บียอร์นมนุษย์เหล็ก

บียอร์นชาติฉกาจ (อังกฤษ: Bjorn Ironside, นอร์สเก่า: Bjǫrn Járnsíða, ไอซ์แลนด์: Björn Járnsíða, สวีเดน: Björn Järnsida, เดนมาร์ก: Bjørn Jernside, ละตินโบราณ: Bier Costae ferreae) เป็นผู้นำไวกิงชื่อดังที่ตำนานเล่าว่าได้ขึ้นปกครองเป็นปฐมกษัตริย์สวีเดนแห่งราชวงศ์มุนเซอร์ (หรือราชวงศ์อุปซอลา) เขามีชีวิอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 บิดาของเขาคือรักนาร์ ล็อดบร็อคผู้เป็นตำนาน


ตำนานเชื้อสายวงศ์ตระกูล แก้

ตำนานวีรชนของรักนาร์ ล็อดบร็อคและเหล่าบุตรชาย ซึ่งเป็นตำนานวีรชนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ของไอส์แลนด์กล่าวว่าบียอร์นมนุษย์เหล็กเป็นบุตรชายของรักนาร์ ล็อดบร็อคกับอัสเลาก์ บิดาของบียอร์นเป็นบุคคลดังในบทกวีโบราณและตำนานวีรชนไวกิงผู้รุกรานราชอาณาจักรแฟรงก์และอังกฤษยุคแองโกล-แซกซอนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 บียอร์นมีพี่ชายหนึ่งคน คือ อิวาร์ไร้กระดูก กับน้องชายสองคน คือ วิตเซิร์ก (หรือฮัล์ฟดัน รักนาร์สสัน) และซิเกิร์ดงูในดวงตา ทั้งยังมีพี่น้องต่างแม่อีกหลายคน แม้จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าเขามีตัวตนอยู่จริง แต่วรรณกรรมเก่าแก่หลายเรื่องแต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เขา


ตำนานกล่าวว่าบิดาของรักนาร์หรือปู่ของบียอร์น คือ พระเจ้าซิเกิร์ด ฮริงของสวีเดน โดยทวดของบียอร์นเป็นบุตรของพระเจ้าวัลดาร์ หลังพระเจ้าวัลดาร์สวรรคต พระเจ้ารันแดวร์ พระโอรสของพระองค์ซึ่งเป็นทวดของบียอร์นได้ขึ้นสืบทอดบัลลังก์สวีเดน ในเวลาเดียวกันพระเจ้าฮาร์อัลด์ วอร์ทูธได้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กและทำการพิชิตสวีเดน เมื่อพระเจ้ารันแดวร์สวรรคต พระเจ้าซิเกิร์ด ฮริงได้ขึ้นสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระองค์ โดยน่าจะเป็นกษัตริย์ภายใต้พระเจ้าฮาร์อัลด์ ต่อมากษัตริย์ทั้งสองได้ขัดแย้งกันจนส่งผลให้เกิดสมรภูมิบราวเวลลีร์ (หรือบรัววัลลา) ณ ที่ราบเอิสเตอร์เยิตลันด์ พระเจ้าฮาร์อัลด์กับพระโอรสทั้งหลายถูกสังหาร พระเจ้าซิเกิร์ดสถาปนาตนขึ้นปกครองสวีเดนและเดนมาร์ก


หลังพระเจ้าซิเกิร์ดสวรรคตในราวปี ค.ศ. 804 รักนาร์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ในปี ค.ศ 845 ชาวไวกิงได้รุกรานราชอาณาจักรแฟรงก์และทำการปิดล้อมปารีส ตามบันทึกของชาวแฟรงก์ ผู้นำของกองกำลังไวกิงเป็นชาวนอร์สที่ชื่อว่า "เรกินเฮรัส" ซึ่งตำนานวีรชนของนักปราชญ์หลายคนระบุว่าคือรักนาร์


