ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์

ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (ญี่ปุ่น: ハウルの動く城โรมาจิHauru no Ugoku Shiro) หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Howl's Moving Castle เป็นภาพยนตร์อนิเมะแฟนตาซีของญี่ปุ่น เขียนบทและกำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิแห่งสตูดิโอจิบลิ ได้เค้าโครงเรื่องมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของไดอาน่า ไวนน์ โจนส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2547 ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส และเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ทำรายได้ทั่วโลก 231.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จด้านการสร้างรายได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการพากษ์เสียภาษาอังกฤษโดยค่าย Peter Docter แห่งพิกซาร์ วอลต์ดิสนีย์พิกเจอส์ได้รับสิทธิ์แผยแพร่ในอเมริกาเหนือ ในตอนแรกภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ในอเมริกาและแคนาดาในวงจำกัด และต่อมาเผยแพร่ในออสเตรเลียทั่วประเทศเมื่อ 22 กันยายน และในสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายน ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 78 พ.ศ. 2549

ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์
กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ
บทภาพยนตร์ฮายาโอะ มิยาซากิ
สร้างจากปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์
โดย Diana Wynne Jones
อำนวยการสร้างโทชิโอะ ซูซูกิ
ตัดต่อTakeshi Seyama
ดนตรีประกอบโจ ฮิไซชิ
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายโตโฮ (ญี่ปุ่น)
วอลต์ดิสนีย์พิกเจอส์ (อเมริกาเหนือ)
วันฉาย20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004
ความยาว120 นาที
ประเทศญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น
ทุนสร้าง2.4 พันล้านเยน
24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน23.2 พันล้านเยน
231,711,096 ดอลลาร์ (ทั่วโลก)

นิยายของโจนส์เปิดโอกาสให้ผู้กำกับมิยาซากิเติมความเป็นสาวแกร่งและความเป็นแม่ลงไปในตัวนางเอก แรกทีเดียวโซฟีเป็นสาวทำหมวกอายุ 18 ปี แต่ด้วยคำสาปของแม่มดทำให้เธอกลายเป็นหญิงอายุ 90 ปี แม้มันจะทำให้เธอหวาดกลัวในตอนต้น แต่ในที่สุดเธอก็ใช้มันทำลายความกังวล ความกลัว และความหมกมุ่นในตนเอง การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการผจญภัย[2]

เนื้อเรื่อง

แก้

โซฟี แฮตเตอร์ อายุ 18 ปี เป็นลูกสาวคนโตของร้านทำหมวกที่ดูแลร้านต่อจากบิดาผู้ล่วงลับ วันหนึ่งขณะโซฟีเดินทางไปหาเล็ตตี้ น้องสาว ระหว่างทางพบกับทหารที่กำลังจะลวนลามเธอ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อมดหนุ่มปริศนา ในคืนนั้นนางแม่มดมาที่ร้านหมวกของโซฟีและสาปให้เธอกลายเป็นหญิงชราและไม่ให้เธอสามารถบอกใครเกี่ยวกับเรื่องราวที่เธอกลายเป็นคนแก่ด้วย โซฟีตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ระหว่างทางเธอได้พบเพื่อนใหม่เป็นหุ่นไล่กาพูดไม่ได้ที่เธอให้ชื่อเขาว่า หัวผักกาดโซฟีต้องการหาที่หลบความหนาว หัวผักกาดจึงนำเธอมาสู่ปราสาทของฮาวล์ที่เดินผ่านมา

เมื่อเข้าไปในปราสาทโซฟีพบกับปีศาจไฟ แคลซิเฟอร์ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนปราสาท แคลซิเฟอร์รู้ว่าโซฟีต้องคำสาปจึงยื่นข้อเสนอกับโซฟีว่าจะถอนคำสาปให้เธอ ถ้าเธอสามารถถอนมนต์ที่ฮาวล์สะกด แคลซิเฟอร์เอาไว้ในปราสาทได้ มาร์เคิลเด็กฝึกงานของฮาวล์ตกใจเมื่อพบโซฟีในบ้าน แต่ในที่สุดก็รักเธอเหมือนพี่สาว เมื่อฮาวล์กลับมาโซฟีประกาศตัวว่าเป็นคนทำความสะอาด ซึ่ง แคลซิเฟอร์จ้างไว้เพราะปราสาทอยู่ในสภาพสกปรกทรุดโทรมก่อนเธอมาถึง ฮาวล์สงสัยว่า แคลซิเฟอร์อาจมีลับลมคมใน เพราะยอมให้โซฟีใช้ไฟของเขาปรุงอาหาร ซึ่งปกติแล้ว แคลซิเฟอร์จะยอมแต่ฮาวล์เท่านั้น แต่ก็ไม่สนใจเอาความต่อไป เรื่องระหว่าง แคลซิเฟอร์และโซฟีจึงเป็นความลับของทั้งสอง

