ผู้ใช้:Poramed.k/ทดลองเขียน

นันทา ขุนภักดี ม.ว.ม., ป.ช.

แก้
 
๒๔๘๖ - ๒๕๖๕ สิริอายุ ๗๙ ปี คู่สมรส ปรเมศวร์ ขุนภักดี บุตรี ฐาปนัจฉร์ ขุนภักดี
นางนันทา ขุนภักดี ข้าราชการผู้รับบำนาญ
แก้
ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร                    เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๖  ณ บ้านบัวหวั่น ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม       เป็นบุตรีของนายนิคม กับ นางหนู (สกุลเดิม ศิลารัตน์) เนียมศรีจันทร์  เป็นบุตรคนโตในพี่น้อง ๗ คน ได้แก่         นางนันทา ขุนภักดี นายนที (ถึงแก่กรรม) นางสาวนันทพร (ถึงแก่กรรม) นางสาวนัยนา นางนวลตา ไกรฤกษ์ นางนุชนาฏ บุญเปรม และ นางนพมาศ แก้วไทรเตี้ย (ประกอบอาชีพรับราชการจนเกษียณอายุราชการทุกคน ยกเว้นคนที่ ๕ นางนวลตา ทำงานธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่)                                                                               ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๒๓ น.         สิริอายุได้ ๗๙ ปี
รองศาสตราจารย์นันทา สมรสกับ นายปรเมศวร์ ขุนภักดี เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑                                 มีบุตรี ๑ คน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐาปนัจฉร์ ขุนภักดี                                                                                       ปฏิบัติราชการ ณ ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การศึกษา                                                                                                                   พ.ศ. ๒๔๙๖ ประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านบางเลน (บางเลนวิทยาคาร) อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม                                            พ.ศ. ๒๔๙๙ มัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม                                                               พ.ศ. ๒๕๐๐ มัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนศิษย์วัฒนา อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี                                                            พ.ศ. ๒๕๐๒ มัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนสตรีบำรุงวิทยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม                                                      พ.ศ. ๒๕๐๔ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นต้น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จังหวัดพระนคร (ทุนกรมการฝึกหัดครู)                                                                            พ.ศ. ๒๕๐๖ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จังหวัดพระนคร                                                           พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม (สนามสอบจังหวัดนครปฐม)                                                                 พ.ศ. ๒๕๑๒ ครุศาสตรบัณฑิต สาขาการสอนภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทุนการศึกษาประเภท ข. องค์การบริหารส่วนจังหวัด)                                                                พ.ศ. ๒๕๑๔ ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาวิชาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทุนการศึกษาประเภท ข. องค์การบริหารส่วนจังหวัด)                                                                พ.ศ. ๒๕๑๕ ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทุนการศึกษาประเภท ข. องค์การบริหารส่วนจังหวัด)                                                                พ.ศ. ๒๕๒๐ ประกาศนียบัตรโรงเรียนสงครามจิตวิทยา กองบัญชาการทหารสูงสุด จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ประวัติการทำงาน

แก้
พ.ศ. ๒๕๐๖ ครูตรี โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม (สอบบรรจุได้ที่ ๑ ของแผนกศึกษาธิการจังหวัด)     พ.ศ. ๒๕๑๕ ครูใหญ่โท โรงเรียนประถมฐานบินกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม                                พ.ศ. ๒๕๑๙ อาจารย์ ระดับ ๕ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร                                  พ.ศ. ๒๕๒๕ อาจารย์ ระดับ ๖                                                                               พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๗                                                                       พ.ศ. ๒๕๓๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๘                                                                       พ.ศ. ๒๕๓๖ รองศาสตราจารย์ ระดับ ๙                                                                         พ.ศ. ๒๕๓๔–๒๕๔๕ กรรมการคณะอักษรศาสตร์ ประเภทผู้แทนคณาจารย์ รวม ๖ สมัย                                      พ.ศ. ๒๕๓๘–๒๕๔๐ กรรมการบริหารและสาราณียกรสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม                                          พ.ศ. ๒๕๔๑–๒๕๔๕ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทคณาจารย์ประจำ รวม ๒ สมัย                                      พ.ศ. ๒๕๔๑–๒๕๔๖ กรรมการบริหารและสาราณียากรสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม                                         พ.ศ. ๒๕๔๖–๒๕๖๕ ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม เป็นต้นมา  ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศิลปากร                                                                              และ กรรมการบริหารและสาราณียากรสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม
 
แต่งเครื่องแบบข้าราชการเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์                                                                                                                                                                                   พ.ศ. ๒๕๑๒ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕ ชื่อเบญจมาภรณ์                                       พ.ศ. ๒๕๑๗ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๔ ชื่อจัตุรถาภรณ์                                        พ.ศ. ๒๕๒๐ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๔ ชื่อจัตุรถาภรณ์                                        พ.ศ. ๒๕๒๒ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๓ ชื่อตริตาภรณ์                                         พ.ศ. ๒๕๒๕ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ชื่อตริตาภรณ์                                         พ.ศ. ๒๕๓๐ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๒ ชื่อทวีติยาภรณ์                                       พ.ศ. ๒๕๓๑ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญจักรพรรดิมาลา                                                  พ.ศ. ๒๕๓๔ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๒ ชื่อทวีติยาภรณ์                                               พ.ศ. ๒๕๓๗ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๑ ชื่อประถมาภรณ์                                       พ.ศ. ๒๕๔๐ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๑ ชื่อประถมาภรณ์                                        พ.ศ. ๒๕๔๕ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นสูงสุด ชื่อมหาวชิรมงกุฎ

ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ (เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย)

แก้
รองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นในทุกทักษะอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน เป็นที่ประจักษ์ในวงการภาษาไทยและในสังคม เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้ภาษาไทย มีความประณีตในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร ทั้งการพูดและการเขียนให้ถูกต้องตามแบบแผนและเหมาะควรกับบุคคลและโอกาส ทั้งยังเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้สืบสาน และผู้อนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อุดมด้วยคลังคำที่หลากหลายให้เลือกใช้ได้อย่างไพเราะและมีวรรณศิลป์ สามารถสื่อความคิดได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ                    
อีกทั้งยังเป็นผู้ตระหนักด้วยว่า ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติ ตลอดจนคำนึงถึงหน้าที่และบทบาทการเป็นครูภาษาไทย จึงทำให้มิได้เพียงแค่ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์เท่านั้น หากยังปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในด้านการใช้ภาษาไทยทั้งการรับและการส่งสาร มุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ภาษาไทย และศิลปะการใช้ภาษาแก่ลูกศิษย์ในชั้นเรียนและสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
ด้วยการผลิตผลงานทางวิชาการในลักษณะต่างๆ ที่มากด้วยปริมาณ และถึงพร้อมด้วยคุณภาพ ตลอดจนรับเป็นวิทยากรฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้สนใจในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการอยู่เสมอ แม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม ผลงานอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ทางภาษาและวรรณกรรมยังประโยชน์ทั้งในแง่การอนุรักษ์ การสืบสาน และการสร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับและมีคุณูปการต่อแวดวงวิชาการเป็นอย่างสูง

