ปีใหม่ม้ง ที่หมู่บ้านของชาวไทยม้งประเพณีปีใหม่ของพวกเขาตรงกับ วัน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของม้ง ซึ่งตรงกับปฏิทินไทยคือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 หรือ ปฏิทินจีน คือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลาระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ซึ่งในวันปีใหม่นี้ของชาวม้งจัดเป็นงานประเพณีที่ชาวม้งรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากจะเป็นการพบปะกันระหว่างกลุ่มญาติมีประเพณีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้อาวุโส เป็นวันที่หนุ่มๆสาวๆในหมู่บ้านจะได้เลือกคู่ มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเพณีและการละเล่นต่างๆ เช่น ลูกข่าง ลูกช่วง และยังมีการแข่งขันล้อเลื่อนไม้ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งเป็นกีฬาที่ท้าทายน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่นอกการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานแล้วชาวม้งก็ไม่ลืมที่จะทำพิธีกรรมต้อนรับปีใหม่ซึ่งจัดเป็นพิธีกรรมที่ชาวม้งให้ความสำคัญกันมากโดยมี 4 อย่างดังนี้

วันดา แก้

หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 12 (ตามปฏิทินม้ง วัน 30 ค่ำ) ชาวม้งจะมีการเตรียมต้อนรับปีใหม่โดยทุกบ้านจะทำความสะอาดบ้านโดยใช้ใบไผ่กวาดบ้านเพื่อเอาสิ่งไม่ดีไปกับปีเก่า และจะมีพิธีเรียกขวัญโดยนำไก่ 1 คู่ (ตัวผู้และตัวเมีย) พร้อมกับไข่เท่าจำนวนสมาชิกในบ้าน มาทำพิธีเรียกขวัญเงิน ขวัญทอง ขวัญไร่ ขวัญนา โดยระหว่างงานปีใหม่นี้จะจุดธูปหรือตะเกียงไว้กลางบ้านตลอดเพื่อให้เริ่มต้นมีแต่แสงสว่างและสิ่งดีๆ โดยนำไก่ตัวผู้อีกตัวต้มสุกมาแขวนไว้ที่ฝาผนังบ้าน แต่ละแซ่จะสอนสิ่งดีๆให้กับลูกหลาน ระหว่างที่สอนจะนำเม็ดข้าวโพดใส่ในกระด้งแล้วโยกไปมา ทุกวันของวันปีใหม่จะมีการจัดเลี้ยง แต่วันดาจะเป็นวันที่ดื่มเหล้ากันมากที่สุด กลางคืนของวันดานี้ทุกคนจะเฝ้ารอเสียงสัตว์ร้อง เพราะเสียงสัตว์ร้องเสียงแรกจะถือเป็นเวลาที่เริ่มต้นของวันปีใหม่ ถ้าเป็นเสียงไก่ร้องจะถือว่าดีที่สุด ทันทีที่ได้ยินเสียงสัตว์ร้องเสียงแรก ผู้ชายของทุกบ้านจะยิงปืนต้อนรับปีใหม่ และในเวลา 01.00 น. จะเทภาชนะที่บรรจุน้ำภายในบ้านทิ้งและตวงน้ำใส่ใหม่ ผู้หญิงจะเริ่มตำข้าวหุงข้าวเพื่อเตรียมเลี้ยงงานปีใหม่

ปัจจุบันชาวม้งมีการจัดปีใหม่ม้งที่แน่นอน คือ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ของม้ง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 2 ตามปฏิทินไทย

