ปราสาทโดเวอร์ (อังกฤษ: Dover Castle) เป็นป้อมปราการและพระราชวังสร้างในสมัยศตวรรษที่ 11 ตั้งอยู่บนเนินติดกับหน้าผาสีขาวด้านทิศตะวันออกของเมืองโดเวอร์ แคว้นเคนต์ ซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านในอดีต  ทำให้ปราสาทนี้ได้ชื่อว่าประตูสู่อังกฤษ หรือกุญแจสู่อังกฤษ[1][2] ตัวปราสาทประกอบด้วยหอรบขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ล้อมรอบด้วยกำแพงฉนวนชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก[3] จึงถือได้ว่าเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ปัจจุบันปราสาทอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานศิลปากรแห่งชาติอังกฤษ (English Heritage)

ภาพมุมสูงของปราสาทโดเวอร์ ถ่ายจากด้านตะวันตก แลเห็นหอรบ กำแพงฉนวนใน ประภาคารสมัยโรมัน และกำแพงฉนวนนอก

  ประวัติ

แก้

เมืองโดเวอร์เป็นเมืองหน้าด่านตั้งประจันหน้าเมืองดันเคิร์ก (หรือ เดิงแกร์ก) ในฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในท่าเรือทั้งห้าหรือซิงก์พอตส์ (cinque ports)[ม 1] ซึ่งสถาปนาในสมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต ในอดีตเมื่อผู้ใดจะเดินทางจากยุโรปภาคพื้นทวีปเข้าสู่เกาะอังกฤษจะต้องแลเห็นเมืองนี้ก่อนเสมอ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ปราสาทโดเวอร์ก็ถูกสร้างขึ้น ประกอบด้วยหอรบขนาดใหญ่เป็นพิเศษ หุ้มรอบด้วยกำแพงฉนวนใน และกำแพงฉนวนนอกหลังจากที่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ออกพระราชโองการแมกนาคาร์ตาอันขัดกับพระราชประสงค์แล้ว บรรดาขุนนางที่ต้องการจะล้มราชบัลลังก์ก็ก่อกบฏขึ้น โดยทูลเชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสให้ก่อสงคราม เรียกว่า สงครามขุนนางครั้งที่หนึ่ง ครานั้นเอง มีการสู้รบกันที่ปราสาทโดเวอร์ โดยมีการพยายามขุดใต้หอรบและปราสาทแต่ก็ล้มเหลว ต่อมาครั้นถึงสมัยสงครามนโปเลียน ได้มีการสร้างอุโมงค์ใต้ดินสำหรับให้พลทหารอาศัย เมื่อร้างราสงครามอุโมงค์ก็ว่างลง จนกระทั่งถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เปิดใช้อุโมงค์ดังกล่าวอีกครั้งโดยติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ โต๊ะบังคับการปืนใหญ่ต่อสู้อากศยาน และโต๊ะบังคับการเรือ ณ ที่นี้เอง เบอร์แทรม แรมเซย์ (Bertram Ramsay) ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นพลเรือโท ได้บัญชาการการอพยพทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถอยร่นจากฝ่ายนาซีเยอรมัน ช่วยชีวิตทหารได้เป็นจำนวนมาก โดยมีวินสตัน เชอร์ชิลล์ มาตรวจเยี่ยมและร่วมวางแผนในครั้งนั้นด้วย ปัจจุบันปราสาทโดเวอร์เป็นโบราณสถานประเภท 1 ภายใต้กฎหมายสหราชอาณาจักร[3]

หมายเหตุ

แก้
  1. ภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันอ่าน แซ็งปอร์ต แต่ภาษาฝรั่งเศสนอร์มันและอังกฤษอ่านดังที่ระบุไว้ข้างต้น

อ้างอิง

แก้
  1. Kerr, Nigel (1984). A Guide to Norman Sites in Britain. Granada. p. 44. ISBN 0-586-08445-2.
  2. Broughton, Bradford B. (1988). Dictionary of Medieval Knighthood and Chivalry. Greenwood Press. p. 102. ISBN 0-313-25347-1.
  3. 3.0 3.1 Prestwich, Michael (1999). Armies and Warfare in the Middle Ages. Yale University Press. p. 285. ISBN 0-300-07663-0.
  • Goodall, John, "Dover Castle and the Great Siege of 1216", Chateau Gaillard v.19 (2000) (the online version lacks the diagrams of the print version)
  • Jeffrey, Kate, "Dover castle", Published by English Heritage, 1997

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้