สารัตถปกาสินี คือคัมภีร์อรรถกถา อธิบายและชี้แจงเนื้อความในพระสุตตันตปิฎก หมวดสังยุตตนิกาย โดยจัดทำคำอธิบายตามที่แบ่งตามวรรคต่างๆ ในหมวดย่อยของสังยุตตนิกาย กล่าวคือ สคาถวรรค, นิทานวรรค, ขันธวารวรรค, สฬายตนวรรค และมหาวารวรรค [1] [2]

ผู้แต่ง แก้

สารัตถปกาสินี เป็นผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์ หรือพระพุทธโฆสะ มหาเถระปราชญ์สำคัญชาวชมพูทวีป ซึ่งเดินทางไปยังเกาะลังกาด้วยความประสงค์จะแปลอรรถกถาพระไตรปิฎกภาษาสิงหลในลังกาทวีปกลับเป็นภาษามคธ [3] ในเวลาต่อมาพระพุทธโฆสะได้แต่งตามคำอาราธนาของพระโชติปาลเถระ ซึ่งเคยอยู่ร่วมสำนักกันที่กัญจิปุระทางตอนใต้ของอินเดีย เมื่อใกล้จะถึง พ.ศ. 1,000 โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหลชื่อมหาอรรถกถา [4]

เนื้อหา แก้

คัมภีร์สารัตถปกาสินีนี้ พระอรรถกถาจารย์ให้คำอธิบายเนื้อหาในสังยุตตนิกาย ทั้งในด้านหลักธรรม และในด้านภาษาศาสตร์ เช่นในอรรถกถาปาเถยยสูตา แสดงถึงลักษณะของการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ และความหมายนัยยะต่างๆ ของศัพท์นั้นๆ ความว่า "บทว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง อธิบายว่า บุคคลยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้ทาน ย่อมรักษาศีล ย่อมทำอุโบสถกรรมด้วยเหตุนี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง ดังนี้ บทว่า สิริ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ บทว่า อาสโย ได้แก่เป็นที่อาศัย จริงอยู่ โภคะทั้งหลายย่อมมาจากทางบกบ้าง ทางน้ำบ้างมุ่งหน้าเฉพาะผู้เป็นใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าสิริเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ดังนี้ บทว่า ปริกสฺสติ ได้แก่ ย่อมฉุดคร่าไป" ดังนี้ [5]

ตัวอย่างที่เด่นชัดของการอธิบายหลักธรรม เช่น การขยายความคำว่า "พุทธะ" ว่ามีอยู่ ประเภท คือ สัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ จตุสัจจพุทธะ และสุตพุทธะ ดังปรากฏในอรรถกถาอัปปฏิวัทิตสูตร ว่า " ในพุทธะเหล่านั้น ผู้บำเพ็ญบารมี 30 ทัศ แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิ ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธะ ผู้บำเพ็ญบารมีสิ้น ๒ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป จึงบรรลุด้วยตนเอง ชื่อว่า พระปัจเจกพุทธะ พระขีณาสพผู้สิ้นอาสวะโดยไม่เหลือ ชื่อว่า จตุสัจจพุทธะ ผู้เป็นพหูสูต ชื่อว่า สุตพุทธะ" [6] นอกจากนี้ ยังปรากฏตัวอย่างในอรรถกถาทุติยอัปปมาทสูตร ได้มีการอธิบายอริยมรรคมีองค์ 8 และลักษณะของมรรค [7]

ทั้งนี้ พระอรรถกถาจารย์ยังได้ยกชาดกและนิทานมาประกอบการอธิบายพระสูตรและเนื้อความในสังยุตตนิกายไว้อย่างน่าสนใจ เช่นในอรรถกถาสัพภิสูตร ได้มีการยกเรื่องอำนาจและผลของการรักษาของศีลว่า มีบุรุษผู้นึกถึงศีลของตนในยามประสบกับภยันตรายจากคลื่นยักษ์ซัดจนเรือเจียนล่ม เมื่อผู้คนบนเรือเห็นชายผู้นั้นไม่หวั่นไหว จึงไต่ถาม ทราบความว่าเขาตั้งมั่นในศีลดีแล้ว จึงไม่มีความหวาดกลัว ชนทั้ง 700 คน บนเรือจึงขอรับศีลตามลำดับ จนกระทั่งน้ำท่วมเรือจนจมตายหมดทั้งลำ แต่ด้วยความที่รับศีล 5 เป็นสรณะแล้ว ชนทั้งหมดจึงไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ "เพราะอาศัยศีลอันตนรับเอาในเวลาใกล้ตาย" เป็นต้น [8]

นอกจากจะอธิบายธรรม และคำศัพท์ในพระสูตรแห่งสังยุตตนิกายทั้งหมดแล้ว คัมภีร์สารัตถปกาสินียังให้ความรู้ด้านอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาในสังยุตตนิกาย เช่น การอธิบายขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของอินเดียโบราณ ที่เป็นบริบทแวดล้อมในยุคพุทธกาล เช่นการอธิบายพระเวท 5 คัมภีร์ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อถรรพเวทและอิติหาสะ [9]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง แก้

อ้างอิง แก้

  1. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 79
  2. พระสุธีวรญาณ. (2542). หน้า 145 - 156
  3. พระเมธีรัตนดิลก. ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกบาลี.
  4. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 73
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 314
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 58
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 487 - 488
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 154 - 155
  9. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 73

บรรณานุกรม แก้

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระสุธีวรญาณ. (2542). เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระเมธีรัตนดิลก. ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกบาลี. คณะพุทธศาสตร์. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. สังยุตตนิกาย

ตัวบทคัมภีร์ แก้

สารตฺถปกาสินี (บาลี)

สารตฺถปกาสินี ๑

สารตฺถปกาสินี ๒

สารตฺถปกาสินี ๓