กองเรือของรักนาร์มีเรือประมาณ 120 ลำบรรทุกคน 5,000 คน จักรพรรดิของชาวแฟรงก์ในเวลานั้นคือจักรพรรดิชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน พระองค์พยายามปกป้องอาณาเขต แต่กองทัพที่ทรงระดมพลมาได้มีขนาดเล็กเกินไป สุดท้ายปารีสพ่ายแพ้ แต่ชาวไวกิงยอมไปจากเมืองเมื่อจักรพรรดิของชาวแฟรงก์จ่ายค่าไถ่เป็นเงิน 7,000 เหรียญลีฟเรอฝรั่งเศส


รักนาร์สมรสสามครั้ง ภรรยาคนแรกของเขาคือลาแกร์ธาสตรีโล่ ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน เป็นบุตรชายหนึ่งคนชื่อฟรึดเลฟ กับบุตรสาวนิรนามอีกสองคน ภรรยาคนที่สองของเขาคือธูรา บอร์ยาร์เยิร์ต ธิดาของแฮร์เราร์ซึ่งน่าจะเป็นกษัตริย์หรือไม่ก็เอิร์ลแห่งเยิตตาลันด์ รักนาร์กับธูรามีบุตรชายสองคนคือเอริคและอักนาร์ ภรรยาคนที่สามซึ่งเป็นภรรยาคนสุดท้ายของรักนาร์คืออัสเลาก์ ธิดาของซิเกิร์ดผู้สังหารมังกรฟอฟนีร์กับบรึนฮิลเดอร์สตรีโล่


อัสเลาก์เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวรรณกรรมดั้งเดิมของชาวนอร์ส เธอมีรูปโฉมงดงาม รักนาร์ต้องการทดสอบสติปัญญาของเธอจึงสั่งให้เธอมาหาเขาโดยห้ามใส่และห้ามไม่ใส่เสื้อผ้า ห้ามอดและห้ามทานอาหาร ห้ามมาคนเดียวและห้ามให้ใครมาด้วย เธอจึงมาหาเขาโดยสวมตาข่ายแทนชุด ทานหัวหอม และมีสุนัขมาเป็นเพื่อน รักนาร์หลงรักในความเฉลียวฉลาดของเธอจึงขอเธอสมรส ตอนแรกเธอปฏิเสธโดยบอกให้เขาไปทำภารกิจในนอร์เวย์ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน สุดท้ายทั้งคู่ก็สมรสกันและเธอมีบุตรชายให้เขาห้าคนคือบียอร์นกับพี่น้องอีกสี่คน ได้แก่ อิวาร์ไร้กระดูก, วิตเซิร์ก, โรงวอลด์ และซิเกิร์ดงูในดวงตา โดยอิวาร์น่าจะเป็นพี่ชายคนโต


การรุกรานดินแดนของชาวไวกิง แก้

ตำนานวีรชนของรักนาร์ ล็อดบร็อคและเหล่าบุตรชาย กล่าวว่าบียอร์นและพี่น้องต่างเติบโตมาโหดเหี้ยมและเจ้าเล่ห์พอๆ กับบิดา บุตรชายของรักนาร์ต่างเจริญรอยตามบิดาด้วยการออกไปเสี่ยงภัยในต่างแดน รุกรานดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปและปล้นเอาสมบัติจำนวนมากมายกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน บุตรชายของรักนาร์ได้ยึดครองอาณาเขตอันได้แก่ เกาะเชลลันด์, รีกอตาลันด์ (หรือคาบสมุทรจัตแลนด์), กอตลันด์, เออลันด์ และเกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหลาย พวกเขาตั้งเมืองลาจราบนเกาะเชลลันด์เป็นศูนย์กลางทางอำนาจและตั้งอิวาร์เป็นผู้นำ

