ปั้น อุปการโกษากร

ปั้น อุปการโกษากร หรือ ปั้น ณ สงขลา เป็นศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมน์วัดแจ้งและวัดศาลาหัวยาง จังหวัดสงขลา และวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร มีถนนที่ตั้งชื่อตามนามท่านคือ ถนนปั้น เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนสีลม กับถนนสาทรเหนือ

ปั้น อุปการโกษากร
เสียชีวิตพ.ศ. 2451
สัญชาติสยาม
คู่สมรสหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย)
บุตร7 คน
บุพการีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)
ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ธิดาพระยารัตนโกษา (บุญเกิด)

ครอบครัว แก้

ท่านปั้นเป็นธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 กับท่านผู้หญิงสุทธิ์ ธิดาพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ได้แก่ พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) คุณกลิ่น คุณกุหลาบ เจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 และท่านปั้น

ท่านปั้นสมรสกับหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งเป็นคหบดีค้าขายเรือสำเภา มีบุตรธิดา ด้วยกัน 7 คน ได้แก่

  1. คุณหญิงสมบุญ วิเชียรคีรี ภริยาพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 8
  2. คุณหญิงบุญรอด สุรบดินทร์สุรินทรฤๅชัย ภริยาเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฤๅชัย (พร จารุจินดา)
  3. นางเชื้อ อนันตสมบัติ ภริยาพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา
  4. มหาอำมาตย์โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย)
  5. คุณหญิงเป้า เพชรกำแหงสงคราม ภริยาพระยาเพชรกำแหงสงคราม (มะลิ ยุตะนันท์)
  6. พระกรณีศรีสำรวจ (แดง วัชราภัย)
  7. คุณหญิงตาบ ศรีสังกร ภริยาพระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์)

ศาสนูปถัมภก แก้

มารดาของท่านปั้น ท่านผู้หญิงสุทธิ์ เป็นผู้สร้างพระอุโบสถที่วัดแจ้งและวัดศาลาหัวยาง และยังได้สร้างอุโบสถวัดสุทธิวราราม โดยมีท่านปั้นและครอบครัวเป็นผู้อุปัฏฐากวัดดังกล่าวต่อมาโดยตลอด ภายหลังที่ท่านปั้นถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย ทายาทได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนขึ้นในที่ดินเดิมของท่านปั้นที่ได้ยกให้แก่วัด ชื่อว่า "โรงเรียนวัดสุทธิวราราม"[1]

พระราชนิยมในการสร้างโรงเรียนแทนวัดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระดำริว่า

"...ตกลงกันเห็นว่า สถานที่ศึกษาเปนสิ่งสำคัญอันเปนประโยชน์ให้กุลบุตร์ได้อาศรัยเล่าเรียน ซึ่งเปนเวลาต้องการของบ้านเมืองด้วย และเมื่อปั้นยังมีชีวิตอยู่ได้เปนมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามตลอดมาจนถึงแก่กรรม จึงคิดสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดนี้ ..เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ใช้สถานที่นี้กระทำการฌาปนกิจศพปั้น แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้แล้ว แลได้มอบตึกหลังนี้แก่กรมศึกษาธิการใช้เปนสถานศึกษาตามที่เจตนาไว้ กรมศึกษาธิการได้รับแลเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยม เรียกว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษวัดสุทธิวราราม” รับนักเรียนเข้าเล่าเรียนตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เปนต้นไป บรรดาผู้ที่ออกทรัพย์ก่อสร้างโรงเรียนขอพระราชทานถวายพระราชกุศล"

[2]

ภายหลังยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กระทรวงธรรมการเชิญกระแสพระราชดำริและพระราชนิยมว่าด้วยเรื่องสร้างโรงเรียนแทนวัดออกประกาศให้มหาชนได้ทราบทั่วกันด้วย นอกจากนั้นที่ดินถนนหนึ่งที่ตัดกับถนนสีลมคือถนนปั้นก็ตั้งชื่อตามท่านปั้นตามที่ดินเก่าของท่าน[3] ซึ่งภายหลังได้แลกที่ดินกับนายนารายเจติ และนายโกบาระตี ที่ดินเพื่อตั้งศาสนสถานถาวรคือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี[4]

อ้างอิง แก้

  1. "ท่านปั้น อุปการโกษากร (วัชราภัย)". ชมรมสายสกุล ณ สงขลา.
  2. "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๒)".
  3. pongsakornlovic (2011-03-22). "CHN 271 ถนนปั้น". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
  4. "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) Maha Uma Devi Temple". สำนักงานเขตบางรัก.