พจนานุกรมกฎหมาย

พจนานุกรมกฎหมาย (อังกฤษ: law dictionary) เป็นพจนานุกรมประเภทหนึ่งซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้นิยามสำหรับบรรดาคำที่ใช้ในทางกฎหมาย

แถวพจนานุกรมกฎหมายฉบับภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย

พจนานุกรมมีหลายรูปแบบแล้วแต่เกณฑ์การจัด เช่น เกณฑ์ภาษา ได้แก่ พจนานุกรมแบบเอกภาษา (อังกฤษ: monolingual) และแบบทวิภาษา (อังกฤษ: bilingual) เป็นต้น, เกณฑ์ความครอบคลุม ได้แก่ พจนานุกรมแบบครอบจักรวาล (อังกฤษ: single-field dictionary) ซึ่งครอบคลุมสาขาทั้งหมดในทางกฎหมาย ขณะอันซึ่งครอบคลุมบางสาขาจะเรียก พจนานุกรมแบบสาขาย่อย (อังกฤษ: sub-field dictionary), และเกณฑ์การกำหนดศัพท์ ได้แก่ แบบขั้นสูง (อังกฤษ: maximizing dictionary) คือที่กำหนดศัพท์ครอบคลุมทุกสาขาของกฎหมาย และแบบขั้นต่ำ (อังกฤษ: minimizing dictionary) เป็นต้น

แซนโดร นีลเซน (อังกฤษ: Sandro Nielsen) ว่าใน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ว่า พจนานุกรมกฎหมายสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลายแขนง ทั้งช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในบทบัญญัติที่ตนต้องการทำความเข้าใจด้วย เรียกว่าเป็นประโยชน์ในทางสื่อสาร (อังกฤษ: communicative benefit) และช่วยให้ผู้อ่านได้รับสารประโยชน์และความรู้ทางกฎหมายตามแต่ความสนใจ เรียกว่าเป็นประโยชน์ในทางเรียนรู้ (อังกฤษ: cognitive benefit) ซึ่งประโยชน์เหล่านี้มักปรากฏในพจนานุกรมกฎหมายแบบเอกภาษามากกว่า ขณะที่แบบทวิภาษานั้นมักประกอบด้วยคำศัพท์หรือคำอธิบายศัพท์ในสองภาษา อันจะช่วยยังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในภาษาต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายของต่างประเทศ ตลอดจนช่วยในการแปลกฎหมายจากภาษาหนึ่งเป็นภาษาหนึ่งด้วย

อนึ่ง ตำราศัพทวิทยาทางกฎหมาย (อังกฤษ: legal terminology textbook) จะต่างจากพจนานุกรมกฎหมายซึ่งมีการเรียงคำศัพท์และให้คำอธิบายศัพท์ตามลำดับอักษร ตรงที่ตำราศัพทวิทยาจะลำดับศัพท์ตามหมวดหมู่หรือหัวเรื่องเป็นต้น ซึ่งผู้สนใจในคำศัพท์กฎหมายในหมวดหมู่หนึ่ง ๆ มักเปิดตำราศัพทวิทยาทางกฎหมายมากกว่าพจนานุกรมกฎหมาย

สำหรับพจนานุกรมกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย คือ พจนานุกรมกฎหมายของ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) ซึ่งมีคำโฆษณาบนปกว่า "พจนานุกรมกฎหมายเล่มแรกของประเทศไทย บรรจุคำตั้งแต่โบราณกาลถึงปัจจุบันกาล สำหรับความสะดวกในผู้ใคร่ศึกษาและผู้ต้องการทราบ" อย่างไรก็ดี ที่ว่า "ปัจจุบันกาล" บนปกนั้นหมายถึงกาลที่พจนานุกรมพิมพ์ขึ้น คือ พ.ศ. 2474 เท่านั้น แม้ว่าจะได้รับการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองใน พ.ศ. 2549 แต่พจนานุกรมฉบับนี้ยังมิได้รับการปรับปรุงนับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีพจนานุกรมกฎหมายอีกหลายเล่มในภาษาไทยที่มีการปรับปรุงเสมอ เช่น พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ

อ้างอิง แก้

  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742883653.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน หมวดนิติศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 กรกฎาคม 2552).
  • Sandro Nielsen.
    • (1994). The Bilingual LSP Dictionary. Principles and Practice for Legal Language. Gunter Narr Verlag.
    • (2008). "The Effect of Lexicographical Information Costs on Dictionary Making and Use". Lexikos, (18). pp. 170-189.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พจนานุกรมกฎหมายฉบับหลัก ๆ แก้

พจนานุกรมกฎหมายสำหรับดาวน์โหลด แก้

พจนานุกรมกฎหมายแบบออนไลน์ แก้