พระนางน้อยอ่อนสอ

พระนางน้อยอ่อนสอ (ลาว : ພະນາງນ້ອຍອ່ອນສໍ)เป็นพระธิดาในพระยาสามผยาเชื้อสายเชียงใหม่ เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าสามแสนไทไตรภูวนาถ พระมหากษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 2 มีพระราชโอรสพระนามว่า พระเจ้าคำเต็มช้า (พญาจิกคำ) พระมหากษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 5[1][2]

ปรากฏพระนามในเอกสาร แก้

พระนามของพระองค์ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ฝ่ายล้านนาทั้งพื้นเมืองเชียงแสนและพื้นเมืองน่าน ตอนที่พระเจ้าฟ้างุ้มยกทัพไปตีที่อาณาจักรล้านนาและสิบสองพันนา ดังนี้ หลังสถาปนาเมืองสี่หมื่นทางน้ำและเมืองสี่หมื่นทางบกทรงเสด็จตรวจพลที่สบท่าได้พลลาว 400,000 ยาย (เย้า) และแกว 100,000 ช้าง 500 จึงเสด็จไปเอาเมืองหินและเมืองงาว (อำเภองาว จังหวัดลำปาง) ยกพลตั้งที่คอนมูล (ดอนมูน) ของล้านนา เจ้าเมืองล้านนาคือพระยาสามผยารวมพล 400,000 เอาเมืองเชียงแสนมาขึ้นล้านนาให้เสนาชื่อแสนเมืองถือพลสู้รบ พระเจ้าฟ้างุ้มทรงขี่ช้างนามเชียงทองว่ายข้ามน้ำกกเข้ารบ ขวากิมชนช้างชนะแสนเมืองจึงฆ่าตายกับคอช้าง พระยาสามผยาพ่ายหนีเข้าเวียงล้านนาเชียงฮาย (เชียงราย) ทรงไล่ตามถึงเมืองแพว เมืองเลม เมืองไฮ บ้านยู เมืองยอง หัวพวง หัวฝาย จนถึงเมืองลื้อ เมืองเขิน และเมืองเชียงแข็งในสิบสองพันนาและอาณาจักรมาวหลวง (รัฐฉาน เมียนมา) พระยาสามผยาเกรงเดชานุภาพยอมอ่อนน้อมแล้วโปรดฯ ให้หมื่นกุมกาม (เจ้าเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่) หมื่นชูน หมื่นกางเมืองเชียงฮายขอส่งส่วยข้าวพันคานสัญญาว่า "...เมื่อใดลูกผู้ข้านางน้อยอ่อนสอยังใหญ่ได้ 16 ปีจักให้เมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าชะแด บัดนี้ยังน้อยขอแก่เจ้าฟ้าเอาแต่เวียงผาใดไปให้เป็นบ้านเมืองเจ้าฟ้าข้อยท่อน..." พระยาสามผยาถวายเขตแดนแก่ล้านช้างแล้วแต่งคำมาถวาย 20,000 เงิน 200,000 พร้อมแหวนนิลลูกหนึ่งชื่อยอดเชียงแสน แก้วพิฑูรย์ลูกหนึ่งชื่อยอดเชียงฮาย แหวนแดงลูกหนึ่งชื่อมณีฟ้าหลวง (ฟ้าล่วง) ถวายแก่พระเจ้าฟ้างุ้ม และแต่งเงินคำจำนวนมากให้แก่เสนาผู้ใหญ่ของพระองค์ทุกคน[3]

อ้างอิง แก้

  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ. (17 กรกฎาคม 2565). หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘พระนางยอดคำทิพย์’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ. มติชนออนไลน์, https://www.matichonweekly.com/column/article_577992
  2. เพ็ญสุภา สุขคตะ. (31 กรกฎาคม 2565). หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘นางยอดคำ’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (จบ). มติชนออนไลน์, https://www.matichonweekly.com/column/article_582951
  3. สรัสวดี อ๋องสกุล. (2558). ประวัติศาสตร์ล้านนา (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ 11. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.