ฮาวล์พบกระดาษคำสาปที่ แม่มดแห่งทุ่งร้างใส่ไว้ในตัวโซฟี คำสาปนั้นกล่าวว่า "เจ้าผู้กลืนกินดาวตก โอ้ชายผู้ไร้หัวใจ หัวใจของเจ้าจะตกเป็นของข้าในไม่ช้า" แม้ฮาวล์จะสามารถใช้เวทมนตร์ลบข้อความดังกล่าวไปได้แต่มันก็ยังเป็นผลอยู่ โซฟีเรียนรู้ว่าประตูหน้าของปราสาทเป็นช่องทางวิเศษที่เปิดออกไปสู่สถานที่ที่แตกต่างกันได้ เมื่อฮาวล์ออกจากปราสาทไปโซฟีก็ทำความสะอาดปราสาทขนานใหญ่ เมื่อฮาวล์กลับมาสระผมแล้วสีผมเปลี่ยนไปเพราะโซฟีทำขวดน้ำยาปะปนกัน ฮาวล์ก็ฟูมฟายขนานใหญ่ถึงกับพูดว่า ถ้าเขาดูไม่ดีแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ทำให้โซฟีในสภาพคนแก่ฟังแล้วทนไม่ได้เพราะกระทบเธออย่างแรง เธอจึงเดินหนีออกจากบ้านไป มาร์เคิลต้องตามโซฟีกลับไปในปราสาทเพราะฮาวล์ฟูมฟายหนักหมดสติ เนื้อตัวมีเมือกสีเขียวไหลออกมาเลอะปราสาท โซฟีและมาร์เคิลช่วยอุ้มฮาวล์ขึ้นไปอาบน้ำและนำฮาวล์ไปนอน เมื่อเขาตื่นขึ้นฮาวล์จึงเล่าให้ฟังว่าเขาเคยพลาดไปจีบ แม่มดแห่งทุ่งร้างเพราะคิดว่าเธอน่าสนใจ แต่กลับพบว่าแท้จริงนางเป็นแม่มดชราที่น่าเกลียดจึงขอเลิกลา แต่นางไม่ยอมเลิกด้วย

ในบ้านเมืองที่โซฟีเคยอยู่กำลังเกิดสงครามขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านหลังการหายตัวไปของมกุฎราชกุมารจัสตินของอาณาจักรเพื่อนบ้าน และสงครามก็ได้แผ่ขยายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ฮาวล์ได้รับพระราชโองการจากกษัตริย์ซึ่งบัญชาให้เข้าร่วมรบกับกองทัพในสงคราม ฮาวล์ได้รับพระบรมราชโองการในนามแฝงต่างๆ หลายชื่อ อย่างไรก็ดีฮาวล์กลัว มาดามซาลิมาน จอมเวทย์ประจำราชสำนักซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา จึงวางแผนส่งโซฟีเข้าไปในท้องพระโรงแทนโดยให้เธออ้างตัวว่าเป็นมารดาของฮาวล์และบอกว่าฮาวล์ปฏิเสธการเข้าร่วมรบ ที่พระราชวังโซฟีพบ แม่มดแห่งทุ่งร้างซึ่งเคยถูกขับออกจากวังและต้องการกลับมาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกครั้ง แต่ไม่เป็นดังที่คาดหวังแม่มด ซาลิมานลงโทษ แม่มดแห่งทุ่งร้างด้วยการทำลายอำนาจเวทมนตร์ของ แม่มดแห่งทุ่งร้างจนหมดสิ้นและทำให้เธอกลับกลายเป็นหญิงชราขี้โรคดังเดิม ซาลิมานบอกกับโซฟีว่าฮาวล์จะต้องประสบกับโชคชะตาเดียวกันหากเขาไม่ร่วมรบในมหาสงคราม ขณะที่โซฟีกำลังปฏิเสธอย่างแข็งขัน ซาลิมานก็พบเห็นร่างจริงที่เธอเป็นหญิงสาวมิใช่แม่ของฮาวล์ ฮาวล์ช่วยโซฟีออกมาจากวังได้ โดยมี แม่มดแห่งทุ่งร้างและเฮนสุนัขของซาลิมานติดมาด้วย ฮาวล์มอบแหวนที่จะนำทางไปสู่แคลซิเฟอร์ให้ และหลอกคนที่ตามล่าไปทางอื่น โซฟีต้องขับเครื่องบินที่มีผู้โดยสารทั้งสองกลับสู่ปราสาทเอง ซาลิมานเริ่มติดตามฮาลว์จากหมวกของโซฟีที่หล่นระหว่างการต่อสู้

