ปลาอัลลิเกเตอร์

ปลาอัลลิเกเตอร์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Lepisosteiformes
วงศ์: Lepisosteidae
สกุล: Atractosteus
สปีชีส์: A.  spatula
ชื่อทวินาม
Atractosteus spatula
(Lacépède, 1803)
ชื่อพ้อง[1]
  • Lepisosteus spatula Lacépède, 1803
  • Atractosteus adamantinus Rafinesque, 1818

ปลาอัลลิเกเตอร์ หรือ ปลาจระเข้ (อังกฤษ: Alligator gar; ชื่อวิทยาศาสตร์: Atractosteus spatula[1]) เป็นปลากินเนื้อน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาการ์[2]

มีลักษณะเด่น คือ มีส่วนปากยาวคล้ายกับจระเข้หรืออัลลิเกเตอร์ รูปร่างกลมยาว ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา มีครีบเล็กใต้ท้อง 2 ครีบคู่ ใต้ท้องสีขาว บริเวณปลายหาง ใกล้หางมีครีบใหญ่อีก 2 ครีบ ซึ่งโคนหางด้านบนมีขนาดใหญ่กว่าโคนหางด้านล่างอย่างเห็นได้ชัดเจน ครีบหางกลมมนเป็นรูปพัด เป็นปลาที่กระจายพันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ หรือทะเลสาบ ของสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ เช่น รัฐฟลอริดา และหลุยส์เซียนา[3][4]

ปลาอัลลิเกเตอร์มีปากเรียวยาวเหมือนอัลลิเกเตอร์ ที่ภายในมีฟันที่แหลมคม 2 แถว ประมาณ 500 ซี่ ใช้สำหรับงับเหยื่อก่อนที่จะกลืนลงไป เกล็ดของปลาอัลลิเกเตอร์มีความหนาและแข็ง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนเพชร มีสารเหมือนกับสารเคลือบฟันเคลือบอยู่ มีความคมเมื่อถูจะถูกบาดทำให้เกิดบาดแผลได้ อินเดียนแดง ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของอเมริกาใช้เกล็ดของปลาอัลลิเกเตอร์ทำเป็นหัวลูกศร[4]

ปลาอัลลิเกเตอร์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพต่ำ มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ เช่น น้ำที่ขุ่นข้นสภาพพื้นน้ำเป็นโคลน เนื่องจากมีถุงลมที่ทำหน้าที่เสมือนปอดช่วยในการหายใจ ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศบนผิวน้ำได้[3] [4]

ขนในฤดูร้อน
หน้าตรง
Winter coat
ตัวที่เป็นพลาตินั่ม

ปลาอัลลิเกเตอร์ ถือกำเนิดขึ้นมานานกว่า 100 ล้านปีแล้ว ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยขนาดลำตัวที่ใหญ่และเกล็ดที่แข็งแรงทำให้ปรับตัวและอยู่รอดได้มาจนถึงปัจจุบัน[4]

ปลาอัลลิเกเตอร์มีความยาวโดยเฉลี่ยได้ถึง 6–7 ฟุต น้ำหนักมากกว่า 100 ปอนด์ มีอายุขัยได้มากถึง 60 ปี ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ แต่ก็มีคำกล่าวอ้างจากนักตกปลาพื้นถิ่นว่าเคยพบเห็นตัวที่ยาวถึง 14 ฟุต ในปี ค.ศ. 1987 และในปี ค.ศ. 1910 ที่รัฐมิสซิสซิปปี มีผู้จับตัวที่มีความยาวถึง 10 ฟุตได้ จึงจัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในสหรัฐอเมริกา และเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก[4]

ตัวที่มีความยาว 10 ฟุต ในปี ค.ศ. 1910[4]

