ปอนทิอัสปีลาต
ปอนทิอัสปีลาต (อังกฤษ: Pontius Pilate[b]; กรีก: Πόντιος Πιλᾶτος, อักษรโรมัน: Póntios Pilátos; ละติน: Pontius Pilatus) เป็นข้าหลวงชาวโรมันผู้ว่าการมณฑลยูเดีย (ค.ศ. 26–36 ปัจจุบันคือประเทศอิสราเอลถึงเลบานอน) ในสมัยจักรพรรดิติแบริอุส และเป็นผู้สั่งประหารพระเยซูเพราะถูกเสียงกดดันจากฝูงชนชาวยิวที่ไม่เชื่อว่าพระเยซูเป็นบุตรของพระเจ้าที่มาเรียกร้องให้ออกหมายสั่งประหารพระเยซู คริสต์ศาสนานิกายเอธิโอเปียและนิกายโบสถ์ตะวันออกนับถือปีลาตุสเป็นนักบุญ
ปอนทิอัสปีลาต | |
---|---|
เอ็กเซโฮโม ("จงดูชายผู้นั้น") ภาพโดยAntonio Ciseri | |
เจ้าเมืองยูเดียคนที่ 5 | |
ดำรงตำแหน่ง ประมาณ ค.ศ. 26 – ค.ศ. 36 | |
แต่งตั้งโดย | จักรพรรดิติแบริอุส |
ก่อนหน้า | วาเลรีอุส กราตุส |
ถัดไป | มาร์เซลลุส |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ จักรวรรดิโรมัน |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ, หลัง ค.ศ. 37 จักรวรรดิโรมัน |
คู่สมรส | ไม่ทราบ[a] |
ชื่อของปอนทิอัสปีลาตปรากฏอยู่กับชื่อทิเบริอุสในบันทึกที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อทาซิทุสไม่นานหลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จ เมื่อพูดถึงคำว่า “คริสเตียน” ทาซิทุสเขียนว่า “คริสทุส ผู้เป็นที่มาของชื่อคริสเตียนนี้ ได้รับโทษประหารชีวิตในระหว่างรัชกาลของทิเบริอุส โดยน้ำมือของปอนทิอัสปีลาตุส เจ้าเมืองคนหนึ่งของเรา”
ในปี ค.ศ. 1961 นักโบราณคดีได้ขุดค้นซากโรงละครของโรมันสมัยโบราณในซีซาเรียประเทศอิสราเอล พวกเขาพบแผ่นหินแผ่นหนึ่งซึ่งเคยใช้ในอาคารหลังอื่นมาก่อน แผ่นหินนั้นมีชื่อของปีลาตสลักไว้อย่างชัดเจนในภาษาละติน ข้อความนั้นเขียนว่า “ปอนทิอัสปีลาต ผู้สำเร็จราชการของยูเดียขออุทิศทิเบริอุม (อาคารหลังนี้) ให้เป็นเกียรติแก่พระเจ้าต่าง ๆ”
“ปีลาตผู้ช่างสงสัยและชอบถากถาง เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คนจวบจนบัดนี้ บางคนถือว่าเขาเป็นนักบุญ ส่วนคนอื่น ๆ มองว่าเขาเป็นตัวอย่างของความอ่อนแอของมนุษย์ เป็นต้นแบบของนักการเมืองที่เต็มใจจะแลกชีวิตของใครคนหนึ่งกับความมีเสถียรภาพทางการเมือง.”—ปนเตียว ปีลาต (ภาษาอังกฤษ) โดยแอน โร.