ผลงานบางส่วนทางด้านภาษาไทยของรองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี

แก้
 
Nandha รวมภาพหน้าปก-1
 
Nandha รวมภาพหน้าปก-2
ผลงาน คุณค่าของผลงาน


[1] พ.ศ. ๒๕๒๙  พิมพ์ครั้งที่ ๒  หนังสือการพูด เป็นหนังสือเรียนรายวิชาบังคับการใช้ภาษาไทยเกี่ยวกับหลักการพูดในที่ชุมชนของนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์การสอนนานนับ ๑๐ ปี การเรียบเรียงเนื้อเรื่องแต่ละบท ได้แทรกตัวอย่างการพูดแต่ละประเภทไว้ อีกทั้งยังได้บรรจุกิจกรรม การประเมินผล หนังสืออ่านประกอบ และหนังสืออ้างอิงไว้อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียน


เอื้อประโยชน์ให้นักศึกษาหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถเรียนรู้และเข้าใจหลักการพูดได้ง่ายขึ้น โดยเน้นเรื่องจรรยา มารยาท และคุณธรรมในการพูดเป็นสำคัญ อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การพูดให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน

พ.ศ. ๒๕๓๐  พิมพ์ครั้งที่ ๒  รายงานการวิจัยการวิเคราะห์ความเชื่อของชายไทยในสวัสดิรักษา[2] เป็นรายงานการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องสวัสดิรักษาของชายและหญิงไทยในเขตภูมิภาคตะวันตก ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งอยู่โดยได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณค่าเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนเมื่อศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และประธานมูลนิธิพระตำหนักทับขวัญขณะนั้น ได้ตรัสเสนอให้มูลนิธิพระตำหนักทับขวัญเป็นผู้จัดพิมพ์รายงานการวิจัยเรื่องนี้ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ เพราะทรงเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคตะวันตกของไทย อันเป็นเรื่องที่มูลนิธิมีจุดประสงค์ที่จะรวบรวม และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

[3] พ.ศ. ๒๕๓๔  หนังสือภาษาไทยเพื่อกิจกรรมการแสดง เป็นหนังสือแบบเรียนที่บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด กรุงเทพมหานคร เชิญให้เขียนรายวิชาภาษาไทยเพื่อกิจกรรมการแสดง ซึ่งเป็นรายวิชาเลือกของกลุ่มวิชาภาษาไทยตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย


เอื้อประโยชน์เพื่อมุ่งฝึกฝนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาถ้อยคำและภาษาท่าทาง เพื่อแสดงออกในด้านต่างๆ ให้เกิดความชำนาญยิ่งขึ้น


พ.ศ. ๒๕๓๕  หนังสือรัตนชาติปราชญ์สยาม[4] เป็นหนังสือรวบรวมชีวประวัติและผลงานเจ้านายและสามัญชน ผู้มีชื่อเสียงเด่นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วารสารภาษาและหนังสือ วชิราวุธานุสรณ์สาร วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับ ๑๐๐ ปีศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน วารสารสตรีสาร และเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ


ก่อให้เกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมไทย ตระหนักถึงความใฝ่รู้ ความมานะอุตสาหะ และวิจารณญาณของปวงนักปราชญ์สยาม อีกทั้งยังซาบซึ้งยิ่งขึ้นถึงคุณค่าของผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมไทยที่สามารถส่องสะท้อนให้เห็นถึงภาพในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนชี้นำให้เห็นภาพในอนาคตของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า สังคมไทยไม่เคยสิ้นคนดีหรือขาดนักปราชญ์สำคัญคู่ชาติเลย


พ.ศ. ๒๕๓๗  พิมพ์ครั้งที่ ๒  หนังสือของดีร้อยสิ่งมิ่งเมืองไทย[5] เป็นหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับบริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด มอบหมายให้เป็นบรรณาธิการและร้อยกรองประกอบภาพของดีร้อยสิ่งของไทย ที่มุ่งให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย เป็นหนังสือหนึ่งเล่มสำหรับมอบเป็นของที่ระลึกแก่ผู้เกี่ยวข้องและจัดส่งไปตามสถาบันต่างๆ เพื่อเผยแพร่แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องในโอกาสที่บริษัทเอสโซ่ ดำเนินกิจการในประเทศไทยมาครบรอบ ๑๐๐ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งรัฐบาลไทยกำหนดให้ปีนั้นเป็นปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย (Thai Culture Promotion Year)

ของดีดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเมืองไทยที่เป็นทั้งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญา ความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณ ความเชื่อถือศรัทธา ขนบธรรมเนียมประเพณี สุนทรียภาพ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสัญลักษณ์อื่นๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่บรรพชนได้สร้างสรรค์สะสมสืบสานเป็นที่เชิดหน้าชูตามาแต่โบราณสมัย และลูกหลานไทยได้รับผิดชอบดูแลรักษาสงวนไว้ด้วยความเอาใจใส่และภูมิใจสืบมา

ของดีเหล่านั้น ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม หัตถกรรม โภชนาการ ประเพณีการละเล่น สิ่งแวดล้อม  และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีประวัติกล่าวไว้ชัดเจนว่าเป็นของดีจริง ซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป


ถือเป็นของขวัญสำคัญอันล้ำค่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับบริษัทเอสโซ่สร้างสรรค์งานร้อยกรองของไทยขึ้นเพื่อตอบแทนน้ำใจคนไทยทุกคนที่สนับสนุนกิจการของบริษัทเอสโซ่ และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของดีที่เป็นสมบัติวัฒนธรรมของคนไทยให้ชาวโลกได้รู้จักและตระหนักในคุณค่าทั่วกัน อันจะได้ช่วยกันทำนุบำรุงรักษาให้สถาวรสืบไป

เรียบเรียงความรู้สังเขปเกี่ยวกับภาพต่างๆ เป็นร้อยแก้วทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศไว้ในภาคผนวก เพื่ออ่านเพิ่มเติมให้รู้จักของดีเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น จะได้ช่วยให้เข้าใจคุณค่าของมรดกวัฒนรรม และบังเกิดความรักหวงแหนในสมบัติวัฒนธรรมของชาติ

หนังสือของดีร้อยสิ่งมิ่งเมืองไทยจึงนับเป็นอนุสรณ์สำคัญ เป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง และเป็นความสำเร็จของบริษัทเอสโซ่ที่ได้จัดทำขึ้นโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร


พ.ศ. ๒๕๓๙  พิมพ์ครั้งที่ ๓  รายงานการวิจัยเรื่องลักษณะเฉพาะของการอ่านทำนองเสนาะ[6] พร้อมแถบบันทึกเสียง ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะ หลักการเบื้องต้น และศิลปะของการอ่านทำนองเสนาะ ชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกับการอ่านร้อยกรองเป็นทำนองอื่นๆ โดยมุ่งเผยแพร่วิธีการอ่านอันเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้รู้แก่สถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไป ได้นำไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทุนวิจัยให้พิมพ์เผยแพร่ ๒ ครั้ง

ต่อมาศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากรประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ โปรดเสนอให้มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำแถบบันทึกเสียง ประกอบรายงานการวิจัยเรื่องลักษณะเฉพาะของการอ่านทำนองเสนาะ ขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ เผยแพร่ทั่วประเทศ โดยตรัสว่าเป็นงานวิจัยที่ทรงคุณค่าสูง จะยังประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ด้วยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งทางเอกลักษณ์ของชาติ ทางการศึกษาภาษาและวรรณคดี ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากรยินดีสนับสนุนเพื่อพิมพ์บริจาคแก่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเป็นอภินันทนาการ จำนวน ๑,๑๐๐ ชุด เป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)


อำนวยผลดีด้านช่วยสืบต่อและรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมการอ่านทำนองเสนาะของไทยไว้ โดยได้พิมพ์เผยแพร่ด้วยทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ครั้ง รวมทั้งได้บันทึกโน้ตสากลประกอบบทอ่านไว้ด้วย อันจักเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้การอ่านทำนองเสนาะแพร่หลายและมีลักษณะเป็นสากลยิ่งขึ้น


พ.ศ. ๒๕๓๙  หนังสือเสนาะศัพท์สดับทำนองร้อยกรองไทย[7] พร้อมแถบบันทึกเสียง เป็นหนังสือรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการอ่านทำนองร้อยกรองไทย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในมหามงคลโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ และสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยภาษาไทย

ทั้งนี้ได้รับเชิญจากพลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ ประธานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ปรึกษาคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งบันทึกเสียงการอ่านทำนองร้อยกรองแบบต่างๆ ไว้ในแถบบันทึกเสียงด้วย


ส่งเสริมให้การอ่านทำนองร้อยกรองแบบต่างๆ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทย ในอันที่จะร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมทางภาษาไทยในระดับสูงให้ดำรงคงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ยั่งยืนสืบไป


พ.ศ. ๒๕๔๔  หนังสือคิดถึงท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[8] พร้อมแถบบันทึกเสียงและแผ่นซีดี เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูคนดีด้วยความปรารถนาดีและความคิดถึงคือศาสตราจารย์พิเศษหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร บุคคลตัวอย่างที่ควรอ้างอิงได้ตลอดกาล โอกาสหาทุนสร้างอนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐาน ณ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยบันทึกถึงท่าน แต่งคำประพันธ์ และแต่งบทเพลงพร้อมบันทึกเสียงขับร้องยกย่องท่าน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน


นับเป็นการเชิดชูเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ที่ศาสตราจารย์พิเศษหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อบุคลากรชั้นหลังๆ จะได้มีโอกาสระลึกถึงท่านตลอดไป


พ.ศ. ๒๕๕๑  หนังสือดุษฎีกวีนิพนธ์ [9] เป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบ ๖๕ ปีมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยรวบรวมบทประพันธ์ที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้ร้อยกรองขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และสดุดีเกียรติคุณผู้ได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณทุกท่าน ในงานเลี้ยงแสดงความยินดีแด่ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และศาสตราจารย์เกียรติคุณทุกครั้งหลังเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา

ในงานเลี้ยงแสดงความยินดีนั้น มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้รองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้แต่งบทร้อยกรองสดุดีเกียรติคุณของดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และศาสตราจารย์เกียรติคุณทุกท่าน และเบิกรองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี เป็นผู้อ่านบทร้อยกรองนั้นเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเมื่ออ่านจบสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะพระราชทานช่อดอกไม้พร้อมบทร้อยกรองสดุดีเกียรติคุณที่มหาวิทยาลัยพิมพ์และใส่กรอบสวยงามให้แต่ละท่าน

พิธีดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของผู้ได้รับเกียรติ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งที่อื่นไม่มี รองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี มีส่วนสำคัญที่ทำให้งานเลี้ยงแสดงความยินดีดังกล่าวมีความหมายและทรงเกียรติมาก นับว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสร้างประเพณีที่ดีงามให้มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในปีแรกศาสตราจารย์เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ อธิการบดี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เบิกรองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี อ่านคำสดุดี โดยกราบบังคมทูลรายงานว่า “เป็นกวีแก้วศิลปากร”

ในปีถัดมากราบบังคมทูลว่า “เป็นกวีประจำราชสำนัก” เนื่องจากแต่งคำประพันธ์เทิดพระเกียรติเจ้านายแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ลงเผยแพร่ในข่าวมหาวิทยาลัยศิลปากร หน้า ๑ ตามที่มหาวิทยาลัยประสงค์ตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ดังที่มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายข่าวมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับเดือนเมษายน เพื่อพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว ซึ่งยังความปลาบปลื้มเป็นยิ่งนัก

แม้จะพ้นหน้าที่ราชการโดยเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังยินดีมาปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างตั้งใจ เต็มใจ และภูมิใจ อ่านคำสดุดีถวายทุกปีจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ จึงยุติลงเนื่องจากพระองค์มีพระราชกรณียกิจอื่นอีกหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แต่ยังคงแต่งร้อยกรองให้มหาวิทยาลัยพิมพ์ใส่กรอบสวยงามมอบเป็นที่ระลึกตราบชั่วชีวิต


ส่งผลทำให้ได้ทราบว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ดำริจัดให้มีงานเลี้ยงแสดงความยินดีหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๖ เป็นต้นมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงานทุกครั้ง ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณทุกท่าน

มหาวิทยาลัยเห็นคุณค่าของบทประพันธ์ที่รองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี ได้อุทิศสติปัญญา เวลา และความรู้ความสามารถร้อยกรองขึ้น ซึ่งทำให้ผู้รับปีติและประทับใจมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นอย่างยิ่งทุกครั้ง จึงเห็นสมควรสนับสนุนให้จัดพิมพ์ “ดุษฎีกวีนิพนธ์” เพื่อเผยแพร่เป็นบริการทางวิชาการด้านวรรณศิลป์แก่สังคมอันเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย

อนึ่ง ผนวกกับมีการดำเนินงานจัดโครงการฉลองมหาวิทยาลัยศิลปากรครบ ๖๕ ปี ทางมหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนนำ “ดุษฎีกวีนิพนธ์” มาจัดพิมพ์เป็นกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองด้วย นับเป็นการช่วยส่งเสริมและช่วยเชิดชูสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณศิลป์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของไทยให้เจริญมั่นคงสืบไป อีกทั้งยังถือได้ว่า ได้ทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่สอน วิจัย และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม


พ.ศ. ๒๕๕๖  หนังสือพรรณพฤกษวรคุณ [10]  รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ วรรธนะศักดิ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เจ้าของวังรี รีสอร์ท เลขที่ ๑๔๓ หมู่ ๑๒ ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ได้ส่งชื่อต้นไม้ในวังรี รีสอร์ท พร้อมคุณสมบัติของแต่ละต้นมาให้ช่วยประพันธ์ กาพย์ โคลง กลอน หรือคำกล่าวใดๆ เกี่ยวกับต้นไม้แต่ละชนิด เพื่อให้ผู้มาพบเห็นบังเกิดความรัก และต้องการที่จะรักษาต้นไม้เหล่านั้นไว้ในโลกตลอดไป

โดยทางวังรี รีสอร์ทตั้งใจที่จะทำโครงการสอนชาวบ้าน เรื่อง “สมุนไพรใกล้ตัว” โดยจะมีการสาธิตวิธีการใช้สมุนไพร ณ จุดที่มีต้นไม้นั้นขึ้นอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถจดจำความสำคัญของต้นไม้แต่ละต้นนั้นได้ ผู้ประพันธ์จึงเอาใจใส่ศึกษาคุณสมบัติของต้นไม้แต่ละต้น แล้วบรรจงร้อยกรองอย่างตั้งใจสนองศรัทธารองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ วรรธนะศักดิ์ ที่สู้อุตส่าห์เลือกสรรมาอย่างเห็นคุณค่านั้น โดยปรารถนาให้ผู้อ่านหรือผู้พบเห็นไม้แต่ละต้นที่ติดป้ายประกาศไว้ได้ประจักษ์จนเกิดความรัก พร้อมที่จะรักษาสืบทอดต้นไม้เหล่านั้นไว้สืบไป


ภูมิใจและปลื้มใจที่ให้กำเนิด “พรรณพฤกษวรคุณ” ขึ้นแล้วในบรรณโลก หวังให้เจริญเติบโตอยู่เคียงคู่กับ “วังรี รีสอร์ท” อย่างไม่รู้เสื่อมสูญ เพื่อส่งเสริม “โครงการสอนชาวบ้านเรื่องสมุนไพรใกล้ตัว” ได้สำเร็จดังเจ้าของรีสอร์ทตั้งใจไว้ อีกประการหนึ่งเพื่อช่วยส่งเสริมและช่วยเชิดชูสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณศิลป์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของไทยให้เจริญมั่งคงสืบไปด้วย


พ.ศ. ๒๕๕๙  หนังสือการอ่านทำนองร้อยกรองไทย[11] มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุปถัมภ์ดูแลงานศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกสาขามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จักได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ โดยจัดพิมพ์หนังสือ “การอ่านทำนองร้อยกรองไทย” ของรองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี ด้วยเล็งเห็นว่า หนังสือ “การอ่านทำนองร้อยกรองไทย” และ “แผ่นบันทึกข้อมูลของการอ่านทำนองร้อยกรองไทยแบบต่างๆ” จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการฝึกอ่านทำนองร้อยกรองไทยแบบต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นการสนองพระราชปณิธานในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนสืบไปด้วย


อำนวยประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอน ทำให้ผู้สอนมีความเชื่อมั่นในตนเองเพราะผู้เรียนศรัทธา กระตุ้นความสนใจด้านการอ่านทำนองต่างๆ แก่ผู้เรียน ช่วยผู้เรียนให้เข้าใจและจำบทกวีนิพนธ์ได้เร็วขึ้น มากขึ้น และชวนให้สนใจอยากอ่านบทอื่นๆ ต่อไปอีก ช่วยในการถ่ายทอดวรรณคดี ช่วยเผยแพร่วรรณคดีให้กว้างขวางขึ้น ช่วยเร้าความสนใจด้านการเรียนวรรณคดีให้มีมากขึ้นในทุกระดับการศึกษา ช่วยเสริมการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรองให้ไพเราะขึ้น อีกทั้งยังอาจช่วยให้มีโอกาสได้รับชัยชนะเมื่อเข้าแข่งขันประกวดอ่านทำนองเสนาะ

อำนวยประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ทำให้ได้รับรสไพเราะของทำนองต่าง ช่วยเปลื้องทุกข์ แก้เหงา สร้างความสนใจในการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ช่วยโน้มน้าวจิตใจทั้งผู้อ่านและผู้ฟังให้ผูกพันกับวรรณคดีไทย ส่งเสริมความเข้าใจและความซาบซึ้งในวรรณคดี อันนับเป็นการสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ช่วยให้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาภาษาไทยและวิชาการด้านต่างๆ ช่วยสร้างสิ่งใหม่ๆ ในการแสดงละครของไทย ใช้อ่านบทประพันธ์เพื่อถวายชัยมงคลเนื่องในมหามงคลสมัย หรือในงานมงคลต่างๆ ใช้สวดหน้าศพแทนการสวดพระอภิธรรม ที่สำคัญคือทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านทำนองต่างๆ อันจะนำไปสู่การช่วยส่งเสริม และช่วยเชิดชูสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณศิลป์ให้เจริญมั่นคงสืบไป

อำนวยความเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของชาติไทย ดังปรากฏว่าทำนองอ่านร้อยกรองของไทยมีมากกว่าชาติอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนประจักษ์อย่างแท้จริงเมื่อมีโอกาสไปร่วมการประชุมสภากวีโลกทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศฟิลิปปินส์ ได้ฟังการอ่านบทกวีของกวีทั่วโลกมาแล้ว สามารถยืนยันได้อย่างปราศจากอคติว่า การอ่านบทกวีไทยมีทำนองหลากหลายมากกว่านัก อีกทั้งชาวต่างชาติก็ชื่นชมการอ่านทำนองร้อยกรองของไทย ลักษณะเช่นนี้ไทยมีข้อได้เปรียบด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะภาษาไทยเป็นภาษาดนตรีอยู่แล้ว อีกทั้งคนไทยโดยสายเลือดก็ได้ชื่อว่าเป็นชาตินักกลอน ชอบพูดคำคล้องจอง เล่นคำ และเล่นเสียงอย่างมีจังหวะและมีสัมผัสอยู่เสมอ เมื่อใส่ทำนองที่เหมาะสมเข้าไปจึงฟังได้จับใจไม่รู้จาง ช่วยให้จำคำกวีได้นาน แล้วถ่ายทอดสืบสานต่อกันมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


