ปลาช่อนข้าหลวง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  marulioides
ชื่อทวินาม
Channa marulioides
(Bleeker, 1851)

ปลาช่อนข้าหลวง หรือ ปลาช่อนทอง (อังกฤษ: Emperor snakehead) เป็นปลาช่อนชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa marulioides อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีลักษณะคล้ายปลาช่อนงูเห่า (C. aurolineatus หรือ C. marulius) แต่ลำตัวสั้นป้อมกว่า ลำตัวสีเขียวอ่อน และมีลายสีเหลืองทองส้มสลับกับแต้มสีดำ ครีบมีจุดประสีเหลืองสด ท้องสีจาง

ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้เท่านั้น โดยเป็นปลาที่พบได้น้อยบริเวณเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพบชุกชุมที่มาเลเซีย พบได้จนถึงอินโดนีเซีย เช่น เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว มักอาศัยตามแม่น้ำสายใหญ่หรือลำธารขนาดใหญ่ในป่าหรือพรรณไม้ชายฝั่งหนาแน่น โดยจะหลบอยู่ใต้ร่มเงาของไม้นั้น

เป็นปลาที่พบได้ไม่ยาก แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าจะนำมาบริโภค และมีราคาขายที่ค่อนข้างสูง โดยปลาที่พบที่เขื่อนรัชชประภาของไทยจะมีสีเหลืองสดสวยกว่าปลาที่พบในมาเลเซีย นอกจากนี้แล้วปลาที่พบในอินโดนีเซียบางแหล่ง ยังมีสีดำสนิทเหลือบสีฟ้า ซึ่งปลาจำพวกนี้บางครั้งพบว่าใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa melanoptera (Bleeker, 1855) ซึ่งเป็นปลาช่อนข้าหลวงที่มีครีบหลังสีดำ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นชื่อพ้องกัน เนื่องจากปลาที่พบในแต่ละแหล่งสามารถปรับสีลำตัวได้ตามสภาพอารมณ์หรือสภาพแวดล้อม[1]

อ้างอิง แก้

  1. หน้า 115-116, CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition" โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์ และชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 42: ธันวาคม 2013

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Channa marulioides ที่วิกิสปีชีส์