ปาโบล ปิกาโซ
ปาโบล ดิเอโก โฆเซ ฟรันซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาริอา เด โลส เรเมดิโอส ซิเปรียโน เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด รุยซ์ อี ปิกาโซ (สเปน: Pablo Ruiz Picasso, ออกเสียง: [ˈpaβlo piˈkaso]; 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 – 8 เมษายน ค.ศ. 1973) จิตรกรเอกของโลก เป็นบุคคลที่นิตยสาร ไทม์ ยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปิกาโซเกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 ที่เมืองมาลากา แคว้นอันดาลูซิอา ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เป็นบุตรชายคนโตของโฆเซ รุยซ์ อี บลัสโก (ค.ศ. 1838–1913) กับมาริอา ปิกาโซ อี โลเปซ บิดาเป็นครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัย งานของปิกาโซเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่การเปลี่ยนแปลงทิศทางรูปแบบของผลงานนั้นเกิดจากหรืออาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟร์น็องด์ ออลีวีเย (Fernande Olivier) ซึ่งเป็นคนรักคนแรกของเขา และเขาได้แต่งงานครั้งที่ 2 กับฌาเกอลีน ร็อก ในปี ค.ศ. 1961 และเขาจบชีวิตศิลปินลงในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1973 เสียชีวิตในวัย 91 ปี
ปาโบล ปิกาโซ | |
---|---|
ปาโบล ปิกาโซ ใน ค.ศ. 1908 | |
เกิด | ปาโบล ดิเอโก โฆเซ ฟรันซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาริอา เด โลส เรเมดิโอส ซิเปรียโน เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด รุยซ์ อี ปิกาโซ[1] 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 มาลากา สเปน |
เสียชีวิต | 8 เมษายน ค.ศ. 1973 มูแฌ็ง ฝรั่งเศส | (91 ปี)
สัญชาติ | ชาวสเปน |
มีชื่อเสียงจาก | จิตรกรรม |
ขบวนการ | บาศกนิยม, ลัทธิเหนือจริง |
คู่สมรส | โอลกะ คะโคลวะ (สมรส 1918; 1955) ฌาเกอลีน ร็อก (สมรส 1961) |
วัยเด็ก
แก้ในวัยเด็ก เขาฉายแววการเป็นศิลปินระดับโลกด้วยการพูดคำว่า "ปิซ ปิซ" (มาจากคำว่า ลาปิซ ที่แปลว่าดินสอในภาษาสเปน) เป็นคำแรก แทนที่จะพูดคำว่า "แม่" เหมือนเด็กทั่วไป บิดาของเขาเป็นอาจารย์สอนวาดภาพ ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับพรสวรรค์นี้มาตั้งแต่ยังเด็ก ปิกาโซได้รับจานสีและพู่กันเป็นของขวัญวันเกิดตอนอายุ 6 ขวบจากบิดา ครั้งนึงที่บิดาของปิกาโซกำลังวาดรูปนกพิราบของเขาอยู่นั้น สิ่งที่น่าทึ่งก็ได้บังเกิดขึ้น เมื่อบิดาของเขาออกไปจากห้องเพื่อทำอะไรบางอย่าง ปิกาโซได้เข้าไปในห้อง แล้ววาดภาพนกพิราบต่อจนเสร็จ เมื่อบิดาเขากลับเข้ามาจึงได้พบว่าภาพที่วาดนั้น เสร็จสมบูรณ์และเห็นว่าสวยกว่าที่ตนเองวาดเสียอีก และเมื่อเขาอายุเพียงแค่ 15 ปี เขาได้มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง
วัยทำงาน
แก้หลังจากเริ่มต้นอย่างผิดพลาดด้วยการเป็นนักเรียนด้านศิลปะที่เมืองมาดริดและช่วงโบฮีเมี่ยนในเมืองบาร์เซโลนา เขาได้เดินทางมาที่ปารีสครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1900 ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงด้านศิลปะ และได้ย้ายอาศัยอยู่อย่างถาวรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1904
ภาพเขียนของปิกาโซแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ยุคสีน้ำเงิน
- ยุคสีชมพู