วันขึ้นปีใหม่ แก้

(ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ) ในวันนี้จะมีการละเล่นในหมู่บ้าน เช่น การเล่นลูกข่าง ซึ่งจะแข่งขันกัน ใครตีได้แม่นหรือลูกข่างหมุนได้นานก็จะเป็นฮีโร่ของงาน นอกจากนี้วันนี้จะเป็นวันที่หนุ่มสาวจะเลือกคู่กันโดยใช้วิธีโยนลูกช่วง โดยหนุ่มๆสาวๆก็จะแต่งกายด้วยชุดสวยงาม ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายทำลูกช่วงซึ่งทำจากผ้าเป็นลูกกลมๆและวานให้เพื่อนหญิงหรือจะเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วเป็นผู้นำลูกช่วงของตนไปมอบให้กับชายหนุ่มที่ตนพึงพอใจ และหญิงสาวที่ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อนี้จะบอกกับชายหนุ่มว่าลูกช่วงนั้นเป็นของหญิงสาวคนใดเพื่อที่ชายหนุ่มจะได้นำลูกช่วงนี้ไปโยนหรือขว้างเล่นกับหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของลูกช่วงต่อไป หรือหากผู้ชายหมายตาหญิงสาวคนใดไว้ก็จะไปขอโยนลูกช่วงด้วย ถ้าฝ่ายหญิงไม่พอใจก็จะไม่โยนด้วย ระหว่างที่ชายหนุ่มหญิงสาวโยนลูกช่วงก็จะพูดจาจีบกันในเวลานี้ ในส่วนใหญ่แล้วคู่โยนลูกช่วงจะมีการสู่ขอแต่งงานกันหลังงานปีใหม่ (ตามประเพณีเดิมแล้วถ้าผู้ชายพอใจก็จะฉุดหญิงสาวไปด้วยเลยแล้วค่อยมาทำการสู้ขอในภายหลัง) และวันนี้ในแต่หลังคาเรือนก็จะจัดเลี้ยงแขกที่เข้าไปเยี่ยมในบ้านซึ่งจะมีการตั้งวงร่ำสุรา ตามธรรมเนียมของชาวม้งแล้วจะมีการต้มเหล้าข้าวโพดเตรียมไว้สำหรับฉลองเทศกาลปีใหม่นี้ ใครที่มีฝีมือดีก็จะต้มเหล้าได้ใสเป็นตาตั๊กแตน ผู้เขียนเคยได้ลองชิมเหล้าข้าวโพดนี้แล้วบอกได้เลยว่าทั้งหอมหวานรสชาติสู้กับเหล้าฝรั่งได้เลย ส่วนความแรงนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเวลาที่ดื่มเข้าไปนั้นก็ทราบทันทีเลยว่าเหล้าได้เดินทางไปถึงส่วนไหนของทางเดินอาหารแล้วประกอบกับความหวานของเหล้านั้นทำให้ดื่มได้เรทื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมาไปซะแล้ว ธรรมเนียมการนั่งในวงสุราจะนั่งตามผู้อาวุโส ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าจะนั่งทางด้านซ้ายมือของผู้ที่อาวุโสกว่า หากเราจะไปร่วมวงการร่ำสุรานี้ก็ต้องถามจากเขาก่อนว่าเราสามารถนั่งได้ตรงไปไหน ด้านหลังของวงเหล้าจะมีผู้ทำหน้าที่รินเหล้าหนึ่งคน จอกเหล้าสองจอก โดยจะเริ่มดื่มจากผู้อาวุโสที่หัวแถวก่อนแล้ววนไปทีละ สองจอกจนครบเก้ารอบ รอบสุดท้ายจะเป็นจอกใหญ่กับจอกเล็กเรียกว่าแม่วัวกับลูกวัว ทุกคนในวงต้องดื่มให้หมดเพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าบ้าน ถ้าใครดื่มไม่ไหวก็ต้องให้คนในครอบครัวมายืนข้างหลังคอยช่วยดื่ม

วันที่สาม แก้

ปีใหม่ม้ง(ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1) เป็นวันที่จะไปดำหัวผู้เสียชีวิตไปแล้วที่หลุมศพ และถือเป็นวันสุดท้ายของปีใหม่ ไก่ที่ต้มไว้วันแรกต้องกินให้หมดวันนี้และดับธูปหือตะเกียงที่จุดไว้ตลอดปีใหม่