พ.ศ. ๒๕๖๐  หนังสือกาพย์ห่อโคลงสมบัติของผู้ดี [12] ผู้ประพันธ์ได้รับคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สกศ. ๙๖๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ พุทธศักราช ๒๕๖๐  โดยให้เป็นกรรมการฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ประการหนึ่งคือประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

ผู้ประพันธ์จึงมีเหตุจูงใจให้รำลึกถึงคุณูปการที่ท่านบำเพ็ญเป็นหิตานุหิตประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของชาติ ได้สนองพระราชภาระในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ในสยาม ด้วยการกระจายการศึกษาสู่หัวเมืองต่างๆ ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ให้ทวยราษฎร์ได้มีการศึกษาถ้วนหน้าเสมอกัน พร้อมทั้งจัดให้มีหลักสูตรและแผนการศึกษาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ท่านยังนิพนธ์หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนจรรยา “สมบัติของผู้ดี” เพื่อปลูกฝังความมีระเบียบวินัยของคนในชาติ

ดังนั้นผู้ประพันธ์จึงมีแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์สนองกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งใจร้อยกรอง “กาพย์ห่อโคลงสมบัติของผู้ดี” มาเผยแพร่ให้สังคมไทยได้รู้จัก เพื่อแสดงตัวอย่างงานนิพนธ์ของท่านว่า สุขุมล้ำลึกและอมตะทันสมัยปานใด ตามด้วยบทความอีก ๓ เรื่องประกอบด้วย “พระราชทานพระเมตตาเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี, วิเทโศบายแห่งเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีที่โลกยกย่อง, เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา” โดยเฉพาะบทความเรื่องที่ ๒ กระทรวงศึกษาธิการได้นำไปพิมพ์ในหนังสือสูจิบัตรพิธีประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วย


มีคุณค่าที่ได้รับโอกาสสำคัญจากกระทรวงศึกษาธิการให้ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีสนองคุณต่อเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปีชาตกาล ได้สืบต่ออายุวรรณกรรม “สมบัติของผู้ดี” ให้เจริญมั่นคงสืบไป รวมทั้งช่วยเผยแพร่เนื้อหาให้เยาวชนไทยและบุคคลทั่วไปได้ศึกษา “จรรยาสมบัติของผู้ดี” ที่มีประโยชน์ทรงคุณค่าทันสมัย สามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้นโดยทั่วกัน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกันรักษา ส่งเสริม และเชิดชูสมบัติของชาติด้านภาษาวรรณศิลป์เอกลักษณ์พิเศษของชาติไทยให้ปรากฏตราบนิจกาล


พ.ศ. ๒๕๖๒  หนังสือศิลปากรน้อมศิรหทัยถวายราชสดุดีมหาจักรีบรมราชวงศ์ [13] เป็นหนังสือรวบรวมผลงานที่ผู้ประพันธ์ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ร้อยกรองเป็นประจำ เพื่อถวายราชสดุดีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐ เฉลิมพระเกียรติคุณพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและพระบรมวงศ์พระองค์สำคัญในมหาจักรีบรมราชวงศ์ เพื่อนำลงพิมพ์เผยแพร่ใน “ข่าวมหาวิทยาลัยศิลปากร” หน้า ๑ ฉบับแรกประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตามมาด้วยวันปิยมหาราช วันมหาธีรราชเจ้า วันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๙ วันจักรี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ต่อเนื่องสืบมาจนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนให้นำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยศิลปากร www.su.ac.th จนถึงปัจจุบัน


เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าด้วยเหตุผลที่ว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดพิมพ์รวมเล่มขึ้นเป็นหนังสือที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างจิตสำนึก และค่านิยมให้ผู้อ่านมีความเคารพ เทิดทูน และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป

อีกทั้งยังแสดงถึงความจงรักภักดีต่อชาติและศาสนา ช่วยส่งเสริมและเชิดชูสมบัติของชาติด้านภาษาและวรรณศิลป์ มีผลเป็นรูปธรรมในการสืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมวรรณศิลป์ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ อันก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า มรดกของชาติแขนงนี้จะมีผู้สืบสานและดำรงอยู่ได้ ซึ่งถือว่าได้ทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้านการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป


พ.ศ. ๒๕๖๓  หนังสือกาพย์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี[14] เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระพรหมมังคลาจารย์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี”

ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ดร.วาสนา เลิศศิลป์ เลขานุการโครงการเพชรยอดมงกุฎได้ส่งบทร้อยกรอง “พระภูมินทร์ภูมิพลกุศลทรง” พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ขอให้ผู้ประพันธ์ร้อยกรองประวัติสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีเพิ่มเติมให้สมบูรณ์เป็นปัจจุบัน ต่อจากฉบับที่ส่งมาให้ของอุบาสกประชิต ไผ่ตง ซึ่งได้ร้อยกรองถวายไว้ด้วยกลอนสุภาพเริ่มจากวัยเด็กจนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ “พระพรหมมังคลาจารย์” ค้างไว้เพียงนั้น เนื่องจากท่านถึงแก่กรรมลง

ผู้ประพันธ์จึงดำเนินการตามความประสงค์ของ ดร.วาสนา เลิศศิลป์ จนแล้วเสร็จ ตั้งชื่อใหม่ว่า “ภูมิพลมหาราชและพระวชิรเกล้าพระราชทาน” และได้นำไปถวายพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณโอกาสได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันภาษาไทยเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ ๑๖ ที่ได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ เรื่อยมาตราบปัจจุบัน รวม ๑๔ ปี ณ ห้องประชุมชั้น ๓ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ในวันที่ ๗ ถึง ๘ กันยายน ๒๕๖๒ โดยอนุญาตให้ผู้ประพันธ์นำไปอ่านเป็นทำนองเสนาะต่อหน้าที่ประชุมทั้งสองวัน

