นางพญาแม่ท้าวคำพิน

(เปลี่ยนทางจาก นางพญาแม่ท้าวคำปิน)

นางพญาแม่ท้าวคำพิน[1][2][3], คำปิน[4][5] หรือ คำปิ๋ว[5] เป็นพระชายาของพญาเก้าเกื่อน ต่อมานางได้เป็นเจ้าผู้ครองนครรัฐปัวแทนสามีที่แยกไปปกครองเมืองย่างสืบพระอัยกา ช่วงเวลาไม่นานหลังจากนั้น พญางำเมือง เจ้าผู้ครองแคว้นพะเยา ได้สบโอกาสยกทัพเข้าตีและยึดครองเมืองปัว แม่ท้าวคำพินซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อยู่ต้องเสด็จลี้ภัยออกไปยังเขตชนบท และให้กำเนิดพญาผานอง ผู้ซึ่งจะได้เป็นเจ้าผู้ครองรัฐปัวต่อไป[6][3]

คำพิน
นางพญาปัว
ครองราชย์พ.ศ. 1848–1849
ก่อนหน้าพญาเก้าเกื่อน
ถัดไปนางอั้วสิม
สิ้นพระชนม์ราว พ.ศ. 1865
บ้านสระ แคว้นพะเยา
พระสวามีพญาเก้าเกื่อน
พระบุตรพญาผานอง
ราชวงศ์ภูคา (อภิเษกสมรส)

พระประวัติ

แก้

ช่วงต้น

แก้

ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของแม่ท้าวคำพิน โดยในเอกสาร พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด และ พงศาวดารเมืองน่าน ต่างให้ข้อมูลแต่เพียงว่า นางเข้าเป็นพระชายาของพญาเก้าเกื่อน เจ้าผู้ครองรัฐปัว หรือ วรนคร (ต่อมาคือนครรัฐน่าน) และกำลังทรงพระครรภ์ ในขณะที่พญาเก้าเกื่อนจะต้องกลับไปครองเมืองย่าง (ปัจจุบันคือสบย่าง บริเวณติดต่อดอยภูคา ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน)[5] ตามคำขอของพญาภูคา ซึ่งเป็นพระอัยกา ซึ่งต้องการให้ลูกหลานกลับไปดินแดนมาตุภูมิ[7] พญาเก้าเกื่อนจึงยกเมืองปัว พร้อมกับโอนข้าราชบริพารทั้งหมดในพระองค์แก่แม่ท้าวคำพิน[1][4] พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด ระบุว่าพญาเก้าเกื่อนได้ตรัสกับแม่ท้าวคำพินเรื่องพระราชบุตรที่จะถือกำเนิดไว้ว่า "ผิว่าลูกรา ยังอยู่ในท้องเจ้านั้น คันออกมาเปนผู้ชาย แลใหญ่หม่ากล้าบาน"[1] ส่วน พงศาวดารเมืองน่าน ระบุคำพูดไว้ใกล้เคียงกัน คือ "ผิว่าคัพภะหากแก่บริบวรณ์แล้วหลอนนางประสูตรลูกออกมาเปนผู้ชายใหญ่หน้ากล้าหาญมา ก็หากจักสร้างบ้านแปงเมืองที่นี่หื้อรุ่งเรืองแก่เจ้าจ๊ะแด"[4] จากนั้นพญาเก้าเกื่อนก็ครองเมืองย่างตลอดมา จากนั้นไม่นานนักพญาภูคา พระอัยกาก็สิ้นพระชนม์ พญาเก้าเกื่อนจึงมีสิทธิธรรมในการครองเมืองย่างเต็มที่ ไม่หวนกลับมาครองเมืองปัวอีก[4]