โซฟีพบว่าฮาวล์ต้องแปลงกายเป็นนกยักษ์เพื่อต่อสู้ ในการแปลงกายแต่ละครั้งจะแปลงร่างกลับมาเป็นมนุษย์ได้ยากขึ้นทุกที (พ่อมดที่แปลงกายแบบนี้อาจสิ้นสติและสูญเสียความเป็นตนเองไปได้) ฮาวล์แสดงความรักต่อโซฟีโดยปรับปรุงปราสาทใหม่ มีห้องพิเศษสำหรับเธอและทำประตูวิเศษให้เปิดไปสู่บ้านเก่าของโซฟีและเปิดไปสู่ที่ซ่อนในวัยเด็กของฮาวล์ โซฟีกลัวว่าฮาวล์กำลังจะจากไปเพราะเขารู้ว่าเวลาที่เหลืออยู่เป็นมนุษย์นั้นน้อยเต็มที่ หลังจากนั้นไม่นานแม่ของโซฟีก็มาหาที่บ้านและจำโซฟีได้อย่างไม่น่าเชื่อแม้เธอจะอยู่ในร่างของคนแก่ โซฟีมีความสุขมากที่แม่มาเยี่ยม แต่ความจริงแล้วแม่ของเธอเข้ามาเพราะถูก ซาลิมานบังคับ ก่อนจากไปแม่ของโซฟีแอบทิ้ง "peeping bug" ไว้แต่ แม่มดแห่งทุ่งร้างซึ่งอาศัยอยู่ในปราสาทด้วยพบเห็นเข้าจึงกำจัดโดยทันทีโดยโยนให้ แคลซิเฟอร์กิน แต่ว่า แคลซิเฟอร์กินแล้วป่วยทำให้หมดอำนาจในการซ่อนปราสาทจากสายตาคนภายนอกได้ เมื่อ มาร์เคิลเปิดหน้าต่างปราสาทจึงถูกค้นพบ

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เมืองก็ถูกระเบิดของข้าศึกถล่ม สมุนของ ซาลิมานก็บุกไปยังร้านหมวก หลังจากปกป้องร้านหมวกและรักษา แคลซิเฟอร์ฮาวล์แปลงร่างและล่อพวกนั้นออกไป โซฟีจึงตัดสินใจย้ายปราสาทไปที่ทุ่งร้าง โดยเปิดประตูวิเศษออกอีกทางหนึ่งแล้วนำ แคลซิเฟอร์ออกไป ทำให้ปราสาทตัดความเชื่อมโยงกับเมือง เพื่อฮาวล์ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ปกป้องเมืองอีกต่อไป จากนั้นโซฟีจึงเอา แคลซิเฟอร์กลับเข้าไปอีกครั้งเพื่อสร้างปราสาทเคลื่อนที่ขนาดเล็กเพื่อกลับไปช่วยฮาวล์ ในขณะนั้น แม่มดแห่งทุ่งร้างพบหัวใจของฮาวล์ใน แคลซิเฟอร์จึงเก็บมันไว้และถูกเปลวไฟเผาผลาญ โซฟีช่วยโดยการเอาน้ำสาดไป ทำให้ปราสาทพังทลายลง โซฟีและ เฮนพลัดตกลงมาจากปราสาท

โซฟีฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ร้องไห้ฟูมฟายนึกว่าตนได้ฆ่า แคลซิเฟอร์และฮาวล์ไปแล้ว เพราะชีวิตของทั้งสองผูกโยงกันอยู่ แต่ระหว่างนั้นเองแหวนที่ฮาวล์มอบให้ก็มีแสงเรืองชี้ไปยังประตูที่เหลืออยู่ของปราสาท โซฟีเดินเข้าไปและพบว่าเธอเข้าไปในอดีตของฮาวล์ ซึ่ง แคลซิเฟอร์เป็นดาวตก ถูกฮาวล์เก็บไว้ได้ ทั้งสองเหมือนจะกล่าวพันธสัญญาบางอย่างต่อกัน แล้วฮาวล์ก็ตัดสินใจกลืนกิน แคลซิเฟอร์ลงไป จากนั้นก็คาย แคลซิเฟอร์ซึ่งมีหัวใจของฮาวล์อยู่ในท้องออกมา โซฟีเข้าใจพันธสัญญาและรู้หนทางที่จะช่วยปลดปล่อยทั้งสองแล้ว เธอกลับออกมาสู่โลกปัจจุบันโดยมี Heen ช่วยนำทางกลับมายังประตูวิเศษที่กำลังทลายลง

เมื่อเปิดประตูโซฟีเห็นฮาวล์ในร่างนกยักษ์รอคอยเธออยู่นานแล้ว เธอขอให้ฮาวล์บินพาเธอไปยัง แคลซิเฟอร์เธอพบว่าปราสาทในขณะนี้เหลือเพียงไม้กระดานต่อขามี แม่มดแห่งทุ่งร้างกุมหัวใจของฮาวล์ซึ่งก็คือตัว แคลซิเฟอร์ไว้อยู่ ฮาวล์กลับกลายร่างเป็นมนุษย์และหมดสติไป โซฟีขอร้อง แม่มดแห่งทุ่งร้างให้มองดวงใจฮาวล์แก่เธอ แม่มดแห่งทุ่งร้างเห็นความจริงใจของโซฟีและความดีของเธอที่ดูแลอดีตแม่มดที่กลายเป็นหญิงชราขี้โรคโดยไม่รังเกียจจึงมอบ แคลซิเฟอร์คืนให้แต่โดยดี จากนั้นโซฟีก็ถามความยินยอมของ แคลซิเฟอร์ว่าถ้านำหัวใจคืนแก่ฮาวล์ แคลซิเฟอร์จะเป็นอย่างไร แคลซิเฟอร์บอกว่าขนาดโดนน้ำสาดยังไม่เป็นไรเลย โซฟีจึงกดดวงใจนั้นกลับลงสู่อกของฮาวล์ที่สิ้นสติ เมื่อหัวใจคืนสู่เจ้าของ แคลซิเฟอร์ก็เป็นอิสระและวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม้กระดานนั้นไม่มีผู้ขับเคลื่อน ทลายลงสู่ห้วงเหว หัวผักกาดต้องสละตัวเองเพื่อยับยั้งไม้กระดานนั้นทำให้ทุกคนปลอดภัย โซฟีจูบ หัวผักกาดหุ่นไล่กาที่พังยับเยินดูเหมือนไร้ชีวิตแล้ว ทันใดนั้นเอง หัวผักกาดก็กลายร่างเป็นเจ้าชายจัสตินที่หายสาบสูญ จูบของโซฟีทำให้คำสาปของเจ้าชายเสื่อมลงไป

ถึงในตอนนี้โซฟีเป็นหญิงสาวเหมือนเดิม เว้นแต่ผมสีเงินเท่านั้น ฮาวล์ก็ฟื้นขึ้นมาและรู้สึกถึงความหนักหน่วงของหัวใจตัวเอง ฮาวล์ชอบผมสีราวกับแสงดาวของโซฟี เจ้าชายจัสตินรู้ว่าโซฟีรักฮาวล์จึงจากไปเพื่อยุติสงคราม ซาลิมานซึ่งแอบดูอยู่ผ่าน เฮนก็ประกาศการสิ้นสุดของสงครามเช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงอย่างมีความสุชเมื่อ แคลซิเฟอร์กลับมาขับเคลื่อนปราสาทด้วยความต้องการของตัวเอง มาร์เคิลเล่นกับเฮนอยู่ในสนามหญ้าของปราสาท มี แม่มดแห่งทุ่งร้างเฝ้าดูอยู่ราวกับคุณยายใจดี ส่วนฮาวล์และโซฟีกอดจูบกันอยู่บนระเบียงของปราสาท