จนกระทั่งวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นับเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งอีกวาระหนึ่งซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ในโอกาสสำคัญเป็นล้นพ้นเช่นนี้ ผู้ประพันธ์จึงตั้งจิตน้อมพร้อมมุทิตาโดยดำริร้อยกรอง “กาพย์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช น.ธ.เอก ป.ธ. ๖)” ขึ้น อันมีเนื้อหาประกอบด้วยประวัติส่วนตัว สถานะเดิม การบรรพชาและอุปสมบท การศึกษาทางโลกและทางธรรม เกียรติคุณที่ได้รับยกย่องด้านสมณศักดิ์และด้านการศึกษา การมีคุณูปการด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านพระศาสนา ด้านการศึกษา และด้านสังคม รวมทั้งคติธรรมพระพุทธวจนะที่ยึดถือ       เพื่อน้อมถวายเป็นที่ระลึกด้วยสำนึกกตัญญูกตเวทีที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณเมตตาเชิญผู้ประพันธ์เข้าร่วมกิจกรรม “นวัตกรรมการศึกษา” การแข่งขันภาษาไทยของโครงการเพชรยอดมงกุฎโดยมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกรอบเจียระไนเพชรกับรอบเพชรยอดมงกุฎ ตัดสินความสามารถด้านการอ่านร้อยแก้วและการอ่านร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๙ รวม ๑๔ ปี ดังกล่าวแล้ว


ทำให้ทราบถึงคุณูปการที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล และประธานอุปถัมภ์โครงการเพชรยอดมงกุฎ บำเพ็ญเป็นหิตานุหิตประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติสนองเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเป้าประสงค์สำคัญของโครงการเพชรยอดมงกุฎ คือการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการโดยเปิดเวทีการแข่งขันให้นักเรียน และนักศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศได้แสดงความรู้ความสามารถทางวิชาการหลายสาขา เป็นการแข่งขันเพื่อพัฒนาไม่มุ่งแพ้ชนะ แต่กระตุ้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านวิชาการ ซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้ธำรงพระธรรมคำทรงสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้คือ “การให้ปัญญาแก่เยาวชน”

รางวัลที่ได้รับ

แก้

  พ.ศ. ๒๕๐๐   รับรางวัลยอดเยี่ยมวิชาภาษาอังกฤษชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนศิษย์วัฒนา อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี

   พ.ศ. ๒๕๐๓   รับรางวัลที่ ๑ การประกวดพากย์โขนชุดนางลอย วิทยาลัยครูสวนสุนันทา

   พ.ศ. ๒๕๐๔   รับรางวัลชนะเลิศในการอ่านทำนองเสนาะในบทวรรณคดีไทย ชั้นเตรียมอุดมและฝึกหัดครู “ประเภทโคลง ประเภทฉันท์ และประเภทกาพย์” งานสัปดาห์แห่งศิลปะและวรรณคดีนานาชาติ จัดโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

   พ.ศ. ๒๕๐๔   รับรางวัลที่ ๑ การประกวดเรียงความวันปิยมหาราช เรื่อง “พระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยอย่างไร” วิทยาลัยครูสวนสุนันทา

   พ.ศ. ๒๕๐๕   รับรางวัลที่ ๓ การแต่งบทประพันธ์ร้อยกรอง “วันอาสาฬหบูชา” วิทยาลัยครูสวนสุนันทา

   พ.ศ. ๒๕๐๘   รับรางวัล “ครูกิจกรรมดีเด่น” โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จากอธิบดีกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็น สร้อยคอทองคำพร้อมจี้เลี่ยมทองห้อยคอหินสีรูปไข่พระราชธรรมาภรณ์เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอมหรือหลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม

   พ.ศ. ๒๕๑๖   รับโล่ “รางวัลที่ ๑ ในการประกวดเรียงความวันครู ๒๕๑๖ จังหวัดนครปฐม”

   พ.ศ. ๒๕๑๘   รับรางวัลที่ ๒ (รางวัลที่ ๑ ไม่มีฉบับใดดีถึงขนาดสมควรได้รับ) จำนวน ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน) การประกวดเรียงความเนื่องในโอกาสคุรุสภาครบรอบ ๓๐ ปี เรื่อง “คุรุสภาอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกอย่างไรบ้าง”

   พ.ศ. ๒๕๑๘   รับรางวัลที่ ๒ จำนวน ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน) การประกวดเรียงความสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย เรื่อง “บทบาทของการไปรษณีย์ในการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย” จากกรมไปรษณีย์โทรเลข

   พ.ศ. ๒๕๓๓   รับโล่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทานเป็นที่ระลึกรางวัลชมเชยการประกวด “ร้องเพลงกล่อมลูก ครั้งที่ ๑ งานวันแม่ - มหิดล”

   พ.ศ. ๒๕๓๘   รับรางวัลการแต่งบทกวีชินขุ (World Hsinku Poetry Award) ชื่อ “Poets in the Congress” ในการประชุมสภากวีโลก (World Congress of Poets) ครั้งที่ ๑๔ ณ โรงแรม Wilson World เมือง Memphis รัฐ Tennessee ประเทศสหรัฐอเมริกา

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่นระดับจังหวัด จากศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคำประพันธ์อาเศียรวาท ประเภทสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ระดับประชาชนทั่วไป ชื่อ “ทรงคุณค่าทศพิธราชธรรม” จำนวน ๘,๐๐๐ บาท (แปดพันบาทถ้วน) ในโอกาสกาญจนาภิเษกสมโภช ๒๕๓๙ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับรางวัล “ผลงานนวัตกรรมการสอนภาษาไทย ระดับอุดมศึกษา” จากทบวงมหาวิทยาลัย จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และได้รับเชิญจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เสนอผลงานในการประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาการสอนภาษาไทย เรื่อง “นวัตกรรมการสอนภาษาไทยระดับอุดมศึกษา” ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

   พ.ศ. ๒๕๔๒   รับรางวัลชมเชยประกวดแต่งบทร้อยกรองคำฉันท์ของกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ประเภทวสันตดิลกฉันท์ ชื่อ “สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชเจ้าสดุดี” ระดับครูอาจารย์ จำนวน ๓,๐๐๐ บาท (สามพันบาทถ้วน) พร้อมโล่รางวัล เพื่อสวดสดุดีทำนองสรภัญญะ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

   พ.ศ. ๒๕๔๓   รับรางวัลชมเชย (โดยรางวัลที่ ๑, ๒ และ ๓ ไม่มีบทความใดได้รับรางวัล) จำนวน ๓,๐๐๐ บาท (สามพันบาทถ้วน) พร้อมโล่รางวัลประกวดบทความเพื่อส่งเสริมการอ่านบทประพันธ์ร้อยกรองระดับมัธยมศึกษา เรื่อง “อ่านคำประพันธ์จรรโลงใจสร้างนิสัยรักการอ่าน” ของสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

   พ.ศ. ๒๕๔๕   รับรางวัลผู้ขับร้องนำเพลงพระราชนิพนธ์ “เต่าเห่” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ในคอนเสิร์ตไทยธนาคารภูมิใจไทย ครั้งที่ ๓ วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (Bangkok Symphony Orchestra) นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการขับร้องเพลงไทยกับวงซิมโฟนีออร์เคสตรา และเป็นครั้งสำคัญที่มีลูกคู่ขับร้องร่วมกันในคอนเสิร์ตแบบสากล ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