เสด็จลี้ภัย

แก้
 
เถียงในนาแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน

ในช่วงที่แม่ท้าวคำพินขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองรัฐปัวและมีอำนาจเต็มเพียงพระองค์เดียว พญางำเมือง เจ้าผู้ครองแคว้นพะเยา ทรงทราบข่าวว่าเมืองปัวมีแต่นางพญาครองเมือง ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญเพราะเมืองปัวกำลังอ่อนแอ[2] จึงได้มีคำสั่งรี้พลเข้ายึดครองและปล้นเมืองปัวอย่างรวดเร็ว จนเสนาอำมาตย์ฝ่ายเมืองปัวไม่ทันได้แต่งทัพไปต้านได้ทัน แม่ท้าวคำพินซึ่งกำลังสังทรงครรภ์จวนจะคลอดทราบว่าเมืองจะถูกยึดครองก็รีบฉวยทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองจำนวนหนึ่ง พร้อมกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เสด็จลี้เข้าไปในป่าเขาอันห่างไกลอยู่หลายวัน เอกสารให้ข้อมูลต่างกันเล็กน้อย โดยใน พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด ระบุว่า "...ก็ดั้นดอนชอนป่าออกหนีไปขุนคอดยอดห้วยน้ำ ก็จิ่งไต่ตามห้วยขึ้นเมือรอดที่ 1 นางก็หันเถียงไร่หลัง 1 นางก็ขึ้นอยู่เถียงไร่ที่นั้นหั้นแล ยามนั้นก็ค่ำแล้วมาแล้ว นางพระญาก็นอนอยู่ในที่นั้นหั้นแล ในขณะกลางคืนนั้น นางพระญาก็ประสูติได้ลูกชาย 1..." กล่าวคือ นางหลบลี้เข้าไปในป่าและเดินท่องน้ำไปจนถึงต้นน้ำบนยอดเขา เมื่อค่ำแล้วไปพบเถียงไร่แห่งหนึ่ง และเข้าไปประทับอยู่ในเถียงไร่ดังกล่าวจนกระทั่งประสูติการพระโอรส[8] ส่วน พงศาวดารเมืองน่าน ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า "...หนีออกเมืองดำดอนซ่อนป่าไปได้หลายวันมากนัก ไปฮอดเถียงไร่ที่ 1 นางก็ขึ้นอยู่เถียงไร่ที่นั้นหั้นแล ฮอดในคืนวันนั้น นางก็ประสูตรได้ลูกชายคน 1 หั้นแล ฯ"[4] ส่วนเมืองปัวตกไปอยู่ในการดูแลของนางอั้วสิม พระชายาของพญางำเมือง พร้อมกับเจ้าราชบุตรอามป้อม[3][8]

หลังลี้ภัยออกนอกพระนิเวศน์ แม่ท้าวคำพินได้ประสูติการพระโอรสบนเถียงไร่ของนายบ้าน แต่เถียงนั้นก็ห่างไกลจากน้ำ ลำห้วยใกล้ ๆ ก็เป็นห้วยน้ำแล้ง จะหาน้ำอาบหรือกินก็ไม่ได้ แม่ท้าวคำพินก็ร่ำไห้ถึงพญาเก้าเกื่อน ตัดพ้อว่าพระสวามีเคยบอกว่าลูกชายคนนี้จะนำความรุ่งเรืองมาให้ แต่เหตุไฉนน้ำสักหยดยังไม่มีให้อาบสรงหรือดับกระหายได้เลยสักนิด แต่ทว่ากลางดึกคืนนั้นเป็นวันอุโบสถศีลพระจันทร์เต็มดวง ก็ได้มีลมและฝนห่าใหญ่ตกลงมามากมาย ครั้นเมื่อฝนหยุดลงในคืนนั้น แม่ท้าวคำพินก็ให้เด็กหญิงที่ติดตามมาด้วยออกไปหาน้ำด้วยกัน ก็ได้พบกับแหล่งน้ำให้ดื่มและชำระร่างกาย แล้วเดินกลับมาพำนักที่เถียงตามเดิม ครั้นรุ่งเช้า เจ้าของเถียงซึ่งเป็นนายบ้านกลับมาดูไร่สวนของตนเองก็แว่วเสียงเด็กร้อง เข้ามาพบแม่ท้าวคำพินและทารกอาศัยอยู่ในเถียงของตน จึงได้สอบถามความเป็นมาว่าเหตุใดเจ้านายชั้นสูงจึงมาตกระกำลำบากเช่นนี้[8] เมื่อฟังความจนจบแล้ว เจ้าของเถียงได้เชิญให้แม่ท้าวคำพิน พระโอรสน้อย และเด็กหญิงผู้ติดตาม ไปอาศัยอยู่ในเรือนของตนจะสมพระเกียรติกว่า นายบ้านคนนี้ได้อุปถัมภ์ค้ำชูทั้งสามคนอย่างดี มีอาหารเลี้ยงดูอย่างอิ่มหนำสำราญ จนกระทั่งพระกุมารสามารถเสด็จพระดำเนินได้ด้วยตนเอง เจ้าของบ้านจึงเชิญแม่ท้าวคำพิน พระโอรส และเด็กหญิง ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ บ้านสระ หรือ สะบาน ซึ่งเป็นเขตแดนของแคว้นพะเยา โดยมีนายบ้านสองคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด[9][10]