ตัวละคร

แก้
 
ชิเอโกะ ไบโช ผู้พากย์เสียงโซฟีทั้งสาวและแก่ในฉบับภาษาญี่ปุ่น
ตัวละคร พากษ์เสียงญี่ปุ่นโดย
โซฟี ชิเอโกะ ไบโช
ฮาวล์ ทากูยะ คิมูระ
แม่มดแห่งทุ่งร้าง อากิฮิโระ มิวะ
แคลซิเฟอร์ ทัตสึยะ กาชูอิง[3]
มาร์เคิล เรียวโนซูเกะ คามิกิ[3]
มาดามซาลิมาน ฮารูโกะ คาโต
เลตตี้ ยาโยอิ คาซูมิ
ฮันนี่ มายูโนะ ยาโซกาวะ
มกุฎราชกุมารจัสติน/หัวผักกาด โย โออิซูมิ
กษัตริย์แห่งอิงการี อากิโอะ โอสึกะ
เฮน (สุนัข) ไดจิโร ฮาราดะ

ความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์และนวนิยาย

แก้
 
ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้กำกับของเรื่อง

ไดอาน่า ไวนน์ โจนส์ ผู้แต่งนวนิยายได้พบกับตัวแทนของสตูดิโอจิบลิ แต่ไม่ได้มีส่วนในการสร้างภาพยนตร์ มิยาซากิได้เดินทางไปอังกฤษในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2004 เพื่อให้โจนส์ดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการส่วนตัวด้วย โจนส์กล่าวว่า

มันเยี่ยมมาก ฉันไม่ได้ออกความเห็นในภาพยนตร์ ฉันเขียนหนังสือ ไม่ใช่ภาพยนตร์ มันจะต่างจากในหนังสือ แตกต่างมากทีเดียว แต่มันก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น มันจะเป็นหนังที่เยี่ยมมาก[4]

ภาพยนตร์แตกต่างจากเรื่องราวต้นฉบับของโจนส์ แม้โครงเรื่องจากคล้ายกันแต่ภาพยนตร์เต็มไปด้วยรูปแบบที่คุ้นเคยของภาพยนตร์โดยมิยาซากิ โครงเรื่องเน้นไปที่โซฟีและการผจญภัยของเธอขณะที่ถูกสาปให้เป็นคนแก่ การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่เกิดในระหว่างสงครามซึ่งมีเหตุการณ์คล้ายกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยมีเรือรบและเรือเหาะแบบเดรดนอต เรื่องในภาพยนตร์เกิดขึ้นในประเทศสมมติ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมจากเมืองกอลมาร์และรีกวีรในแคว้นอาลซัส ประเทศฝรั่งเศส ที่มิยาซากิได้ไปเยือน[5]

นวนิยายกล่าวถึงความเจ้าชู้ประตูดินของฮาวล์และความพยายามของเขาที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมค้นหาพ่อมดและเจ้าชายที่หายไป ภาพยนตร์กลับกล่าวถึงความพยายามของฮาวล์ในการช่วยเหลือสงครามเพื่อเหตุผลทางสันตินิยม มุมมองนี้ของภาพยนตร์เป็นอิทธิพลมาจากความคิดทางการเมืองแบบสันตินิยามที่ฝังรากลึกอยู่ในมิยาซากิ ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารนิวส์วีกของสหรัฐ มิยาซากิบอกว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มสร้างขึ้นตอนที่ประเทศคุณเริ่มสงครามอิรัก" ความคับแค้นใจที่มิยาซากิมีแต่สงครามครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก[6] หนังสือได้กล่าวถึงเวลส์ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งฮาวล์มีชื่อว่า Howell Jenkins และมีน้องสาวซึ่งมีลูกหลายคน ในภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ ใช้แต่เพียงนามแฝงของฮาวล์ว่า "The Great Wizard Jenkins" ("จอมเวทย์เจนกินส์")

ตัวละครหลายตัวจากหนังสือถูกดัดแปลง เด็กฝึกงานของฮาวล์ ไมเคิล ฟิชเชอร์ เป็นเด็กวัยรุ่น แต่ในภาพยนตร์เป็นเด็กชายตัวเล็กนามว่ามาร์เคิล ส่วนแม่มดแห่งทุ่งร้างในหนังสือเป็นผู้หญิงสาวสวย แต่ในภาพยนตร์เป็นหญิงร่างใหญ่อ้วนท้วนเหนื่อยง่าย ในหนังสือนางแม่มดนี้เป็นตัวร้ายถาวรที่ทำลายผู้อื่น แต่ในภาพยนตร์นางแม่มดนี้กลายเป็นคุณยายที่ได้รับการยอมรับในบ้านของฮาวล์ แคลซิเฟอร์ปีศาจไฟที่น่าเกรงขาม กลายเป็นเปลวไฟน้อยๆ ที่น่ารัก The Wizard ซาลิมานในหนังสือเป็นผู้ชายและเป็นมิตร แต่ในภาพยนตร์ ซาลิมานถูกควบรวมกับ Mrs. Pentstemmon กลายเป็น มาดามซาลิมานนางร้ายในเรื่อง ตัวละครอื่นๆ ในภาพยนตร์ก็เป็นการรวมตัวละครหลายตัวในหนังสือเข้าด้วยกันซึ่งมีแรงบันดาลใจและบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์