ด้วยขนาดที่ใหญ่และรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ทำให้ปลาอัลลิเกเตอร์เป็นที่ร่ำลือว่าทำร้ายมนุษย์ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในฤดูร้อน ค.ศ. 1932 ที่หลุยส์เซียนา มีรายงานว่าเด็กผู้หญิงรายหนึ่งถูกปลาอัลลิเกเตอร์ทำร้ายที่ขา ขณะที่เธอลงไปใกล้ทะเลสาบพร้อมกับพี่ชายวัย 13 ขวบของเธอ แพทย์ที่ทำการรักษาเธอ เป็นแพทย์มานานกว่า 40 ปี ได้บันทึกไว้ว่าไม่เคยเห็นบาดแผลที่เหวอะหวะแบบนี้มาก่อน เหมือนกับเข็มหยาบ ๆ ที่เจาะทะลุกระดาษ ซึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานตามคำบอกเล่าของพี่ชายเธอว่า เป็นการกระทำของปลาอัลลิเกเตอร์ความยาว 7 ฟุต[4]

ก่อนทศวรรษที่ 30 ปลาอัลลิเกเตอร์ยังพบได้กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1933 คณะกรรมการตกปลาเท็กซัสได้มีมติล่าทำลายปลาอัลลิเกเตอร์ครั้งใหญ่ เนื่องจากถูกพิจารณาว่าเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของปลาพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ เนื่องจากปลาอัลลิเกเตอร์เป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่ ที่อาจหากินได้วันละ 2 ครั้ง กินอาหารมากกว่าขนาดน้ำหนักตัวของตัวเอง 3 ทศวรรษผ่านไป มีปลาอัลลิเกเตอร์นับล้านตัวที่ถูกกำจัดไป [4]

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปลาอัลลิเกเตอร์เป็นปลาที่ไม่ดุร้าย ไม่ทำร้ายหรือกินมนุษย์เป็นอาหาร แต่จะกินปลาต่าง ๆ เป็นอาหาร รวมถึงสัตว์ปีกเช่น นกเป็ดน้ำ ได้ด้วย แต่จะกินอาหารชิ้นที่พอที่จะกลืนลงไปได้เท่านั้น เมื่อจับเหยื่อได้แล้วกรามจะล็อกแน่นเพื่อไม่ให้เหยื่อดิ้นหลุด เนื่องจากส่วนหัวมีเนื้อที่ยึดติดกับแผ่นเกล็ดที่แข็งเหมือนเกราะติดกับข้อต่อส่วนคอทำให้แลดูส่วนลำคอลาดโค้ง ทำให้มีแรงงับจำนวนมาก ก่อนที่จะกลืนเหยื่อลงไปในคอ หากจับได้แล้วเหยื่อยังไม่ตาย ก็จะรอให้ตายเสียก่อน[4]

ปัจจุบันจึงทำให้ปลาอัลลิเกเตอร์หลงเหลือเฉพาะภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และถูกอนุรักษ์ ปลาอัลลิเกเตอร์เป็นปลาที่นิยมตกเป็นเกมกีฬา โดยมักจะตกได้ในช่วงพลบค่ำก่อนพระอาทิตย์จะตก โดยใช้เหยื่อเป็นชิ้นปลาเช่น ปลาบัฟฟาโล ซึ่งเป็นปลาซัคเกอร์ชนิดหนึ่ง และนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม และจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน สามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว จนกระทั่งมีปลาที่มีสีแตกต่างจากปลาดั้งเดิมในธรรมชาติ เช่น ปลาพลาตินั่ม ที่มีลำตัวสีขาวแวววาว ซึ่งมีราคาแพงกว่าปลาปกติหลายเท่า มีปลาที่ถูกเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ เมื่อโตขึ้นมา ผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แหล่งกำเนิดดั้งเดิมในหลายพื้นที่ เช่น จีน[5] รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ได้[3] [4] [6]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Atractosteus spatula". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. http://www.cybrilliant.com/trueoceanworld/show_animals.php?lang=th&cate=4&id=49[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 คนกรุงเก่าแตกตื่นจับปลาจระเข้ยาว2เมตร จากเดลินิวส์
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 Alligator Gar, "River Monsters". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
  5. ปลาปากจระเข้ จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  6. น้ำท่วมแนะระวัง'ปลาปากจระเข้' จากคมชัดลึก

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Atractosteus spatula ที่วิกิสปีชีส์