พรรคมูร์บา (Murba Party; ภาษาอินโดนีเซีย: Partai Murba) เป็นพรรคการเมืองในอินโดนีเซีย คำว่ามูร์บาย่อมาจาก Musjawarah Ra'jat Banjak หมายถึง คอมมิวนิสต์แห่งชาติ[1][2] พรรคการเมืองนี้ตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนตัน มะละกา ใน พ.ศ. 2491 ความเป็นมาของพรรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงแรก ความสัมพันธ์ของทั้งสองพรรคเป็นไปด้วยดี แต่ต่อมาได้กลายเป็นศัตรูกัน พรรคนี้ยังคงอยู่ในยุคระเบียบใหม่ก่อนจะรวมเข้ากับพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2516

การก่อตั้ง แก้

ใน พ.ศ. 2491 ได้เกิดสุญญากาศทางการเมืองสำหรับผู้นิยมฝ่ายซ้ายในชวา ผู้สนับสนุนตัน มะละกาได้มารวมตัวกันในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 โดยส่วนที่เหลืออยู่ 3 ส่วนหลักของของขบวนการปฏิวัติประชาชนที่นำโดยตัน มะละกา ได้แก่ พรรคประชาชน พรรคคนจน และพรรคแรงงานอิสระแห่งอินโดนีเซียได้ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่คือพรรคมูร์บา การรวมพรรคเสร็จสิ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ในช่วงแรกของการก่อตั้ง พรรคนี้มีสมาชิก 80,000 คน ขบวนการปฏิวัติประชาชนยังคงอยู่และแยกเป็นองค์กรต่างหาก

แม้ว่าตัน มะละกามีอิทธิพลต่อพรรคมาก แต่เขาไม่เคยเป็นผู้นำพรรค ในช่วงเวลาที่รวมตัวกัน หัวหน้าพรรคคือซูการ์นี เลขาธิการทั่วไปคือ ชามซู ฮาร์ยา อูดายา รองหัวหน้าพรรคคือมารูโต นีตีมีฮาร์โจ พรรคมูร์บาตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับคือมูร์บาและมัสซา[3] ต่อมามีหน่วยกองโจรที่เกี่ยวข้องกับพรรค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการปกครองของดัทช์ในชวากลางและชวาตะวันตก[4] ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2494 พรรคนี้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย แต่ไม่นานก็กลายเป็นแนวร่วมที่ไม่มีการทำงานใดๆ ในปีถัดมา ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกับพรรคมูร์บาดีขึ้น หน่วยกองโจรของพรรคมีบทบาทมากในชวาตะวันตก[5] ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 พรรคสนับสนุนให้เปิดความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต[6] ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 พรรคมูร์บาได้คะแนน 0.53% และได้ 2 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร[7] ส่วนในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคได้ 0.66% และได้ 4 ที่นั่ง[8]

ประชาธิปไตยแบบชี้นำ แก้

เมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนนำประชาธิปไตยแบบชี้นำมาใช้ใน พ.ศ. 2500 พรรคมูร์บาเป็นพรรคแรกที่ประกาศสนับสนุน[9]และเป็น 1 ใน 10 พรรคที่ถูกกฎหมายในช่วงดังกล่าว พรรคมูร์บาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากซูการ์โนและมีส่วนทำให้เขาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ระหว่างเหตุการณ์กบฏของรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2501 นายทหารของพรรคมูร์บาถูกจับกุมโดยกลุ่มกบฏ และเขายึดค่ายของพรรคในสุมาตราตะวันตก[10]

ในเหตุการณ์วิกฤติจรวดคิวบาใน พ.ศ. 2505 พรรคมูร์บาออกแถลงการณ์สนับสนุนคิวบา[11] ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต พรรคมูร์บาสนับสนุนสหภาพโซเวียต ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียสนับสนุนจีน

ความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย แก้

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2507 พรรคมูร์บาเสนอให้ใช้ระบบพรรคการเมืองเดียวในอินโดนีเซียและมีแผนจะกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พรรคแห่งชาติอินโดนีเซีย และพรรคนะห์ดาตุล อูลามาปฏิเสธข้อเสนอนี้ และซูการ์โนก็ไม่เห็นด้วย หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ออกมาโจมตีพรรคมูร์บาหนักขึ้น

การสลายตัว แก้

ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2508 รัฐบาลประกาศคว่ำบาตรกิจกรรมทางการเมืองของพรรคมูร์บา ผู้นำพรรคถูกจับกุม ในเวลาเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียโจมตีพรรคมูร์บาหนักขึ้น หนังสือมพิมพ์ที่สนับสนุนพรรคมูร์บาถูกปิด