ต่อมารักนาร์ได้นำทัพขึ้นฝั่งในอังกฤษ การรุกรานในช่วงแรกประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายชาวไวกิงพ่ายแพ้ต่อพระเจ้าเอลลา กษัตริย์แห่งนอร์ธัมเบรีย รักนาร์ถูกจับกุมตัวและถูกโยนลงบ่องูจนถึงแก่กรรม บียอร์นกับพี่น้องโจมตีอังกฤษเพื่อแก้แค้นให้บิดา แต่พระเจ้าเอลลาปราบพวกเขาได้ในสมรภูมิแรก อิวาร์ไม่ยอมทำศึกต่อหลังเล็งเห็นว่ากองทัพอังกฤษมีขนาดใหญ่เกินไป เขากลับเลือกทำสัญญาพักรบกับพระเจ้าเอลลาและลงหลักปักฐานในอังกฤษ ต่อมาพี่น้องไวกิงรวบรวมกองทัพใหญ่ได้ บันทึกฝั่งแองโกล-แซกซันเรียกกองทัพที่รวบรวมมาได้นี้ว่า "กองทัพใหญ่ของพวกนอกรีต" ในสมรภูมิต่อมาพระเจ้าเอลลาถูกจับกุมตัวและถูกทรมานจนสวรรคตด้วยวิธีที่เรียกว่า "อินทรีเลือด"


บียอร์นมนุษย์เหล็กกับพี่น้องสานต่อการรุกรานของบิดา คุกคามดินแดนต่างๆ ในอังกฤษ, เวลส์, นอร์ม็องดี, ฝรั่งเศส และอิตาลี ตำนานเล่าว่าพี่น้องไวกิงได้ยึดเมืองลูนี เมืองของอิตาลีซึ่งตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างแคว้นลีกูเรียกับแคว้นตอสคานา โดยต้นเรื่องเกิดจากชาวไวกิงได้ข่าวเรื่องความมั่งคั่งของนครนิรันดร์กาลจึงตั้งเป้ารุกราน บียอร์นได้รวมกลุ่มกับฮัชไตน์ ผู้นำไวกิงอีกคนออกเดินทางไปทำศึกในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียนพร้อมกองเรือ 62 ลำ ชาวไวกิงล่องเรือไปตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของคาบสมุทรไอบีเรีย ระหว่างทางได้รุกรานอาณาเขตของทั้งชาวคริสต์และชาวมุสลิมจนถึงช่องแคบยิบรอลตาร์ มีบันทึกว่าพวกเขาได้ปล้นทำลายนครหลายแห่งทั้งบนชายฝั่งแอฟริกาเหนือและชายฝั่งตอนใต้ของคาบสมุทรไอบีเรีย หลังล่องเรือและรุกรานไปตามชายฝั่งทางใต้ของราชอาณาจักรแฟรงก์ สุดท้ายชาวไวกิงก็มาถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี เมืองแรกที่ถูกปล้นทำลายคือเมืองลูนีซึ่งชาวไวกิงเข้าใจผิดว่าเป็นกรุงโรม


การปิดล้อมเมืองลูนี แก้

ในการปิดล้อมเมืองลูนี ชาวไวกิงรู้ว่าเมืองมีป้อมปราการที่แข็งแกร่งมาก การปิดล้อมจะกินเวลานาน จึงคิดจะยึดเมืองด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงป่าเถื่อนแต่ไม่สำเร็จ ชาวไวกิงจึงหาหนทางใหม่ด้วยการใช้กลอุบายที่ถูกเล่าเป็นสองเวอร์ชัน คือ