สิ้นพระชนม์

แก้

หลังครอบครัวได้ยกย้ายมาประทับอยู่ที่บ้านสระ (หรือ สะบาน) จนกระทั่งพระโอรสมีพระชันษาได้ 16 ปี แม่ท้าวคำพินก็สิ้นพระชนม์ลงที่บ้านสระนั้นเอง[8] ภายหลังนายบ้านทั้งสองคนก็นำตัวพระโอรสไปถวายตัวแก่พญางำเมือง เจ้าผู้ครองแคว้นพะเยา ซึ่งพ่อขุนงำเมืองมีพระกรุณาเอ็นดูพระโอรสน้อยอย่างดี โปรดเกล้าฯ ให้ใช้สอยอยู่บ่อย ๆ และทรงตั้งพระนามให้ว่า เจ้าขุนไส่[9] และแต่งตั้งให้เป็นขุนนางกินเมืองปลาด (หรือ ปราด) ซึ่งเป็นดินแดนในเขตแคว้นพะเยา[3] มีพระนามว่า เจ้าไส่ยศ[10] ซึ่งหลังจากนี้พระโอรสจะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพญาผานอง เจ้าผู้ครองเมืองปัว และรับเอานางอั้วสิม มาเป็นพระชายา[3][6][10]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

พระประวัติของนางพญาแม่ท้าวคำพินถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทละครพันทาง เรื่อง พญาผานอง (2501)[5]

เชิงอรรถ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด, หน้า 54
  2. 2.0 2.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 108
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ""พญางำเมือง" สถาปนารัฐพะเยา กับตำนาน "แกงหวานบ้านแตก"". ศิลปวัฒนธรรม. 29 กันยายน 2566. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 พงศาวดารเมืองน่าน, หน้า 45
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 บทละคอนพันทาง เรื่อง พญาผานอง, หน้า 4
  6. 6.0 6.1 ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด, หน้า 57-58
  7. พงศาวดารเมืองน่าน, หน้า 44
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด, หน้า 55
  9. 9.0 9.1 ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด, หน้า 56
  10. 10.0 10.1 10.2 พงศาวดารเมืองน่าน, หน้า 46

บรรณานุกรม

แก้
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประชุมพงศาวดารราษฎร์ ภาคที่ 2 พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2539. 124 หน้า. ISBN 974-8364-74-7
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
  • วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่. บทละคอนพันทาง เรื่อง พญาผานอง. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2528. 48 หน้า.
  • พงศาวดารเมืองน่าน. เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว), 2543. 132 หน้า.
ก่อนหน้า นางพญาแม่ท้าวคำพิน ถัดไป
พญาเก้าเกื่อน   นางพญาปัว
(พ.ศ. 1848–1849)
  พญาผานอง