ทิเบริอุส จักรพรรดิโรมันแต่งตั้งปีลาตเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลจูเดียในปีสากลศักราช 26 คนที่จะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสูงนี้คือคนที่เป็นทหารม้า—ขุนนางระดับล่าง ซึ่งต่างจากขุนนางชั้นสูงที่มีตำแหน่งในสภา ดูเหมือนว่า ปีลาตเคยเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งนายพันหรือหัวหน้าระดับล่าง และไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการขณะที่เขาอายุไม่ถึง 30 ปี
เมื่อสวมเครื่องแบบทหาร ปีลาตคงจะใส่เสื้อหนังและสวมเกราะ เมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะ เขาสวมชุดยาวสีขาวที่มีชายเสื้อสีม่วง เขาคงจะตัดผมสั้นและโกนหนวดเคราเรียบร้อย แม้บางคนเชื่อว่าเขามาจากสเปน แต่ชื่อของเขาบ่งบอกว่ามาจากตระกูลปอนติ ซึ่งเป็นชาวแซมไนต์ ชนชั้นสูงที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี
ตามปกติแล้ว ตำแหน่งนี้ทำให้ปีลาตต้องถูกส่งไปยังเขตที่ห่างไกลความเจริญ โรมถือว่าจูเดียเป็นเขตแบบนั้น นอกจากจะดูแลความสงบเรียบร้อยแล้ว ปีลาตต้องดูแลการเก็บภาษีทางอ้อมและภาษีรายหัว ศาลของชาวยิวจะดูแลการตัดสินคดีทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าเป็นคดีที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตจะต้องอยู่ในความดูแลของผู้สำเร็จราชการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิพากษา
ปีลาตและภรรยาอาศัยอยู่ในซีซาเรียซึ่งเป็นเมืองท่า โดยมีเพื่อนฝูง, เจ้าหน้าที่อาลักษณ์, และผู้ส่งสารอยู่ไม่กี่คน ปีลาตเป็นผู้บัญชาการทหารห้ากองพันที่ประกอบด้วยทหารราบ 500 ถึง 1,000 นาย รวมทั้งทหารม้าซึ่งดูเหมือนว่ามีจำนวน 500 นาย ตามปกติแล้ว ทหารของปีลาตมีหน้าที่ประหารพวกที่กระทำผิดกฎหมาย ในยามสงบ การประหารชีวิตจะเกิดขึ้นหลังจากมีการไต่สวนคร่าว ๆ แต่ในยามที่เกิดการจลาจล ผู้ก่อการกบฏจะถูกฆ่าทิ้งทันทีและเป็นการสังหารหมู่ ตัวอย่างเช่น ทหารโรมันได้ประหารทาสถึง 6,000 คนเพื่อจะยุติการกบฏที่นำโดยสปาร์ตาคุส หากเกิดความวุ่นวายในจูเดีย ตามปกติแล้วผู้สำเร็จราชการจะขอความช่วยเหลือจากตัวแทนของจักรพรรดิซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพทหารขนาดใหญ่ที่ประจำอยู่ในซีเรีย อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ปีลาตปกครองจูเดีย ตัวแทนของจักรพรรดิไม่ค่อยอยู่ที่ซีเรีย และปีลาตก็ต้องยุติความวุ่นวายโดยเร็ว
ผู้สำเร็จราชการจะต้องรายงานสภาพการณ์ต่าง ๆ ให้จักรพรรดิทราบเป็นประจำ เรื่องที่มีผลกระทบต่อพระเกียรติของจักรพรรดิหรือเป็นภัยต่อการปกครองของโรมจะต้องมีการรายงานให้จักรพรรดิทราบและพระองค์ก็จะออกคำสั่ง ผู้สำเร็จราชการอาจรีบรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมณฑลของตนก่อนที่คนอื่นจะร้องเรียนเรื่องนี้กับจักรพรรดิ ฉะนั้น เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในจูเดีย ปีลาตจึงรู้สึกหนักใจอย่างยิ่ง
นอกจากเรื่องราวในกิตติคุณแล้ว นักประวัติศาสตร์ฟลาวิอุส โยเซฟุสและฟิโลก็เป็นผู้ที่บันทึกเรื่องราวที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีลาต นอกจากนี้ ทาซิทุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันกล่าวว่าปีลาตเป็นผู้สั่งประหารพระคริสต์ ซึ่งคริสเตียนได้ชื่อมาจากพระคริสต์ผู้นี้
ตามที่โยเซฟุสกล่าวไว้ เนื่องจากชาวโรมันทราบดีว่าชาวยิวไม่ใช้รูปเคารพ ผู้สำเร็จราชการโรมันคนอื่น ๆ เคยหลีกเลี่ยงการนำธงสัญลักษณ์ประจำกองทัพที่มีรูปจักรพรรดิเข้ามาในกรุงเยรูซาเลม เนื่องจากปีลาตไม่สนใจเรื่องนี้ ชาวยิวที่โกรธแค้นจึงรีบไปที่ซีซาเรียเพื่อร้องเรียน ปีลาตปล่อยให้เวลาผ่านไปประมาณห้าวัน วันที่หก เขาสั่งให้ทหารล้อมพวกผู้ต่อต้านและขู่ว่าจะประหารชีวิตถ้าไม่ยอมสลายการชุมนุม เมื่อพวกยิวกล่าวว่าพวกเขายอมตายดีกว่ายอมให้พระบัญญัติถูกละเมิด ปีลาตจึงยอมและสั่งให้นำรูปเคารพออกไป
ปีลาตชอบใช้กำลัง ในเหตุการณ์หนึ่งที่โยเซฟุสบันทึกไว้ ปีลาตเริ่มโครงการทำท่อส่งน้ำเพื่อลำเลียงน้ำเข้าไปใช้ในกรุงเยรูซาเลม และต้องการใช้เงินจากตู้เก็บเงินถวายในพระวิหารเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการนี้ ปีลาตไม่ได้ยึดเงินจากพระวิหาร เพราะเขารู้ว่าการปล้นพระวิหารเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และอาจเป็นเหตุให้ชาวยิวที่โกรธแค้นไปฟ้องร้องต่อทิเบริอุสเพื่อขอให้ส่งเขากลับโรม ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าปีลาตได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในพระวิหาร เนื่องจากเป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะนำ “โกระบัน” หรือเงินถวายไปใช้เพื่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของเมือง แต่ชาวยิวหลายพันคนที่โกรธแค้นได้รวมตัวกันเพื่อประท้วง
ปีลาตส่งกองทหารเข้าไปเดินปะปนกับฝูงชนโดยมีคำสั่งไม่ให้พวกทหารใช้ดาบ แต่ให้ใช้กระบองตีพวกผู้ต่อต้านแทน ดูเหมือนว่า เขาต้องการควบคุมฝูงชนที่ก่อความวุ่นวายโดยไม่ต้องการยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ นี่ดูเหมือนได้ผลตามที่ต้องการแม้มีบางคนเสียชีวิต บางคนที่เล่าให้พระเยซูฟังว่า ปีลาตเอาเลือดของชาวแกลิลี (ฆาลิลาย) บางคนระคนกับเครื่องบูชาของเขา อาจพาดพิงถึงเหตุการณ์นี้—ลูกา 13:1
เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของปีลาตเสื่อมเสีย คือคราวที่เขาสอบสวนพระเยซูเนื่องจากพวกปุโรหิตใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวหาว่าพระองค์อ้างตนเป็นกษัตริย์ เมื่อได้ฟังว่าพระเยซูมาเพื่อเป็นพยานถึงความจริง ปีลาตจึงเห็นว่านักโทษผู้นี้ไม่เป็นภัยคุกคามต่อโรม คำถามที่ปีลาตถามว่า “ความจริงคืออะไรเล่า?” แสดงให้เห็นว่าเขาคิดว่าความจริงเป็นแนวคิดที่หาข้อสรุปไม่ได้และไม่น่าจะมาเสียเวลากับเรื่องนี้ เขาสรุปอย่างไร? “เราไม่เห็นว่าคนนั้นมีความผิด”—โยฮัน 18:37, 38; ลูกา 23:4
การพิจารณาคดีพระเยซูน่าจะจบลงตรงนั้น แต่พวกยิวยืนกรานว่าพระองค์กำลังบ่อนทำลายชาติ ความอิจฉาเป็นเหตุให้พวกปุโรหิตใหญ่มอบพระเยซูให้กับเจ้าหน้าที่โรมัน และปีลาตก็รู้เรื่องนี้ดี เขายังรู้ด้วยว่า การปล่อยพระเยซูไปจะยิ่งสร้างความวุ่นวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการหลีกเลี่ยง ที่จูเดียก็มีความวุ่นวายมากพออยู่แล้วเนื่องจากบาระบาและคนอื่น ๆ ถูกจำคุกเพราะการก่อกบฏและฆาตกรรม (มาระโก 15:7, 10; ลูกา 23:2) ยิ่งกว่านั้น เรื่องที่ปีลาตมีข้อขัดแย้งกับชาวยิวก่อนหน้านี้ทำให้ชื่อเสียงของปีลาตมัวหมองเฉพาะพระพักตร์ทิเบริอุส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าชอบใช้มาตรการรุนแรงจัดการกับผู้สำเร็จราชการที่ไม่ดี กระนั้น การยอมทำตามที่พวกยิวขอก็แสดงให้เห็นความอ่อนแอ ดังนั้น ปีลาตจึงเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
เมื่อได้ยินว่าพระเยซูมาจากมณฑลใด ปีลาตจึงพยายามส่งเรื่องไปให้เฮโรด อันติปา ซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นแกลิลี เมื่อไม่เป็นผล ปีลาตจึงพยายามโน้มน้าวคนที่รวมตัวกันอยู่ข้างนอกเพื่อขอให้ปล่อยพระเยซูไป โดยอาศัยธรรมเนียมการปล่อยนักโทษในวันปัศคา ฝูงชนตะโกนออกมาว่าให้ปล่อยบาระบา—ลูกา 23:5-19
ปีลาตอาจต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่เขาก็ต้องการปกป้องตำแหน่งของตนและต้องการทำให้ฝูงชนพอใจด้วย ในที่สุด เขาถือว่าตำแหน่งของตนสำคัญกว่าสติรู้สึกผิดชอบและความยุติธรรม ปีลาตขอน้ำล้างมือและอ้างว่าเขาไม่มีส่วนในความผิดเกี่ยวกับความตายที่ตอนนี้เขาได้อนุมัติไป* แม้ปีลาตเชื่อว่าพระเยซูไม่มีความผิด แต่เขาก็สั่งให้เฆี่ยนพระเยซูและปล่อยให้พวกทหารเยาะเย้ย, โบยตี, และถ่มน้ำลายรดพระองค์—มัดธาย 27:24-31
ปีลาตใช้ความพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะปล่อยพระเยซู แต่ฝูงชนตะโกนว่าถ้าทำอย่างนั้นปีลาตก็เป็นศัตรูกับซีซาร์ (โยฮัน 19:12) เมื่อได้ยินเช่นนั้น ปีลาตจึงยอมทำตามที่พวกยิวเรียกร้อง ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับการตัดสินใจของปีลาตว่า “การแก้ปัญหานั้นทำอย่างง่าย ๆ นั่นคือประหารชีวิตชายคนนั้น อย่างมากที่สุดก็แค่เสียชาวยิวคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนสำคัญอะไร ซึ่งคงเป็นเรื่องโง่เขลาหากจะยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเพราะชายคนนั้น”
เหตุการณ์สุดท้ายที่มีบันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของปีลาตนั้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่ง โยเซฟุสกล่าวว่า ชาวซะมาเรียหลายคนพร้อมอาวุธได้มารวมตัวกันบนภูเขาเกริซิม (ฆะรีซีม) โดยหวังจะพบสมบัติที่คิดกันว่าโมเซฝังไว้ที่นั่น ปีลาตเข้าแทรกแซงและทหารของเขาก็สังหารคนเป็นอันมาก ชาวซะมาเรียได้ฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าปีลาต นั่นคือลูคิอุส วิเทลลิอุส ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการของซีเรีย ไม่มีบันทึกที่ช่วยให้เรารู้ว่า วิเทลลิอุสคิดอย่างไรที่ปีลาตทำเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะอย่างไร วิเทลลิอุสสั่งให้ปีลาตกลับไปกรุงโรมเพื่อให้การต่อจักรพรรดิเกี่ยวกับการกระทำของเขา อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ปีลาตจะมาถึงโรม ทิเบริอุสก็เสียชีวิตแล้ว
แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “ตั้งแต่นั้นมา เอกสารทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวถึงปีลาตอีกเลย แต่มีเรื่องเล่ามากมายที่กล่าวถึงตัวเขา” หลายคนพยายามจะแต่งเติมรายละเอียดที่ขาดหายไป บางคนอ้างว่าปีลาตเข้ามาเป็นคริสเตียน “คริสเตียน” ออร์โทด็อกซ์ในเอธิโอเปียยกให้เขาเป็น “นักบุญ” ยูเซบิอุส ซึ่งเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ช่วงปลายศตวรรษที่สามและต้นศตวรรษที่สี่สากลศักราช เป็นคนแรกในหลาย ๆ คนที่กล่าวว่า ปีลาตฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับยูดาอิศการิโอด อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับปีลาต
ปีลาตอาจเป็นคนดันทุรัง, ไม่จริงจัง, และชอบกดขี่ แต่เขาก็เป็นผู้สำเร็จราชการในจูเดียราว ๆ สิบปี ในขณะที่ข้าหลวงในจูเดียส่วนใหญ่อยู่ไม่นานเท่าเขา ด้วยเหตุนั้น สำหรับทัศนะของชาวโรมันแล้ว ปีลาตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาถูกเรียกว่าคนขี้ขลาดเพราะต้องการปกป้องตัวเองอย่างน่าตำหนิโดยยอมให้พระเยซูถูกตรึงบนหลักทรมานจนสิ้นพระชนม์ ส่วนคนอื่น ๆ แย้งว่า ปีลาตไม่มีหน้าที่รักษาความยุติธรรม แต่เขามีหน้าที่ส่งเสริมสันติสุขและผลประโยชน์ของโรม
สมัยของปีลาตต่างจากสมัยของเรามาก กระนั้น คงไม่มีผู้พิพากษาคนใดมีเหตุผลสมควรที่จะพิพากษาโทษชายที่ไม่ได้กระทำผิด ถ้าปีลาตไม่ได้พบพระเยซู เขาอาจไม่ได้เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกบันทึกชื่อไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ก็ได้
หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Demandt 1999, p. 162.
- ↑ Grüll 2010, p. 168.
- ↑ Hourihane 2009, p. 415.
- ↑ Olausson & Sangster 2006.
- ↑ Milinovich 2010.
- ↑ Jones 2006.