ธชัคคปริตร หรือ ธชัคคสูตร หรือบางตำราเรียกว่า ธชัคคสุตตปาฐะ (บทว่าด้วยธชัคคสูตร) เป็นพระสูตรที่นิยมใช้สวดสาธยาย เพื่อป้องกันภัย รวมอยู่ในพระปริตร หรือบทสวดเจ็ดตำนาน และบทสวดสิบสองตำนาน พระสูตรนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวอุปมาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณว่า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอันเลิศ เปรียบดั่งชายธงของพระอินทร์ในเรื่องเทวาสุรสงคราม ยามที่เทวดาทั้งหลายกระทำสงครามกับเหล่าอสูร เมื่อมองไปที่ชายธงของพระอินทร์ ทำให้เกิดความมั่นใจฉันใด การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจหายกลัวฉันนั้น

ที่มา

แก้

พระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้ ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร อันเป็นอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตั้งอยู่เขตพระนครสาวัตถี ทรงตรัสถึงวิธีการจัดการกับความหวาดกลัว โดยทรงสอนให้ภิกษุทั้งหลายเจริญพุทธานุสสติ นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพทธเจ้ายามที่เกิดความหวาดกลัว เมื่อนึกถึงพระพุทธคุณแล้ว ความหวาดกลัวจะมลายหายไป [1]

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า "คำว่า ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตรคือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง เทวาสุรสงคราม คือ สงครามแห่งเทพดากับอสูรซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว โดยตรัสเล่าว่าเมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดขึ้นแก่เทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลดูยอดธง หรือชายธงของพระองค์หรือว่าของเทวราชที่รองลงมา ความกลัวก็จะหายไปได้ [ส่วน] พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ความกลัวก็จะหายไป [พระสูตร]นี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่าง ๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง" [2]

เนื้อหา

แก้

เนื้อหาของธชัคคสูตรสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ไวยากรณ์ภาษิต และ คาถาประพันธ์ ส่วนที่เป็นไวยากรณ์ภาษิต หรือภาษิตที่กล่าวไว้ดีแล้วถูกต้องตามหลักการแล้ว คือส่วนที่พระพุทธองค์ทรงเท้าความถึงการเจริญพุทธานุสสติว่า มีคุณมากกมาย เหมือนดังที่เทวดาทั้งหลายแลดูธงของพระอินทร์ในเทวาสุรสงคราม แต่พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสติ อันเป็นเหมือนธงชัยของพระภิกษุทั้งหลายนี้ เป็นสิ่งที่เลิศยิ่งกว่าธงชัยของพระอินทร์ และเทวดาผู้นำทั้งหลายนัก เพราะ

"เมื่อพวกเทวดาแลดูยอดธงของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดาก็ดี แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชอยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราชอยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราชอยู่ก็ดี ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นพึงหายไปได้บ้าง ไม่ได้บ้างข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุว่า ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากโทสะ ไม่ปราศจากโมหะ ยังเป็นผู้กลัว หวาดสะดุ้ง หนีไปอยู่ฯ" [3]

จากนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า การระลึกคุณพระรัตนตรัยนั้น ช่วยให้ภิกษุที่อยู่ "ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่าง" [4] ปราศจากความหวาดกลัวในสิ่งอันน่าสะพรึงกล้ว เพราะเหตุที่ว่า "พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม" [5] หรือบทพรรณนาพระพุทธคุณ คือ อิติปิโส[6] จากนั้น ก็ทรงแนะนำว่า หากพระภิกษุไม่อาจนึกถึงพระพุทธคุณ ให้นึกถึงพระธรรมคุณ หากไม่อาจนึกถึงพระธรรมคุณ ให้นึกถึงพระสังฆคุณ แล้วทรงถึงแจกแจงคุณของพระธรรมว่าเป็นเลิศ และคุณของพระสงฆ์ว่าเป็นเลิศ ดังบทพรรณนาพระธรรมคุณว่า สวากฺขาโตฯ [7] และดังบทพรรณนาพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโนฯ [8] เป็นต้น

แล้วทรงตรัสว่า เมื่อผู้ใดได้รำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยดังนี้แล้ว "ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไปฯ" [9]

หลังจากที่ทรงอธิบายคุณของการระลึกถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นดั่งธงชัยปัดเป่าความกลัวแล้ว จากนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ความว่า อรเญฺญ รุกฺขมูเล วาฯ ดังนี้ โดยมีคำแปลพระบาลี กล่าวคือ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชนทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้วทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลยฯ" [10]

