ปี่ภูไท หรือ ปี่ลูกแคน หรือ ปี่ผู้ไท เป็นเครื่องดนตรีของชาติพันธุ์ภูไท (ผู้ไท) จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร ในภาคอีสานของประเทศไทย และในแขวงสุวรรณเขต แขวงเชียงขวาง และแขวงคำม่วนในประเทศลาว[1] ทำจากไม้ไผ่เฮี้ย[2] หรือไม้กู่แคน หรือไผ่ลูกแคน แต่เริ่มมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากไม้ไผ่เฮี้ยเริ่มหายาก ปี่ภูไทมีลักษณะคล้ายปี่จุมของภาคเหนือ คือมีลิ้นที่ทำจากโลหะจำพวก ทอง ทองแดง เงิน[3] และมีเสียงวิธีการเป่าที่คล้ายกัน ปี่ภูไทเสียงแหลมกังวาน[2] ใช้บรรเลงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆได้ เช่น แคน พิณ ซอบั้ง และกระจับปี่[4] ใช้บรรเลงประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตา พิธีหมอเหยา การลำผู้ไท (รำผู้ไท) และการฟ้อนผู้ไท[4] ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการเป่าปี่ภูไท อยู่ที่บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ คือ เมฆ ศรีกำพล ศิลปินมรดกอีสาน สาขาปี่ภูไท มหาวิทยาลัยขอนแก่น[1] นอกจากนี้ยังประยุกต์เล่นกับวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น วงโปงลาง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ลายเพลงที่นิยมเล่นคือ ลายภูไทใหญ่ และลายภูไทน้อย[4]

ปี่ภูไท

วิธีการทำปี่ภูไท

แก้

วิธีการทำปี่ภูไทมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ตัดไม้ไผ่ลูกแคนให้มีความยาวเท่ากับ 1 ปล้อง และเจาะรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้สอดลิ้น
  2. สอดลิ้นปี่ (ลิ้นปี่ตามขนาดของปี่) เข้าไปในรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าและนำเปลือกหอยทะเลฝนกับหินผสมน้ำมาทาที่ลิ้น
  3. เจาะรูชนิดพิเศษให้ห่างจากลิ้น 8-10 เซนติเมตร เรียกว่า รูเยี่อซึ่งทำมาจากขี้สูด (ชันโรง) และเยื่อพลาสติกหรือเยื่อไผ่ ซึ่งมีหน้าที่ตกแต่งเสียงให้เกิดความไพเราะพริ้วไหว
  4. เจาะรูนับห่างจากรูเยื่อ 3-5 เซนติเมตร เจาะ 5-6 รู (ตามคีย์ของปี่ ปี่ใหญ่เจาะ 6 รู ปี่เล็ก 5 รู)


อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สุนทร สกุลโพน. ปี่ผู้ไท OK Nation Blog, 17 กันยายน 2562.
  2. 2.0 2.1 สุภาพร คำยุธา. การฟ้อนของชาวผู้ไทย : กรณีศึกษาหมู่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ 27 กันยายน 2555.
  3. TK Park. ปี่ลูกแคน ปี่ผู้ไทย สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 โยธิน พลเขต. ความรู้เกี่ยวกับปี่ผู้ไทย. วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564.