- ยุคอิทธิพลแอฟริกา
- ยุคบาศกนิยม
- ยุคนิยมแบบแผนและเหนือจริง
- ยุคสุดท้าย
ยุคสีน้ำเงิน
แก้อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1901–1904 ปิกาโซจมลงไปในภาวะซึมเศร้ารุนแรง เขาวาดภาพสีเดียวเป็นหลักในเฉดสีของสีฟ้า สีเขียวและสีฟ้าอ่อนผสมกับสีอื่น ๆ ทำให้งานของเขาในช่วงนี้มีลักษณะที่อึมครึม เขาได้รับแรงบันดาลใจในการวาดภาพลักษณะนี้จากการเดินทางผ่านประเทศสเปนและการฆ่าตัวตายของการ์ลัส กาซาแฌมัส เพื่อนของเขา แต่วาดผลงานในเมืองปารีส เขาเลือกใช้สีที่เรียบง่ายและถ่ายทอดเรื่องเศร้าโศก เช่นเรื่องโสเภณี ขอทาน ขี้เมา เป็นภาพวาดที่สะท้อนชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองปารีสที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เพื่อเป็นการเสียดสีหรือวิจารณ์สังคมในขณะนั้น เป็นต้น
ยุคสีชมพู
แก้อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1904–1906 เป็นภาพที่วาดด้วยโทนสีที่สดใส เช่น สีส้ม สีชมพู และสีเนื้อ ซึ่งเป็นโทนสีที่ตรงกันข้ามกับยุคสีน้ำเงิน ซึ่งในช่วง ค.ศ. 1904 เป็นช่วงที่เขามีความสุขจากความสัมพันธ์กับคนรักคนแรกของเขาคือ แฟร์น็องด์ ออลีวีเย และประกอบกับสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานของเขามีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เขามักวาดภาพในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับลวดลายข้าวหลามตัด นักแสดง และตัวตลกเป็นต้น
ยุคอิทธิพลแอฟริกา
แก้อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1906–1909 เป็นช่วงเวลาที่ปิกาโซได้รับอิทธิพลจากงานประติมากรรมแอฟริกาที่ถูกนำกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส เป็นผลมาจากการขยายตัวของจักรวรรดิฝรั่งเศสในแอฟริกา โดยงานประติมากรรมจากแอฟริกาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบางส่วนของการทำงานของเขา ความสนใจของเขาถูกจุดประกายโดยอ็องรี มาติส ที่แสดงให้เขาเห็นหน้ากากจากภูมิภาคในทวีปแอฟริกา โดยผลงานในช่วงยุคนี้ได้มีอิทธิพลพัฒนาส่งต่อมาช่วงบาศกนิยมอีกด้วย
ยุคบาศกนิยม
แก้บาศกนิยมเป็นยุคความเคลื่อนไหวทางศิลปะล้ำยุคในศตวรรษที่ 20 ริเริ่มโดยปิกาโซ และฌอร์ฌ บรัก ได้เปลี่ยนรูปโฉมของจิตรกรรมและประติมากรรมยุโรป รวมไปถึงดนตรีและงานเขียนที่เกี่ยวข้อง สาขาแรกของบาศกนิยมเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "บาศกนิยมแบบวิเคราะห์" (analytical cubism) เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีอิทธิพลรุนแรงและมีความสำคัญอย่างมากในฝรั่งเศส แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักระหว่าง ค.ศ. 1907–1911 ความเคลื่อนไหวในช่วงที่สองนั้นถูกเรียกว่า "บาศกนิยมแบบสังเคราะห์" (synthetic cubism) ได้แพร่กระจายและตื่นตัวจนกระทั่ง ค.ศ. 1919 เมื่อความเคลื่อนไหวของลัทธิเหนือจริงเป็นที่นิยม
