พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ส่วนหน้าของเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นตำหนักประธานในเขตพระราชฐานชั้นใน

พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ด้านหน้า พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทตำหนัก
ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ไทย
เป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐานชั้นใน
เลขอ้างอิง0005574

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และพระราชโอรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ แต่เดิมมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประทับร่วมของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอย่างใหญ่โต รโหฐานที่สุดในเขตพระราชฐาน แต่เนื่องจากการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารและ การทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี จึงทำให้พระตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาแต่เพียงพระองค์เดียว ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีก็ทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ หรือ "ที่บน" ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง

ลักษณะของพระตำหนัก

แก้

ลักษณะพระตำหนักเป็นแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค (Neo classic) เป็นพระตำหนักเดี่ยวขนาดใหญ่มีสามชั้น ภายนอกมีการแต่งเซาะร่องปูนฉาบผนังเล็กน้อย มีลานกว้างทั้งด้านหน้าและหลัง ซุ้มพระทวารทำด้วยเหล็กหล่อ ตอนบนประดิษฐานตราจุลมงกุฎ ๓ ชั้น (ตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร) เป็นอาคารที่ไม่มีลายปูนปั้นประดับอย่างวิจิตรพิสดารเหมือนในอาคารอื่น ๆ สมัยเดียวกัน ตัวอาคารเน้นในเรื่องสัดส่วนและความสูงของหน้าต่างที่ทำให้พระตำหนักแลดูสง่างามและโดดเด่น ชั้นล่างของพระตำหนักเป็นที่เก็บของ และที่อยู่ของคุณข้าหลวง ชั้น ๒ เป็นที่ประทับ มีห้องสำคัญคือ ห้องเสด็จออกรับแขก ซึ่งมีการประดับประดาด้วยลายปูนปั้นปิดทองทั้งบริเวณฝ้าและเพดาน การตกแต่งภายในของห้องต่าง ๆ ในชั้นนี้ถือว่าโดดเด่นกว่าตำหนักอื่น ๆ ในเขตพระราชฐาน กล่าวคือ มีการการใช้ตู้ไม้เพื่อกั้นห้อง ชั้น ๓ เป็นห้องบรรทม และมีห้องพระซึ่งแยกไว้ต่างหาก นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนของตำหนักมีบันไดแยกกัน มีตำหนักฝาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′55″N 100°29′29″E / 13.7486603°N 100.4914176°E / 13.7486603; 100.4914176