เวอร์ชันแรกเล่าว่าบียอร์น (หรือฮัชไตน์) ส่งผู้ส่งสาส์นไปหาบิชอปแห่งลูนีเพื่อแจ้งข่าวลวงว่าผู้นำของชาวไวกิงกำลังล้มป่วยหนัก บนเตียงถึงแก่กรรมเขาได้เปลี่ยนเข้ารีตและสิ้นลมไปพร้อมกับความหวังว่าจะได้รับการฝังใต้ผืนดินอันศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่โบสถ์ อีกเวอร์ชันหนึ่งเล่าว่าบียอร์นไม่ได้แกล้งตาย แต่แกล้งทำเป็นป่วยหนักและต้องการเปลี่ยนเข้ารีตก่อนสิ้นลมหายใจ ในทั้งสองเวอร์ชันบิชอปหลงเชื่อข่าวลวงดังกล่าวจึงอนุญาตให้กลุ่มชาวไวกิงขนศพผู้นำเข้ามาในเมือง ตำนานกล่าวว่าชาวไวกิงได้ซ้อนดาบไว้ใต้เสื้อคลุม เมื่อเข้ามาในลูนีบียอร์นได้กระโดดออกมาจากโลงศพและนำคนของตนไปที่ประตูเมืองเพื่อเปิดประตูเมืองให้ชาวไวกิงที่เหลือเข้ามาในเมืองจนยึดเมืองลูนีได้ ต่อมาชาวไวกิงรู้ว่าเมืองดังกล่าวไม่ใช่กรุงโรม ด้วยความโกรธและอับอายจึงได้ปล้นทำลายและเผาเมือง


การกลับสู่แดนเหนือ แก้

หลังทำลายเมืองลูนี บียอร์นกับกลุ่มชาวไวกิงล่องเรือไปตามแม่น้ำอาร์โน เรื่องราวหลังจากนั้นไม่ปรากฏชัดเจน แต่มีข่าวลือว่าพวกเขาได้ล่องเรือไปทางตะวันออกของคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน พวกเขาปรากฏตัวอีกครั้งนอกชายฝั่งของคาบสมุทรไอบีเรีย มีบันทึกกล่าวว่าระหว่างเดินทางกลับบ้านพวกเขาเผชิญหน้ากับกองทัพเรือของอัลอันดะลุสตรงช่องแคบยิบรอลตาร์ กองทัพมุสลิมใช้อาวุธที่มีชื่อว่า "ไฟของชาวกรีก" ซึ่งสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้แก่ชาวไวกิง ว่ากันว่าเรือไวกิงถูกชาวมุสลิมทำลายไปถึง 40 ลำ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมาบียอร์ได้รุกรานสเปนส่วนที่เป็นของชาวคริสต์ หนึ่งในนั้นคือกรุงปัมโปลนา แม้จะเหลือเรือกลับไปสแกนดิเนเวียเพียง 20 ลำ แต่บียอร์นได้สมบัติกลับไปมากมาย

ตำนานวีรชนของรักนาร์ ล็อดบร็อคและเหล่าบุตรชาย กล่าวว่า "บียอร์นมนุษย์เหล็กยึดเมืองอุปซอลากับสวีเดนกลางและดินแดนที่อยู่ในการครอบครองได้" มีการอ้างว่าบียอร์นได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดนและก่อตั้งราชวงศ์อุปซอลา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการค้นพบรถเข็นบนเกาะมุนเซอร์ซึ่งนักโบราณวัตถุอ้างว่าเป็นของบียอร์นซึ่งได้ตั้งชื่อราชวงศ์ตามชื่อของเกาะดังกล่าว

ตำนานวีชนของเฮร์วาราร์ กล่าวว่าบียอร์นมีบุตรชายสองคน คือ เรฟิล และเอริก บียอร์นส์สัน เอริกได้สืบทอดบัลลังก์สวีเดนต่อจากบิดา ตำนานวีรชนของเอริกแดง กล่าวว่าบียอร์นมีบุตรชายคนหนึ่งนามว่าอัสลักซึ่งเป็นบรรพบุรุษของธอร์ฟินน์ คาร์ลเซฟนี นักสำรวจชื่อดังชาวไอส์แลนด์


อ้างอิง แก้