แก้
 
โจ ฮิไซชิ ผู้ประพันธ์เพลงและวาทยากรของเรื่อง

เพลงประกอบได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 โดยบริษัทโทกูมะ โจ ฮิไซชิเป็นผู้ประพันธ์และเป็นวาทยากรของ Howl's Moving Castle: Symphony Suite อันเป็นอัลบั้มที่ประกอบด้วย 10 เพลงที่เรียบเรียงเสียงประสานใหม่จากเพลงประกอบเดิม เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2547[7]

การตอบรับ

แก้

ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ ได้รับคำติชมที่เป็นบวกจากนักวิจารณ์ Claudia Puig จาก ยูเอสเอทูเดย์ ยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าสามารถผสมผสาน "a childlike sense of wonder with sophisticated emotions and motives" ในขณะที่ Richard Roeper วิจารณ์ว่า "เป็นงานที่สร้างสรรค์อย่างบ้า" ส่วนนักวิจารณ์อื่นๆ ให้คำอธิบายภาพยนตร์นี้ว่า "a visual wonder", "A gorgeous life-affirming piece" และ "an animated tour de force." Roger Ebert จาก Chicago Sun-Times ให้ดาวสองดวงครึ่งจากสี่ดวงและรู้สึกว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่แย่ที่สุดเรื่องหนึ่งของมิยาซากิ[8] ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอนิเมะชั่นเรื่องเดียวที่อยู่ในการจัดอันดับภาพยนตร์ที่ดีที่สุดใน พ.ศ. 2548 ของ Sight & Sound นิตยสารอย่างเป็นทางการของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ

รางวัล

แก้
ปี รางวัล ประเภท ผล ผู้รับ อ้างอิง
2004 61st Venice Film Festival Osella Awards for Technical Achievement ชนะ Howl's Moving Castle [9]
Mainichi Film Awards ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมทุกสาขา
(Readers' Choice Award)
ชนะ Howl's Moving Castle [10]
Japan Media Arts Festival รางวัลยอดเยี่ยมสาขาแอนิเมชั่น ชนะ Howl's Moving Castle [11]
2005 Tokyo Anime Award แอนิเมชั่นแห่งปี ชนะ Howl's Moving Castle [12]
ผู้กำกับยอดเยี่ยม ชนะ ฮายาโอะ มิยาซากิ [12][13]
นักพากย์ยอดเยี่ยม ชนะ ชิเอโกะ ไบโช [12][13]
เพลงยอดเยี่ยม ชนะ โจ ฮิไซชิ [12][13]
Maui Film Festival Audience Award ชนะ Howl's Moving Castle [12][13]
Seattle International Film Festival Golden Space Needle Award รองอันดับที่ 1 Howl's Moving Castle [12][13]
2006 78th Academy Awards Best Animated Feature เสนอชื่อเข้าชิง Howl's Moving Castle [14]
Saturn Awards ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง Howl's Moving Castle [15]
2007 Nebula Award บทยอดเยี่ยม ชนะ ฮายาโอะ มิยาซากิ [16]

อ้างอิง

แก้
  1. "All-Time Worldwide Box office". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ May 8, 2008.
  2. Howl's Moving Castle (2004) NYT Critics' A. O. Scott
  3. 3.0 3.1 Metacritic 2005.
  4. "FAQ / Howl's Moving Castle". The Hayao Miyazaki Web. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  5. The Anime Art of Hayao Miyazaki by Dani Cavallaro; Publisher: McFarland & Company (January 24, 2006) ; Page 168; ISBN 978-0786423699
  6. Devin Gordon (2005). "A 'Positive Pessimist'". The Hayao Miyazaki Web. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-02. สืบค้นเมื่อ 2020-04-01. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  8. "Howl's Moving Castle (2005)". Rotten Tomatoes. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  9. Biennale 2004.
  10. animenews 2016.
  11. Japan Media Arts 2004.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 imdb 2016.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 nausicaa2 2016.
  14. Oscars 2006.
  15. animenews 2006.
  16. Locus 2007.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้