บตจังเร็ชชะ (ญี่ปุ่น: 坊っちゃん列車โรมาจิBotchan Ressha) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บตจัง เป็นรถจักรไอน้ำจำลองขนาดน้อยซึ่งภายในเป็นรถจักรดีเซลของเมืองมัตสึยามะ จังหวัดเอฮิเมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรถจักรคันเดิมมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1888 เป็นของบริษัทอิโยเต็ตสึ ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟแห่งแรกในชิโกกุและเป็นบริษัทแห่งที่สามของประเทศ[1] ปัจจุบันมีการสร้างรถจักรและตู้รถไฟขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เดินรถในเส้นทางรถรางไฟฟ้าสองสายของเมืองมัตสึยามะ

บตจังหน้าสถานีบ่อน้ำร้อนโดโงะ
บตจังขณะวิ่งร่วมกับรถราง

ประวัติ แก้

บตจังเร็ชชะ เป็นรถจักรไอน้ำชนิด 0-4-0 (บี) ผลิตโดยบริษัทเคราสส์แอนด์คอมพานี (Krauss & Company) ในมิวนิก ถูกนำเข้าเพื่อใช้เดินรถในเมืองมัตสึยามะใน ค.ศ. 1888 วิ่งบนรางแคบขนาด 2 ฟุต 6 นิ้ว ใช้วาล์วเกียร์สตีเฟนสันและวิ่งโดยใช้ไอน้ำจากถ่านหิน เส้นทางเดินรถยาว 4.5 ไมล์ จากมัตสึยามะไปโทงาวะ (ปัจจุบันคือสถานีเมืองมัตสึยามะ) สิ้นสุดที่สถานีโคมาจิ ตลอดสองข้างทางเป็นที่ราบรอบภูเขา แลเห็นป่ารอบปราสาทมัตสึยามะ[2]

ออสแมน เอดเวิดส์ (Osman Edwards) นักเขียนชาวสหราชอาณาจักร ผู้มาเยือนมัตสึยามะใน ค.ศ. 1898 เขียนเกี่ยวกับรถจักรนี้ไว้ความว่า "โดโงะอยู่ห่างจากทะเลไม่มากนัก และถึงภายในไม่กี่ชั่วโมง เท่าที่เห็นฉันระบุได้ว่านี้เป็นรถไฟของเล่นเท่านั้น"[3]

บตจังเร็ชชะ ถูกปลดประจำการใน ค.ศ. 1931 หลังบริษัทอิโยเต็ตสึเปลี่ยนไปใช้รถจักรไฟฟ้าแทน กระนั้นอิโยเต็ตสึยังคงอนุรักษ์รถจักรนี้ไว้โดยเก็บไว้ในสวนสาธารณะไบชินจิในเมืองมัตสึยามะ ป้ายเขียนไว้ว่า "หมายเลข 2585 มึนเชิน 1888" (No. 2585 München 1888)[4]

บริษัทอิโยเต็ตสึเปิดตัวรถจักรบตจังจำลองขับเคลื่อนด้วยดีเซลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ให้บริการระหว่างสถานีโคมาจิกับบ่อน้ำร้อนโดโงะ ไปกลับวันละหกรอบ[5]

วรรณกรรม แก้

ในนวนิยายเรื่อง บตจัง ของนัตสึเมะ โซเซกิ ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1906 กล่าวถึงรถจักรนี้ว่า "ฉันเพิ่งเจอสถานีรถไฟและซื้อตั๋วสำหรับตัวเอง พอขึ้นไปบนรถไฟ มันเล็กราวกับกล่องไม้ขีด ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงห้านาที สมกับราคาตั๋วแค่สามเซ็น"[6]

อ้างอิง แก้

  1. Kishi, Yuichiro (2004). "Railway Operators in Japan 13: Shikoku Region". Japan Railway & Transport Review (39): 44. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-22. สืบค้นเมื่อ 2011-05-18.
  2. Chamberlain, Basil Hall; Mason, W.B. (1894). A Handbook for Travellers in Japan (4th ed.). London: Murray.
  3. Edwards, Osman (1901). Japanese Plays and Playfellows. London: Heinemann. p. 200.
  4. Finn, Dallas (1995). Meiji revisited: the sites of Victorian Japan. New York: Weatherhill. p. 141.
  5. "坊っちゃん列車に乗ろう! ご利用案内". Iyotetsu (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2 April 2020.
  6. Sōseki, Natsume (2007). Botchan: A Modern Classic. แปลโดย Joel Cohn. Kodansha. p. 27. ISBN 978-4770030481.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้