ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ

ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ (อังกฤษ: Unreliable narrator) ในนวนิยาย (ที่ใช้ในวรรณกรรม, การละคร, ภาพยนตร์ และอื่น ๆ) “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ” (คำที่คิดขึ้นโดยเวย์น ซี. บูธในหนังสือ “The Rhetoric of Fiction” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1961[1]) หมายถึงผู้บรรยายเรื่องที่ขาดความน่าเชื่อถือโดยผู้อ่านอย่างเห็นได้ชัด[2] หรือเป็นผู้ขาดความเป็นกลางด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

ภาพประกอบโดยกุสตาฟว์ ดอเรของบารอนมึนช์เฮาเซน ผู้บรรยายเรื่องที่เกินเลยจากความจริงที่ถือว่าเป็น “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ”

การใช้ผู้บรรยายเรื่องประเภทที่เรียกว่า “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ” อาจจะมาจากเหตุผลหลายประการของผู้ประพันธ์ แต่โดยทั่วไปก็เพื่อสร้างความเคลือบแคลงของเนื้อหาให้แก่ผู้อ่าน โดยการสร้างภาพพจน์ของผู้บรรยายเรื่องในทางที่เป็นผู้ไม่น่าไว้วางใจ ความไม่น่าเชื่อถืออาจจะมามีสาเหตุจากความเจ็บป่วยทางจิตของผู้บรรยายเรื่อง, ความลำเอียงของผู้บรรยายเรื่อง, ความขาดความรู้ของผู้บรรยายเรื่อง หรืออาจจะมาจากความจงใจของผู้ประพันธ์ที่จะหลอกผู้อ่านหรือผู้ดู[2] “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ” มักจะเป็นผู้บรรยายเรื่องบุคคลที่หนึ่ง แต่บางครั้งก็อาจจะเป็นบุคคลที่สามก็ได้

บางครั้งผู้อ่านก็อาจจะทราบทันทีว่าผู้บรรยายเรื่องเป็นผู้ไม่น่าเชื่อถือ เช่นเมื่อเรื่องเปิดขึ้นโดยคำบรรยายที่ผิดอย่างชัดแจ้ง หรือ การอ้างอันขาดเหตุผล หรือ การยอมรับว่าเป็นผู้มีปัญหาทางจิต หรือบางครั้งโครงร่างของเรื่องก็อาจจะมีตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง ที่มีนัยยะว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่การใช้ “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ” ที่เป็นนาฏกรรมที่สุดคือการประวิงเวลาในการเปิดเผยว่าผู้บรรยายเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือจนเมื่อเรื่องเกือบจะลงเอย การจบเรื่องที่ผิดจากที่ผู้อ่านคาดทำให้ผู้อ่านต้องกลับไปพิจารณาทัศนคติและประสบการณ์ของตนเองที่มีต่อเนื้อเรื่องที่อ่านมา ในบางกรณีความไม่น่าเชื่อถือของผู้บรรยายเรื่องอาจจะไม่ได้รับการเปิดเผยแต่เพียงบอกเป็นนัยยะ ที่สร้างความพิศวงให้แก่ผู้อ่านว่าจะเชื่อปากคำของผู้บรรยายเรื่องได้มากน้อยเท่าใด หรือ ควรจะตีความหมายของเรื่องอย่างใด

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์, นวนิยายคาดการณ์ (speculative fiction) และการบรรยายเรื่องฝัน ไม่ถือว่าเป็นการใช้การบรรยายเรื่องโดยผู้ไม่น่าเชื่อถือ แม้ว่าจะเป็นการบรรยายเหตุการณ์ที่มิได้เกิดขึ้น หรือไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

ตัวอย่างของการใช้ “ผู้บรรยายเรื่องผู้ไม่น่าเชื่อถือ” ก็ได้แก่ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ตตัวละครเอกในเรื่อง “โลลิตา” โดยวลาดิเมียร์ นาโบคอฟ ผู้หลงรักลูกเลี้ยงสาวอายุ 12 ปี ที่มักจะบรรยายเรื่องที่เป็นการสนับสนุนการกระทำของตนเองว่าไม่เป็นการผิดจริยธรรมในการเป็นโรคใคร่เด็ก (pedophilia)[3] ซึ่งเป็นการบรรยายเรื่องอย่างลำเอียงเข้าข้างตนเอง

อ้างอิง แก้

  1. "Professor Wayne Booth", an obituary, Times Online, October 14, 2005
  2. 2.0 2.1 "How to Write a Damn Good Novel, II", by James N. Frey (1994) ISBN 0312104782, p. 107
  3. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน[1] เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ดูเพิ่ม แก้