   พ.ศ. ๒๕๔๖   รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญเสาพานพุ่มพนมมาลาพร้อมเกียรติบัตรของสถาบันวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประเภทบุคคลทั่วไป เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณ “ให้ได้สืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ประเทศชาติสืบไป”

    พ.ศ. ๒๕๔๙   รับรางวัลสัญลักษณ์เชิดชูเกียรติเพชรสยามพร้อมเกียรติบัตร สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ประกาศเกียรติคุณ “เพชรสยามสาขาภาษาและวรรณกรรม” ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับชาวไทยและเยาวชนของชาติ

เกียรติคุณที่ได้รับ

แก้

   พ.ศ. ๒๕๓๒   รับโล่ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ราชบัณฑิต เป็นเกียรติโอกาสเป็นวิทยากรการประชุมสัมมนาทางวิชาการฉลอง ๑๐๐ ปีที่ยูเนสโกประกาศยกย่องท่านเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ร่วมอภิปรายเรื่อง “พระยาอนุมานราชธนกับการใช้ภาษาไทย”

   พ.ศ. ๒๕๓๖   รับประกาศเกียรติคุณบัตรและเข็มเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นที่ ๓ เข็มทองแดง ที่ได้อุทิศเวลา กำลังกาย กำลังใจ ประสิทธิ์ประสาทความรู้วิชาภาษาไทยแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นเวลา ๕ ปี

   พ.ศ. ๒๕๓๘   รับโล่คุรุสภาและเข็มอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประกาศยกย่องเป็นครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา จังหวัดนครปฐม

   พ.ศ. ๒๕๓๘   รับโล่พระคเณศทองผู้สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้มหาวิทยาลัยศิลปากร

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับเกียรติบันทึกชื่อในหนังสือ “นามานุกรมกวีไทยในรัชกาลปัจจุบัน” ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกวีไทยที่มีผลงานอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๙ พร้อมเกียรติประวัติ ที่อยู่ และผลงานโดยสังเขปที่มีปรากฏอยู่ในช่วง ๕๐ ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และ “จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยหวังเพื่อมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์และความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับกวีและผลงานของกวีไทยในรัชกาลปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าต่อไป” โดย “โครงการราชสดุดีปีกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๓๙” เพื่อแสดงให้เห็นว่าในรัชกาลของพระองค์มีความรุ่งเรืองทางด้านภาษาและวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับเกียรติบัตรศิษย์เก่าดีเด่นและเข็มที่ระลึก “ส.ศ.ส.ในพระบรมราชินูปถัมภ์” สมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ในพระบรมราชินูปถัมภ์

   พ.ศ. ๒๕๓๙   รับเกียรติจากศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากรประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ โปรดเสนอให้มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำแถบบันทึกเสียงประกอบรายงานการวิจัยเรื่อง “ลักษณะเฉพาะของการอ่านทำนองเสนาะ” เป็นครั้งที่ ๓ เผยแพร่ทั่วประเทศ โดยตรัสว่าเป็นงานวิจัยที่ทรงคุณค่าสูง จะยังประโยชน์ได้อย่างมหาศาลด้วยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งทางเอกลักษณ์ของชาติ ทางการศึกษาภาษาและวรรณคดี ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากรยินดีสนับสนุนเพื่อบริจาคแก่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเป็นอภินันทนาการ จำนวน ๑,๑๐๐ ชุด เป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)

   พ.ศ. ๒๕๔๐   รับประกาศเกียรติคุณบัตรและเข็มเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นที่ ๒ เข็มเงิน ที่ได้อุทิศเวลา กำลังกาย กำลังใจ ประสิทธิ์ประสาทความรู้วิชาภาษาไทยแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นเวลา ๑๐ ปี

   พ.ศ. ๒๕๔๐   รับเกียรติบัตรและเหรียญเชิดชูเกียรติ For Excellence in Poetry เพียงผู้เดียวจากผู้เสนอผลงานทั่วโลก จำนวน ๔๔ ราย จากประธานสมาคมสภากวีนานาชาติ ในการประชุมสภากวีโลก ครั้งที่ ๑๕ ณ ประเทศอังกฤษ

   พ.ศ. ๒๕๔๑   รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุล ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๖ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย คีตศิลป์ สายสกุลดุริยประณีต เชิญเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมขับร้องเพลงนางนาคถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสเด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธาน ๑๐๐ ปี  สายสกุลดุริยประณีต และทรงดนตรีไทย ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันอังคารที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ เวลา ๑๘.๐๐ น.

   พ.ศ. ๒๕๔๒   รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำรูปเล่มและพิสูจน์อักษรหนังสือ “วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดนครปฐม” และประพันธ์บท “อาศิรวาทสมเด็จพระบรมธรรมิกาธิราชเจ้าสดุดี” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

   พ.ศ. ๒๕๔๓   รับโล่เชิดชูเกียรติคุณเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดนครปฐม สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ทางวัฒนธรรม : นักวิชาการทางวัฒนธรรมผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย

   พ.ศ. ๒๕๔๓   รับเกียรติบัตรและเหรียญเชิดชูเกียรติดีเด่น Distinguish Services for World Brotherhood and Peace จากประธานสมาคมสภากวีนานาชาติ ในการประชุมสภากวีโลก ครั้งที่ ๑๖ ณ เมือง Pampanga ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และได้รับเชิญให้อ่านบทกวีชินขุ ชื่อ “Poets in the Congress” ซึ่งได้รับรางวัลจากการประพันธ์ไว้เมื่อครั้งการประชุมสภากวีโลกครั้งที่ ๑๔ ณ เมือง Memphis รัฐ Tennessee ประเทศสหรัฐอเมริกา ในพิธีปิดประชุมด้วย

   พ.ศ. ๒๕๔๔   รับเกียรติบัตรจากเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่สนับสนุนโครงการ “ผ้าไทย . . . สายใยเศรษฐกิจ” ด้วยการแต่งกายด้วยผ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง

   พ.ศ. ๒๕๔๔   รับรูปปั้นจำลองศาสตราจารย์พิเศษหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประเภทผู้สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้มหาวิทยาลัย ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร

   พ.ศ. ๒๕๔๖   รับเกียรติบัตรมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ เป็นวิทยากรโครงการฝึกอบรมพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา และพระภิกษุช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน

   พ.ศ. ๒๕๔๖   รับเกียรติบัตรสถาบันวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ได้สืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ประเทศชาติสืบไป

   พ.ศ. ๒๕๔๖   รับโล่เครื่องหมายเกียรติคุณพระคเณศทองยกย่องให้เป็นเกียรติประวัติสืบไป แสดงว่าได้ปฏิบัติราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากรมาด้วยความวิริยะ อุตสาหะ

