ปาเนตโตเน
ปาเนตโตเน (อิตาลี: panettone) หรือ ปาเนตูง (มิลาน: panetton)[2] เป็นขนมปังหวานและฟรุตเค้กชนิดหนึ่งในตำรับอาหารอิตาลี มีต้นกำเนิดจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มักทำและรับประทานกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ในยุโรปตะวันตก ยุโรปใต้ และยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในอเมริกาใต้ เอริเทรีย[3] ออสเตรเลีย สหรัฐ และแคนาดา[4]
ชื่ออื่น | ปาเนตูง |
---|---|
ประเภท | เค้กใส่ยีสต์[1] |
แหล่งกำเนิด | อิตาลี |
ภูมิภาค | มิลาน แคว้นลอมบาร์เดีย |
ส่วนผสมหลัก | แป้ง, ผลไม้เชื่อม, ลูกเกด |
ปาเนตโตเนมีรูปทรงคล้ายโดมที่นูนขึ้นจากฐานทรงกระบอก โดยทั่วไปขนมที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (2 ปอนด์) จะมีความสูงประมาณ 12–15 เซนติเมตร (4½–6 นิ้ว) นอกจากฐานทรงกระบอกแล้วยังอาจใช้ฐานรูปแบบอื่น เช่น รูปแปดเหลี่ยมหรือรูปดาวยอดตัด (ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในปันโดโร) การทำปาเนตโตเนนั้นใช้กระบวนการยาวนาน เริ่มจากการบ่มแป้งที่มีสภาพเป็นกรดคล้ายกับแป้งหมัก การปล่อยให้ขึ้นฟูเพียงอย่างเดียวก็กินเวลาหลายวัน แต่เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ได้เนื้อขนมที่นุ่มเป็นเอกลักษณ์ ส่วนผสมสำคัญที่ใส่ลงไปคือผิวส้มเชื่อม ผิวมะงั่วเชื่อม และผิวเลมอนเชื่อม รวมถึงลูกเกดซึ่งมักใส่แบบแห้งและไม่แช่น้ำ มีรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายให้เลือก เช่น แบบเรียบหรือใส่ช็อกโกแลต ขนมนี้เสิร์ฟเป็นชิ้นรูปลิ่มโดยตัดในแนวตั้ง และมักเสิร์ฟกับเครื่องดื่มร้อนรสหวานหรือไวน์หวานอย่างไวน์อัสตีและมอสกาโตดัสตี ในบางภูมิภาคของอิตาลีเสิร์ฟพร้อมกับเกรมาอัลมัสการ์โปเน ซึ่งเป็นครีมที่ได้จากการผสมไข่ มัสการ์โปเน และเหล้าหวานเข้าด้วยกัน
ในปัจจุบันมีความพยายามผลักดันให้ปาเนตโตเนได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งกำเนิดที่ได้รับการคุ้มครอง (protected designation of origin) และแหล่งกำเนิดที่ได้รับการควบคุม (denominazione di origine controllata) แต่ยังไม่สำเร็จ[5] ปาโอโล เด กัสโตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรอิตาลี เป็นผู้หนึ่งที่พยายามหาแนวทางปกป้องปาเนตโตเนของอิตาลีจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอเมริกาใต้ และกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการผ่านองค์การการค้าโลก[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
แก้- ↑ Davidson, Alan (2014). The Oxford Companion to Food. Oxford University Press. p. 590. ISBN 9780199677337.
- ↑ Cherubini, Francesco (1841). Vocabolario milanese-italiano (ภาษาอิตาลี และ ลอมบาร์ด). Vol. 3. p. 164.
- ↑ "Christmas in Eritrea".
- ↑ "Negli Usa tutti pazzi per il panettone, è boom vendite". Ansa (ภาษาอิตาลี). 4 December 2017.
- ↑ "EU agricultural product quality policy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2009. สืบค้นเมื่อ 6 December 2008.