ภายใต้ยุคระเบียบใหม่ แก้

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2508 – 2509 พรรคมูร์บายังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่มีอิทธิพลน้อยลง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 อาดัม มาลิกได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของซูฮาร์โต[12]

ในสมัยซูฮาร์โต พรรคการเมืองที่เหลือจากระบอบเก่าถูกกดดันให้รวมตัวกันเหลือเพียง 2 พรรค พรรคหนึ่งเป็นพรรคอิสลาม อีกพรรคเป็นพรรคฆราวาส พรรคมูร์บาเข้าร่วมกับพรรคฆราวาส และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 ได้จัดตั้งกลุ่มพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยพรรคมูร์บา พรรคแห่งชาติอินโดนีเซีย สันนิบาตผู้สนับสนุนอินโดนีเซียเอกราช พรรคคาทอลิกและพรรคคริสเตียนอินโดนีเซีย[13]

พรรคมูร์บาเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2514 ได้คะแนนเสียงเพียง 0.1% และไม่ได้ที่นั่ง[14] ต่อมา ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2516 พรรคมูร์บาและพรรคอื่นๆในกลุ่มพัฒนาประชาธิปไตยได้รวมตัวกันกลายเป็นพรรคประชาธิปไตยอินโดเซีย[15]

อ้างอิง แก้

  1. Feith, Herbert. The Wilopo Cabinet, 1952–1953: A Turning Point in Post-Revolutionary Indonesia. Ithaca, N.Y.: Modern Indonesia Project, Southeast Asia Program, Dept. of Far Eastern Studies, Cornell University, 1958. p. 52
  2. Crouch, Harold A. The Army and Politics in Indonesia. Politics and international relations of Southeast Asia. Ithaca, N.Y.: Cornell University Press, 1978. pp. 64–66
  3. Kahin, George McTurnan. Nationalism and Revolution in Indonesia. Studies on Southeast Asia, 35. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program, 2003. p. 318
  4. Feith, Herbert. The Wilopo Cabinet, 1952–1953: A Turning Point in Post-Revolutionary Indonesia. Ithaca, N.Y.: Modern Indonesia Project, Southeast Asia Program, Dept. of Far Eastern Studies, Cornell University, 1958. p. 20
  5. Feith, Herbert. The Wilopo Cabinet, 1952–1953: A Turning Point in Post-Revolutionary Indonesia. Ithaca, N.Y.: Modern Indonesia Project, Southeast Asia Program, Dept. of Far Eastern Studies, Cornell University, 1958. pp. 21, 102–103
  6. Feith, Herbert. The Wilopo Cabinet, 1952–1953: A Turning Point in Post-Revolutionary Indonesia. Ithaca, N.Y.: Modern Indonesia Project, Southeast Asia Program, Dept. of Far Eastern Studies, Cornell University, 1958. p. 175
  7. Feith, Herbert. The Decline of Constitutional Democracy in Indonesia. An Equinox classic Indonesia book. Jakarta [u.a.]: Equinox, 2007. pp. 435–436
  8. "Sejarah Pemilu 1955 - Pusat Informasi Partai Politik Indonesia Pemilu". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-11. สืบค้นเมื่อ 2014-09-23.
  9. Feith, Herbert. The Decline of Constitutional Democracy in Indonesia. An Equinox classic Indonesia book. Jakarta [u.a.]: Equinox, 2007. p. 518
  10. Kahin, Audrey, and George McTurnan Kahin. Subversion As Foreign Policy: The Secret Eisenhower and Dulles Debacle in Indonesia. Seattle: University of Washington Press, 1995. p. 147
  11. Mortimer, Rex. Indonesian Communism Under Sukarno: Ideology and Politics, 1959–1965. Jakarta: Equinox Pub, 2006. p. 200
  12. Crouch, Harold A. The Army and Politics in Indonesia. Politics and international relations of Southeast Asia. Ithaca, N.Y.: Cornell University Press, 1978. p. 330
  13. Eklöf, Stefan. Power and Political Culture in Suharto's Indonesia: The Indonesian Democratic Party (PDI) and Decline of the New Order (1986–98). Copenhagen: NIAS, 2003. p. 55
  14. INDONESIA, report from the International Parliamentary Union
  15. Fic, Victor Miroslav. From Majapahit and Sukuh to Megawati Sukarnoputri: Continuity and Change in Pluralism of Religion, Culture and Politics of Indonesia from the XV to the XXI Century. Indonesia: the origin and evolution of its pluralism from the Hindu-Buddhist era, through the Islamic period to a modern secular state / Victor M. Fic, Vol. 2. New Delhi: Abhinav Publ, 2003. p. 174