ซอบั้ง หรือ ซอผู้ไท[1] หรือ ซอไม้ไผ่[2] เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี ที่ทำจากปล้องไม่ไผ่ ทำหน้าที่เป็นทั้งกะโหลกซอและคันซอ ซึ่งแตกต่างจากซอในภูมิภาคอื่นของประเทศไทย ไม้ไผ่ที่ใช้ขึ้นอยู่บนเขา โดยตัดในช่วงที่กำลังผลิแขนงแตกใบอ่อน เรียกว่า “ไม้กุ” แล้วนำไปตากแดดจนแห้งอยู่ตัว ก่อนจะนำไปขูดเปลือก เจาะรู ร้อยสาย เข้ากับลูกบิด บั้งหรือกระบอกไม่ไผ่นั้นทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงเช่นเดียวกับกะโหลกซอ ด้านหนึ่งของกระบอกวางชิ้นไม้เล็กๆเรียกว่า หย่อง ทำหน้าที่ยกสายซอทั้งสองสาย ซึ่งทำจากสายห้ามล้อจักรยาน สายหนึ่งเรียกว่า “สายไล่เสียง” ทำหน้าที่ดำเนินทำนอง สายที่สองเรียกว่า “สายกล่อมเสียง”[3] ทำหน้าที่เป็นเสียงประสาน ให้สูงขึ้น วางพาดขึงไปยังลูกบิดที่ทำจากลิ่มไม่สองชิ้นบริเวณปลายด้านตรงข้ามของกระบอก ถัดมาเล็กน้อยมีรัดอกที่ทำจากหวายรัดสายซอทั้งสองให้สัมผัสเข้ากับตัวกระบอก[1] เครื่องดนตรีนี้ยังใช้โดย ไททัญ จังหวัดเหงะอาน จังหวัด เวียดนาม [4]เรียกว่า "สีสาลอ (xi xa lo)"

ซอบั้งนิยมบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น พิณ และแคน โดยใช้คันชักสีให้เกิดเสียง ร่วมกับแคน และปี่ผู้ไท มีเสียงที่อ่อนหวานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ในด้านระบบเสียงซอบั้งของชาวบ้านบ่อแก้วพบว่ามีเสียงหลักที่ใช้ในการบรรเลงบทเพลงอยู่ 6 เสียง คือ F# A# B C# E F# ซึ่งเป็นระบบเสียงห้าเสียง (Pentatonic Scale) โดยอยู่ในโครงสร้างของบันไดเสียง F# Minor Pentatonic Scale การบรรเลงจะสีทั้งสองสายพร้อมกัน โดยมีทำนองเพลงที่บรรเลงคือลายล่องขวง ลายลำภูไท ลายลำให้พร ลายเดินดง และลายสุดสะแนน ซอบั้งใช้ในเฉพาะกลุ่มบุคคลในชุมชน และบทบาทของซอบั้งในบริบทเชิงพิธีกรรมในชุมชน

วิธีการทำซอบั้ง แก้

วัสดุและอุปกรณ์การประดิษฐ์ซอบั้งของชาวบ้านบ่อแก้วประกอบด้วยไม้ไผ่[2] มีดโต้ มีดไส มีดเจาะ เหล็กซี สายเบรกรถจักรยาน สายเอ็นไนลอน สายพลาสติก และยางไม้ต้นซาด[5] โดยมีขั้นตอนและวิธีการประดิษฐ์ซอบั้งที่สำคัญ [5]คือ

  • การเลือกไม้ไผ่ มีอายุประมาณ 2 ปี ขึ้นไป อายุของไผ่ส่งผลต่อเสียงและลักษณะของซอบั้ง[5]
  • การวัดระยะความยาวของซอบั้งไม้ไผ่ สัดส่วนความกว้างต่อความยาวของปล้องไม้ไผ่ในอัตรา 1 : 6[5]
  • การขึ้นรูปซอบั้งไม้ไผ่ จะใช้มีดโต้ และการไสเปลือกไม้ไผ่ให้มีความบางตามต้องการ[5]
  • การเจาะรูลูกบิดสายและรูร้อยสายใช้เหล็กซีที่เผาไฟ [5]
  • การขึ้นสายซอบั้งไม้ไผ่ การเจาะช่องขยายเสียงและการประดิษฐ์คันชัก จากไม้ไผ่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 TK Park. ซอบั้ง สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  2. 2.0 2.1 เครื่องดนตรีของภาคอีสานตอนเหนือ สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  3. พิทยวัฒน์ พันธะศรี. แนวทางการส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาซอบั้งชาวภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์. เก็บถาวร 2021-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2564.
  4. "Đàn xi xa lo của dân tộc Thái ở Nghệ An". {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ข้อความ "https://vov4.vov.vn/van-hoc-nghe-thuat/dan-xi-xa-lo-cua-dan-toc-thai-o-nghe-an-119648.vov4" ถูกละเว้น (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 พิทยวัฒน์ พันธะศรี. ซอบั้ง : การสืบทอดวัฒนธรรมการประดิษฐ์และการบรรเลงของชาวบ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ Saw-Bang : Cultural Transmission Created and Played by Bokaew Villagers at Tambon Bokaew, Amphoe Nakhhu Kalasin Province. วารสารวิชาการแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2557.