การสวดสาธยาย

แก้

ธชัคคปริตร หรือธชัคคสูตร ได้รับการจัดให้เป็นพระปริตร หรือบทสวดเจ็ดตำนาน และบทสวดสิบสองตำนาน และรวมอยู่ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง เชื่อถือกันว่ามีอานุภาพป้องกันยักขภัยและโจรภัย เป็นต้น และมีอานุภาพแผ่ไปได้ถึงแสนโกฏิจักรวาล [11] [12]

นอกจากนี้ ในอรรถกถาสารัตถปกาสินียังเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ของพระปริตรนี้ไว้ว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังฉาบปูนขาวที่ทีฆวาปิเจดีย์ เกิดพลัดตกจากเชิงเวทีชั้นบนลงมาในโพรงพระเจดีย์ "ภิกษุสงฆ์ยืนอยู่ข้างล่าง จึงกล่าวว่า นึกถึงธชัคคปริตซิคุณ เขาตกใจ กลัวตายจึงกล่าวว่า ธชัคคปริตช่วยผมด้วย ดังนี้ อิฐ 2 ก้อนหลุดจากโพรงเจดีย์ตั้งเป็นบันไดให้เขาทันที คนทั้งหลายก็หย่อนบันไดเถาวัลย์ที่อยู่ข้างบน อิฐที่บันไดนั้นก็ตั้งอยู่ตามเดิม" [13]

คุณของพระปริตรนี้ยังปรากฏในบทขัด ความว่า "ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ อนฺตลิกฺเขปิ ปาณิโน/ปติฏฺฐมธิคจฺฉนฺติ ภูมิยํ วิย สพฺพทา/สพฺพูปทฺทวชาลมฺหา ยกฺขโจราทิสมฺภวา/คณนา น จ มุตฺตานํ/ปริตฺตนฺตมฺภณาม เหฯ" กล่าวคือ "สัตว์ทั้งหลายย่อมได้ที่พึ่งทุกเวลาแม้ในอากาศ เช่นเดียวกับได้ที่พึ่ง ณ พื้นแผ่นดิน/อีกทั้งสัตว์ทั้งหลายที่รอดพ้นจากข่าย/แห่งอุปัททวะทั้งมวลอันเกิดแต่ยักษ์และโจรเป็นต้นจนนับมิถ้วน/เพราะระลึกถึงพระปริตรใดโดยแท้/ เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรนั้น กันเถิด" [14]

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระวินิจฉัยว่า "ในการสวดมนต์เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็มก็สวดพระสูตรเต็ม ในการสวดมนต์ทั่วไป สวดจำเพาะอนุสสรณปาฐะ คือปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ คือเป็นเครื่องระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ก็คือสวดจำเพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น อันนำสวดด้วยคำว่า อนุสสรณปาฐะ คือ เป็นปาฐะบาลี หรือถ้อยคำที่แสดงอนุสสรณะ คือคำที่สำหรับระลึกถึง ก็หมายถึงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ กับสวดตอนท้ายพระสูตรอันเรียกว่านิคมคาถา ที่แปลว่าคาถาตอนท้าย ตั้งต้นด้วยคำว่า อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา เป็นต้น ที่แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่างเรือนเปล่า ดั่งนี้เป็นต้น" [15]

อ้างอิง

แก้
  1. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 463 - 467
  2. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. (2540). ธชัคคสูตรบรรยาย.
  3. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 464 - 465
  4. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 465
  5. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 465
  6. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา.
  7. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา.
  8. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา.
  9. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 466
  10. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 466
  11. ธนิต อยู่โพธิ์. (2550). อานุภาพพระปริตร. หน้า 109
  12. สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 . หน้า 467
  13. สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 . หน้า 468
  14. ธนิต อยู่โพธิ์. (2550). อานุภาพพระปริตร. หน้า 110
  15. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. (2540). ธชัคคสูตรบรรยาย.

บรรณานุกรม

แก้
  • พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สกฺกสํยุตฺตํ ธชคฺคสุตฺตํ.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 .
  • สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 .
  • สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. (2540). ธชัคคสูตรบรรยาย. ในนิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ 82 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2540.
  • ธนิต อยู่โพธิ์. (2550). อานุภาพพระปริตร. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ข้อมูลเพิ่มเติม

แก้

*ธชคฺคสุตฺตํ

*ธชัคคสูตร

*อรรถกถาธชัคคสูตร

*ธชัคคสูตรบรรยาย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

*บทสวดมนต์ธชัคคสูตร