   พ.ศ. ๒๕๔๗   รับเกียรติจากวุฒิสภาเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ จัดพิมพ์หนังสือ “ช่างทอ ร้อยใจ เทิดไท้ ๗๒ พรรษา” และประพันธ์ “บทอาศิรพจน์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

   พ.ศ. ๒๕๔๘   รับโล่เชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ ด้านการใช้ภาษาไทย กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๔๙   รับเกียรติบัตรชมรมเพื่อนพิพิธภัณฑ์แห่งนครปฐม เป็นประธานกรรมการตัดสินประกวดคำขวัญส่งเสริมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากรุณาธิคุณต่องานพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

   พ.ศ. ๒๕๔๙   รับประกาศเชิดชูเกียรติคุณเป็นเพชรสยาม สาขาภาษาและวรรณกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

   พ.ศ. ๒๕๕๐   รับเกียรติบัตรสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรโครงการอบรมยุวกวีศรีศิลป์ รุ่นที่ ๑๖ นิราศพระบาท ตามรอยพระบาทฯ : เส้นทางชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง

   พ.ศ. ๒๕๕๒   รับเกียรติบัตรกระทรวงวัฒนธรรมผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัดด้านวัฒนธรรม

   พ.ศ. ๒๕๕๕   รับเกียรติบัตรกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทวงวัฒนธรรม คัดเลือกเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จังหวัดนครปฐม เนื่องในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๕๖   รับพระราชทานของที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ร้อยกรองถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสดุดีผู้ได้รับระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เนื่องในงานเลี้ยงแสดงความยินดีหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยศิลปากร

   พ.ศ. ๒๕๕๖   รับเกียรติบัตรกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จังหวัดนครปฐม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๕๖   รับเกียรติบัตรกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาวัฒนธรรมให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและสาราณียกรสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม

   พ.ศ. ๒๕๕๗   รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

   พ.ศ. ๒๕๕๗   รับเกียรติบัตรสภามหาวิทยาลัยศิลปากรแสดงความชื่นชมและยินดีที่ได้รับเข็มและโล่เชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

   พ.ศ. ๒๕๕๗   รับเกียรติบัตรกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยจังหวัดนครปฐม เนื่องในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๕๗   รับโล่เบญจรงค์พระรูปสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมเข็มเครื่องหมายสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นแม่ดีเด่นของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมในวันแม่แห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๕๗   รับเกียรติบัตรสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นแม่ดีเด่นของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมในวันแม่แห่งชาติ

   พ.ศ. ๒๕๕๘   รับเกียรติเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินผลงานการแต่งคำประพันธ์ของนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการร้อยกรองสร้างสรรค์ป้องกันการทุจริต เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนใช้ความสามารถทางด้านภาษาไทยในการร่วมรณรงค์และต่อต้านการทุจริตด้วยการจัดกิจกรรม “ร้อยกรองกานท์ ต่อต้านทุจริต” โดยนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

   พ.ศ. ๒๕๕๘   รับโล่ศิษย์เก่าเกียรติยศสมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เนื่องในงานวัน “แก้วใจจุลจอม” โอกาสครบ ๑๕๕ ปีแห่งพระประสูติกาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

   พ.ศ. ๒๕๖๐   รับเกียรติจากสาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญให้ร่วมรังสรรค์กวีนิพนธ์แสดงความโศกาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ร่วมกับสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหนังสือ “ร้อยมณีน้ำตา รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ” โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ ในรูปแบบกวีนิพนธ์ที่งดงามตามขนบการรังสรรค์วรรณคดี อันจักเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวางสืบไป

   พ.ศ. ๒๕๖๐   รับเกียรติจากอธิบดีกรมศิลปากร เชิญรังสรรค์กวีนิพนธ์ให้ปรากฏในวงวรรณศิลป์ไทยสืบไป ร่วมกับผู้ชำนาญกานท์กวีรวม ๘๙ คน จัดทำหนังสือร้อยกรอง “๘๙ พรรษา แห่งภูมิพลังแผ่นดิน” เพื่อน้อมถวายเป็นราชสักการะและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งการดำรงสิริราชสมบัติ ด้วยบท “กวีวัจนาโศกาลัย รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

   พ.ศ. ๒๕๖๑   รับเกียรติจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเชิญเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานของที่ระลึกที่ได้สนับสนุนกิจการของมูลนิธิ (เรียบเรียงหนังสือและจัดทำแผ่นบันทึกข้อมูลการอ่านทำนองร้อยกรองไทยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย) ในวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ อาคารชัยพัฒนา วังสวนจิตรลดา

   พ.ศ. ๒๕๖๒   รับเกียรติจาก ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เชิญให้ร้อยกรองกลอนสุภาพ “กล้วยอบสวนผึ้ง” และอ่านทำนองเสนาะถวายโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแปรรูป “กล้วยอบสวนผึ้ง” จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม      ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ บริเวณโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และอาคารผลิตเพื่อการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริ

   พ.ศ. ๒๕๖๒   รับเกียรติบัตรมูลนิธิร่มฉัตรจากประธานมูลนิธิร่มฉัตร ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินการแข่งขันภาษาไทยเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ ๑๖ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนการศึกษาสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วันที่ ๗ – ๘ กันยายน ๒๕๖๒ ณ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

                      ทั้งนี้ได้รับเชิญให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตั้งแต่ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมา รวมต่อเนื่องครั้งนี้เป็นจำนวน ๑๔ ครั้ง



  1.  
    หนังสือประกอบการสอนวิชาการพูด
  2.  
    การวิเคราะห์ความเชื่อของชายไทยในสวัสดิรักษา
  3.  
    ภาษาไทยเพื่อกิจกรรมการแสดง
  4.  
    หน้งสือรัตนชาติปราชญ์สยาม
  5.  

    หนังสือของดีร้อยสิ่งมิ่งเมืองไทย

  6.  

    ลักษณเฉพาะของการอ่านทำนองเสนาะ

  7.  
    หนังสือหนังสือเสนาะศัพท์สดับทำนองร้อยกรองไทย
  8.  
    หนังสือคิดถึงท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
  9.  
    หนังสือดุษฎีกวีนิพนธ์

    หนังสือดุษฎีกวีนิพนธ์

  10.  
    หนังสือพรรณพฤกษวรคุณ

    หนังสือพรรณพฤกษวรคุณ

  11.  
  12.  

    หนังสือกาพย์ห่อโคลงสมบัติของผู้ดี

  13.  

    หนังสือศิลปากรน้อมศิรหทัยถวายราชสดุดีมหาจักรีบรมราชวงศ์

  14.