 1 จากพงศาวดารไทยรบพม่า กองทัพพม่าลงไปรวมกันอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเกงหวุ่นแมงยีประสงค์จะไปตีเมืองพัทลุง และเมืองสงขลาต่อไปที่เมืองพัทลุง พระยาแก้วโกรพ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองรู้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่ข้าศึกก็หลบหนีเอาตัวรอด

ครั้งนั้นมีพระภิกษุองค์หนึ่งเป็นอธิการอยูในวัดเมืองพัทลุง ชื่อพระมหาช่วย พวกชาวเมืองนับถือว่าเป็นผู้มีวิชาอาคม พระมหาช่วยชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ข้าศึก รักษาเมือง ทำตะกรุดและผ้าประเจียดมงคลแจกจ่ายเป็นอันมาก กรมการและพวกนายบ้านจึงพาราษฎรมาสมัครเป็นศิษย์พระมหาช่วยมากขึ้นทุกที จนรวบรวมกันได้สัก 1,000 เศษ หาเครื่องศาสตราวุธได้ครบมือกันแล้ว ก็เชิญพระมหาช่วยผู้อาจารย์ขึ้นคานหามยกเป็นกระบวนทัพมาจากเมืองพัทลุง แล้วเลือกหาชัยภูมิที่ตั้งค่ายสกัดอยู่ในทางที่พม่าจะยกลงไปเมืองนครศรีธรรมราช

ฝ่ายพม่ายังไม่ยกลงไปจากเมืองพัทลุง ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพยกลงไปจากทางข้างเหนือ เกงหวุ่นแมงยี แม่ทัพพม่าจึงให้เนยโยคงนะรัดนายทัพหน้า คุมพลยกกลับขึ้นมาตีกองทัพกรุงฯ เกงหวุ่นแมงยียกตามมาข้างหลัง กองทัพพม่ามาปะทะทัพไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา พม่ายังไม่ทันตั้งค่าย ไทยก็ยกเข้าล้อมพม่าไว้

เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้วพระมหาช่วยสมัครลาสิกขาบทออกรับราชการ ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ตำแหน่งในกรมการเมืองพัทลุง

ถนนช่วยทุกขราษฏร์ แก้

ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน ตั้งอยู่ระหว่าง ถนนคูหาสวรรค์ กับ ถนนไชยบุรี เป็นที่ตั้งของสำนักงานบังคับคดี จังหวัดพัทลุง

อนุสาวรีย์ แก้

ทางจังหวัดพัทลุงและเทศบาลเมืองพัทลุง ได้ดำริจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ขึ้น เป็นประติมากรรมลอยตัวทองเหลืองรมดำ ขนาดเท่าครึ่ง มีประติมากรรมนูนต่ำ 2 ชิ้น ดำเนินการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ บริเวณสามแยกท่ามิหรำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ก่อสร้างด้วยเงินบริจาคและงบประมาณสนับสนุนของจังหวัดพัทลุง

อ้างอิง แก้

  1. เครือข่ายข้อมูลกาญจนาภิเษก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี | http://kanchanapisek.or.th/kp8/ptl/ptl203.html เก็บถาวร 2016-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน