ปางปาลิไลยก์ [1] (มักสะกดผิดเป็น ป่าเลไลย ป่าเลไลย์ ป่าเลไลยก์ ฯลฯ) เป็นพระพุทธรูปอยู่อิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มีรูปช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ และ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

ประวัติ

แก้

พระภิกษุในวัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้สอนยาก พระพุทธเจ้าทรงระอาพระทัยจึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะคอยปรนนิบัติ เมื่อลิงเห็นเข้าก็นำรวงผึ้งไปถวายบ้างแต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่รับเพราะว่าในรวงผึ้งมีตัวอ่อนอยู่เมื่อลิงรู้ดังนั้นก็ดึงตัวอ่อนออกจากรวงผึ้งแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าอีกครั้ง พระพุทธเจ้ารับรวงผึ้งที่ลิงนำมาถวาย ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์รับอาราธนาจึงเสด็จกลับ ในขณะที่พระพุทธองค์และคณะหมู่สงฆ์กำลังจะออกจากป่า พญาช้างได้เดินตามพระพุทธองค์แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามและตรัสให้กลับไปอยู่ป่าทำให้พญาช้างเสียใจล้มลงขาดใจตายไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์(ส่วนลิงที่ถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้าได้ตกจากต้นไม้จนทิ่มตอไม้แหลมตาย แต่บุญกุศลที่ทำไว้ก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์เช่นกัน) บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายากเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด

ความเชื่อและคตินิยม

แก้
  • เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธกลางคืน
  • พระคาถาบูชา สวด 12 จบ

กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโบ อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฎฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ จันทิมันติฯ

อ้างอิง

แก้
  1. ปาลิไลยก์ มาจากภาษาบาลี ปาลิเลยยกะ หมายถึงชื่อป่าแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จอาศัยอยู่ และเป็นชื่อช้างซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล