ปราสาทศีขรภูมิ

(เปลี่ยนทางจาก ปราสาทศรีขรภูมิ)

ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระธิดาทั้ง 3 (มี หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นต้น) ได้เดินทางมาเยือนเมื่อ มกราคม - กุมภาพันธ์ 2472 (นับอย่างใหม่ต้องปี พ.ศ. 2473) และได้ถูกรวมเข้ากันกับอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ
Prasat Sikhoraphum
ปราสาทศีขรภูมิ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทปราสาทหิน
สถาปัตยกรรมศิลปะแบบนครวัด
เมืองอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างปราสาทอิฐ5หลังบนฐานเดียวกัน

ประวัติ

แก้

จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้

ปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำ พระอาจารย์ของนักเรียนนายร้อย จปร. ได้มาศึกษาที่โบราณสถานแห่งนี้ และก็ได้มีการบูรณะปราสาทศีขรภูมิ ให้ดูงามเด่นเป็นสง่าน่าภาคภูมิใจแก่แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเมืองปราสาทหินโบราณแห่งนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

แก้

ปราสาทศีขรภูมิมีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมาโดยทับหลังชิ้นนับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

อ้างอิง

แก้
  • กรมศิลปากร, ปราสาทศีขรภูมิ . (ป้ายประชาสัมพันธ์)
  • กรมศิลปากรประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งและพับลิชชิ่ง, 2550. ISBN 978-974-425-057-5
  • เทพมนตรี ลิมปพยอม (บรรณาธิการ). เนะขแมร์ อินไทยแลนด์: หลากหลายมุมมองและเรื่องราวของปราสาทเขมรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียม บุคส์, 2550. ISBN 978-974-13-5746-8

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

14°56′40″N 103°47′53″E / 14.94444°N 103.79806°E / 14.94444; 103.79806