วันที่สี่ แก้

เป็นวันที่ส่งผีกลับ ในตอนเช้าจะต้มไก่ใหม่ไว้บนโต๊ะ ผู้นำครอบครัวทำพิธีปล่อยผีกลับและบอกไว้ว่าถ้ามีอะไรจะเรียกผีนี้กลับมาช่วย ในหมู่บ้านชาวม้งบางหมู่บ้านจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเรียกว่า ดงเซ้ง ซึ่งต้องดูแลให้ดี หากไม่เช่นน้นจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ และในวันที่สี่นี้หมู่บ้านที่มีดงเซ้งก็จะเข้าไปทำความสะอาดและพิธีที่ดงเซ้งนี้เพื่อขอพรให้อยู่ดีมีสุขก็เป็นหลังจากที่ทำพิธีกรรมทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็มาถึงการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานต่างๆของม้งที่มีมากมาย เช่น การตีลูกข่าง การยิงหน้าไม้ การหาบน้ำ การฝัดข้าว การโยนไข่ การประกวดแม่บ้านสมบูรณ์ การโยนลูกช่วงหรือประเพณีเกี้ยวสาวที่กล่าวไปข้างต้น แต่ที่เป็นไฮไลท์สุดก็ต้องเป็นกีฬาแข่งขันล้อเลื่อนไม้หรือโกคาร์ทชาวเขานั่นเอง

การแข่งขันล้อเลื่อนไม้ แก้

หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Wooden Kart Racing ในปีนี้บริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดงเป็นผู้ที่เข้ามาการแข่งขัน โดยเริ่มจัดการแข่งขันขึ้นเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี ในปีนี้ได้จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 14 ม.ค. พ.ศ. 2548

คุณจันทร์ศิริ วาทหงษ์ ผู้ประสานงานพัฒนาสาธารณสุข มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า จากการดำรงชีวิตของชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่บนเขาบนดอยตามภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตด้วยการอาศัยวัตถุดิบจากป่า ไม่ว่าจะเป็นฟืน น้ำ หรือพืชผักต่างๆ เวลาจะทำการขนย้ายมาเก็บไว้ก็ต้องขึ้นลงเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรด้วยการเดิน แต่เมื่อขนส่งด้วยระยะทางไกลขึ้นทำให้ใช้เวลาในการขนส่งมากขึ้น เพื่อให้ได้ทรัพยากรมากขึ้นชาสวเขาจึงได้คิดแก้ปัญหาด้วยการหาเครื่องทุ่นแรงด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในป่า ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดล้อเลื่อนเกิดขึ้น

จากเศษไม้ที่ทิ้งระเกะระกะได้ถูกนำมาดัดแปลงจนเป็นรูปร่างคล้านรถโกคาร์ท แต่ชิ้นส่วนทุกชิ้นล้วนทำขึ้นจากไม้ทั้งหมดแม้กระทั่งล้อ ตัวรถมีขนาด 1x2 เมตร มีเนื้อที่พอที่จะทำการขนย้ายได้อย่างสบายๆโดยเรียกง่ายๆว่าล้อเลื่อนไม้นั่นเอง จากเดิมที่ใช้แรงคนก็ทุ่นแรงไปได้มาก โดยการของที่หามาได้ใส่บนรถล้อเลื่อนไม้แล้วช่วยกันดึงและผลักจนถึงที่ซึ่งสะดวกและได้ประโยชน์ก็ตอนลงมาจากเขาที่สามารถปล่อยล้อเลื่อไม้ไหลลงมาได้อย่างสบายๆโดยมีคนบังคับเลี้ยวเพียงคนเดียวเท่านั้น ทำให้สามารถประหยัดพลังงานและเวลามากขึ้น

ล้อเลื่อนชาวเขานี้ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวเขามาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยเหล่าชาวเขาได้คิดค้นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันล้อเลื่อนไม้นี้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ไปแล้ว เหลือแต่การละเล่นและแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนาน จากการแข่งขันกันใหม่หมู่เพื่อนฝูงก็กลายมาเป็นการแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านและมีทีท่าว่าจะขยายไปเรื่อยๆ เนื่องจากในปีนี้จะเห็นได้ว่าได้มีผู้สมัครแข่งขันจากหลากหลายที่ เช่น ชาวเขาจากดอยเต่า ดอยสุเทพ ดอยปุย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีนักแสดงชื่อดังมาร่วมแข่งขันด้วย เช่น ลิฟท์, เจี๊ยบ ชวนชื่น, เอิร์ท ณัฐนันท์, อาจารย์ธัญธีรา ยิ้มอำนวย หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งไว้ดังนี้

“ประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง มีความหมายมากกว่าการจัดงานสนุกสนานรื่นเริง ขั้นตอนต่างๆสะท้อนในทัศนคติที่แฝงไว้ด้วยค่านิยม โดยการตอกย้ำอยู่ในขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ ของสังคมชาวม้งที่ปลูกฝังและสืบทอดกันต่อๆมาทั้งทางศีลธรรมและความกตัญญู โดยการจัดเตรียมเครื่องเซ่น, จุดตะเกียงหรือธูป พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการนับถือบรรพบุรุษ และตอกย้ำอีกครั้งโดยการทำพิธีดำหัวผู้ล่วงลับ นอกจากนี้การให้ผู้ให้ผู้นำแซ่สั่งสอนและการนั่งดื่มสุราตามลำดับผู้อาวุโส สิ่งเหล่านี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพผู้อาวุโสด้วย นอกจากนี้งานปีใหม่ก็ยังสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพ ความร่วมมือร่วมในกันในครอบครัว นั่นคือการแบ่งหน้าที่โดยผู้ชายจะเป็นผู้ยิงปืนรับปีใหม่ ผู้หญิงจะมีหน้าที่ตำข้าวหุงข้าว สิ่งเหล่านี้ได้แสดงว่าสังคมของชาวม้งยังคงเป็นสังคมที่เป็นเอกภาพมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และการมีหน้าที่ยิงปืนของผู้ชายนี้ก็ยังสะท้อนถึงสถานะของผู้ชายที่สูงกว่าผู้หญิง ในส่วนการดื่มเหล้าโดยการนั่งเรียงลำดับของผู้อาวุโสนั้นแป็นการแสดงถึงการนับถือซึ่งกันและกัน และเหล้าก็เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพอีกด้วย

ประเพณีของชาวม้งได้สะท้อนความผูกพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติการรักษาสิ่งแวดล้อมเห็นได้จากการดูแลต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และในส่วนของการละเล่นนั้นก็แฝงไว้ด้วยความสัมพันธ์ของสังคม เช่น การโยนลูกช่วงซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวพบปะเลือกคู่กันตามครรลองของวัฒนธรรม ประเพณีจึงมีความหมายและคุณค่าของการดำรงอยุ๋ของบุคคลและสังคมนั่นเอง

ล้อเลื่อนไม้สำหรับบรรทุกวัตถุดิบสำหรับดำรงชีวิตจากป่าหรือโกคาร์ทชาวเขานั้น จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิต แสดงให้เห็นถึงดูแลครอบครัวของฝ่ายชายซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำและเป็นผู้ไปหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันอีกด้วย ล้อเลื่อนไม้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์กับธรรมชาติและมีขอบเขตจำกัดไม่สะสมมากเกินพอ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยไม่แสวงหากำไร อีกทั้งการแข่งขันล้อเลื่อนไม้นี้ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กัน ความเท่าเทียมกันทางสังคมอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่วันนี้การแข่งขันล้อเลื่อนไม่เพียงเป็นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์และอนุรักษ์วัฒนธรรมระหว่างชาวม้งได้เป็นอย่างดี ทั้งยังคงสร้างความสนุกสนานระหว่างชาวบ้านที่แข่งกับคนดูซึ่งเป็นชาวเขาในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วสารทิศอีกด้วย และการแข่งขันนี้เชื่อไหมว่าเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วยเพราะการแข่งขันนี้ได้ลงข่าวในช่อง ESPN ซึ่งเป็นช่องข่าวกีฬาชื่อดังของโลกอีกด้วย หากใครสนใจจะไปเที่ยวงานปีใหม่ชาวม้งนั้นคงต้องดูปฏิทินกันล่วงหน้าก่อน เพราะเขากำหนดวันขึ้นปีใหม่กับแบบข้างขึ้นข้างแรมกันโดยจะอยู่ในช่วงราวเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมพาพันธ์ของทุกปี ซึ่งก็สามารถสอบถามข้อมูลล่วงหน้าจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้