ปิกาโซและบราคพยายามเน้นคุณค่าของปริมาตรกับอากาศซึ่งสัมพันธ์กันเต็มไปหมดในภาพ อีกทั้งไม่เห็นด้วยในหลักการของผู้นิยมลัทธิประทับใจ ซึ่งละเลยความสำคัญของรูปทรงและปริมาตร ศิลปินต่างสำรวจความละเอียดของสิ่งที่พวกเขาต้องการวาด ด้วยการทำลายรูปทรงเหล่านั้นให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ปะติดปะต่อกัน รูปทรงบางรูปอาจทับซ้อนกัน หรือเหลื่อมล้ำกันและกัน โดยมีจุดประสงค์สำคัญในเรื่องปริมาตรเป็นเป้าหมายสูงสุด การสร้างภาพที่มีการจัดวางแบบผสมผสานแปลกใหม่ ไม่เน้นกฎเกณฑ์ และนำเสนอภาพแง่มุมต่าง ๆ และที่สำคัญศิลปินทั้งสองเน้นว่า ผลงานบาศกนิยมไม่ใช่งานสามมิติ แต่มีมิติที่สี่เข้ามา ซึ่งได้แก่ มิติของเวลา ที่สัมพันธ์กับการรับรู้ของมนุษย์ พร้อมกันนี้อันนาสันได้เปรียบเทียบระหว่างคติโฟวิสต์กับบาศกนิยมไว้ว่า แนวทางของคติโฟวิสต์มีลักษณะการสร้างงานในการใช้สีที่โดดเด่นกว่าลัทธิอื่น แต่การนำเสนอรูปร่างของคนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่บาศกนิยมสามารถนำไปเป็นแนวทางการสร้างศิลปะลัทธิอื่น ๆ ได้ต่อไป เช่น งานโครงสร้าง (constructivism) งานเหนือจริง (surrealism) รูปแบบของบาศกนิยม เป็นต้น
ในผลงานศิลปะของบาศกนิยมนั้น วัตถุจะถูกทำให้แตกเป็นชิ้น วิเคราะห์ และประกอบกลับขึ้นมาใหม่ในรูปลักษณ์ที่เป็นนามธรรมแทนที่จะแสดงวัตถุให้เห็นจากเพียงมุมมองเดียว จิตรกรนั้นได้ถ่ายทอดวัตถุจากหลายแง่มุมเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างขึ้น บ่อยครั้งนักที่ผืนราบดูเหมือนจะตัดกันในมุมที่เป็นไปโดยบังเอิญ ปราศจากความสอดคล้องของความลึก ส่วนพื้นหลังและผืนราบแทรกเข้าไปในระหว่างกันและกันเพื่อที่จะทำให้เกิด พื้นที่ที่ไม่ชัดเจนอย่างผิวเผิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะเฉพาะของบาศกนิยม
ยุคนิยมแบบแผนและเหนือจริง
แก้ในช่วงเวลาดังต่อไปนี้เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปิกาโซเริ่มผลิตงานในรูปแบบลัทธิคลาสสิกใหม่ การ "กลับไปทำงานแบบตามสั่ง" ตามรูปแบบที่เคยมีมานี้เห็นได้ชัดในการทำงานของศิลปินชาวยุโรปจำนวนมากในช่วง ค.ศ. 1920 รวมทั้งอ็องเดร เดอแร็ง, จอร์โจ เด กีรีโก, จีโน เซเวรีนี, ศิลปินกลุ่ม น็อยเออซัคลิชไคท์ และกลุ่ม โนเวเชนโตอีตาเลียโน ภาพวาดปิกาโซและภาพวาดจากช่วงเวลานี้คล้ายคลึงกับรูปแบบผลงานของราฟาเอลและฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ เนื้อหางานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของปิกาโซคือ เกร์นิกา เป็นภาพของเขาจากการระเบิดของเยอรมนีในช่วงสงครามกลางเมืองในสเปนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ แสดงถึงความไร้มนุษยธรรมทารุณโหดร้ายและความสิ้นหวังของสงคราม
ยุคสุดท้าย
แก้ผลงานสุดท้ายของปิกาโซเป็นการผสมของรูปแบบวิธีในการแสดงออกในงานของเขาจนกระทั่งจบชีวิต ปิกาโซเพิ่มเติมและแสดงออกผลงานของเขาอย่างมีมีสีสันและจาก ค.ศ. 1968 จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1971 เขาผลิตผลงานออกมามากมายทั้งภาพวาดและแกะสลักทองแดงหลายร้อยชิ้น โดยผลงานส่วนใหญ่นั้นถูกปฏิเสธไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากเป็นผลงานที่สื่อความอย่างอนาจาร แต่ภายหลังเมื่อปิกาโซได้เสียชีวิตลง กระแสทิศทางของศิลปะก็ได้เปลี่ยนแปลงจากลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมและกระแสรูปแบบศิลปะแบบลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ใหม่ (neo-expressionism) ในเวลาต่อมา
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- The life and works of Picasso / Nathaniel Harris,UK : Parragon, 2002.
- โลกส่วนตัวของพีคัสโซ่ ศิลปินอัจฉริยะ / เดวิด ดักลาส ดันแคน ; แปลโดย ณรงค์ จันทร์เพ็ญ.,กรุงเทพฯ : แม่น้ำ, 2531
- ประวัติ ปิกาโซ
- จิตรกร ปิกาโซ