ถั่วพร้า

สกุลของพืช
ถั่วพร้า
Canavalia rosea
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
ชั้นย่อย: Rosidae
ไม่ได้จัดลำดับ: Eurosids I
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
วงศ์ย่อย: Faboideae
สกุล: Canavalia
DC.

ถั่วพร้า เป็นพืชประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน เพราะเป็นพืชที่ให้ธาตุไนโตรเจนในปริมาณสูง จึงนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนในการเพาะปลูก เนื่องจากสามารถเพาะปลูกได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำในการนำมาใช้ประโยชน์ และไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลเบื้องต้น แก้

ถั่วพร้าจัดเป็นพืชในสกุล (Genus) Canavalia ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 70 – 75 ชนิด (Specie) แต่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ ถั่วพร้าเมล็ดยาว และถั่วพร้าเมล็ดแดง พืชในสกุลนี้จัดอยู่ในส่วน (Division) Magnoliophyta, ชั้น (Class) Magnoliopsida, ชั้นย่อย (Subclass) Rosidae (Eurosids I) , ตระกูล (Order) Fabales, วงศ์ (Family) Fabaceae และวงศ์ย่อย (Subfamily) Faboideae

  • ถั่วพร้าเมล็ดยาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canavalia ensiformis (L.) DC. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า jack bean หรือ house bean ส่วนใหญ่พบว่ามีการเพาะปลูกในเขตร้อนชื้นของทวีปอเมริกา เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์หรือปลูกเป็นพืชหมุนเวียนสลับกับพืชหลัก เมล็ดและฝักของถั่วพร้ามีความเป็นพิษ จึงไม่นิยมที่จะนำมาบริโภค แต่ก็สามารถบริโภคฝักอ่อน ใบ หรือเมล็ดที่ผ่านกระบวนการชะล้างพิษ เช่น คั่ว หรือต้มถ่ายน้ำหลาย ๆ ครั้งได้
  • ถั่วพร้าเมล็ดแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canavalia gladiata (Jacq.) DC. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า sword bean ส่วนใหญ่พบว่ามีการเพาะปลูกในเขตเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในลักษณะของผักสวนครัว โดยจะบริโภคฝักอ่อนและเมล็ดอ่อน นอกจากนี้ยังสามารถนำเมล็ดแก่ไปคั่วเพื่อบริโภคแทนกาแฟได้

ลักษณะภายนอก แก้

ลักษณะลำต้นของถั่วพร้าเป็นเถา ซึ่งสามารถเลื้อยสูงได้ถึง 10 เมตร อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรพบว่า สามารถปลูกในลักษณะไม้พุ่มได้ เพราะลำต้นมีเนื้อไม้แข็งเป็นแกน โดยจะมีความสูงประมาณ 60 – 120 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นใบรวมแบบสามใบ (trifoliolate) มีรูปร่างมนค่อนข้างกลมคล้ายไข่ ยาว 7 – 12 เซนติเมตร ดอกเป็นกลุ่ม มีสีชมพู แต่ถั่วพร้าเมล็ดแดงจะมีความแตกต่างคือ ปลายดอกจะมีสีแดง ทั้งสองชนิดมีกลีบเลี้ยงโค้ง ส่วนบนมีสีขาว ภายในดอกมีเกสรครบทั้งสองเพศ และส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80 ของการติดผล) จะผสมพันธุ์กันเองภายในดอก

ลักษณะของฝักจะมีรูปร่างคล้ายดาบ ห้อยปลายลง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองคล้ายฟางข้าว ถั่วพร้าเมล็ดยาวจะมีขนาดฝักกว้าง 3 – 3.5 เซนติเมตร ยาว 15 – 35 เซนติเมตร เมล็ดมีสีขาวคล้ายงาช้าง มีขนาด 1.5 – 2 เซนติเมตร ขั้วเมล็ด (hilum) ยาว 0.5 – 1 เซนติเมตร ในขณะที่ถั่วพร้าเมล็ดแดงจะมีขนาดฝักกว้างประมาณ 3.5 – 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร เมล็ดมีสีแดงอมน้ำตาล มีขนาด 2 – 3.5 เซนติเมตร ขั้วเมล็ดยาว 1.5 – 2 เซนติเมตร

การนำมาใช้ประโยชน์ แก้

  1. ฝักอ่อนและเมล็ดอ่อนสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ สำหรับเมล็ดที่โตเต็มที่ต้องทำการชำระพิษโดยลอกผิวหุ้มเมล็ดออกแล้วต้มถ่ายน้ำหลาย ๆ ครั้ง
  2. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน
  3. ใช้เป็นอาหารสัตว์
  4. ใช้สกัดเพื่อทำยาหรือเครื่องสำอาง

สภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต แก้

ถั่วพร้าเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีแดดจัด มีอุณหภูมิระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 900 – 1500 มิลิเมตรต่อปี และสภาพดินเป็นดินเหนียวที่ระบายน้ำได้ดี

อย่างไรก็ตาม ถั่วพร้าสามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 700 มิลลิเมตรต่อปี หรือในพื้นที่ชุ่มที่มีปริมาณน้ำฝนถึง 4,500 มิลิเมตรต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถเจริญเติบโตได้ในที่ร่ม ในดินเค็ม ดินที่ขาดธาตุอาหาร หรือแม้กระทั่งดินที่มีสภาพความเป็นกรดในระดับ pH 4.5 และสามารถเพาะปลูกได้ในระดับความสูงถึง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า ถั่วพร้าเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย

วิธีการเพาะปลูก แก้

วิธีการเพาะปลูกที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่มี 3 วิธี คือ

  1. ปลูกแบบหว่าน – เป็นวิธีที่สะดวก ประหยัดเวลาและแรงงานที่สุด ทำโดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หว่านลงไปในแปลงให้ทั่ว ในอัตรา 8 - 10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบเมล็ด
  2. ปลูกแบบโรยเป็นแถว – เป็นวิธีที่ค่อนข้างช้าและสิ้นเปลืองแรงงานเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีแรก แต่จะทำให้ได้ต้นถั่วพร้าที่ขึ้นเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ ทำโดยใช้เมล็ดโรยลงในแถว ซึ่งมีระยะระหว่างแถว 75 - 100 เซนติเมตร เมื่อโรยเมล็ดลงในแถวแล้วกลบเมล็ดด้วยดินบาง ๆ ในอัตรา 5 - 8 กิโลกรัมต่อไร่
  3. ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม – เป็นวิธีที่ล่าช้า สิ้นเปลืองแรงงาน และไม่สะดวกในทางปฏิบัติที่สุด แต่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในกรณีที่มีปริมาณเมล็ดพันธุ์จำกัด ทำโดยการขุดหลุดเล็ก ๆ ลึกประมาณ 5 – 7.5 เซนติเมตร มีในระยะระหว่างแถวของหลุมประมาณ 75 – 90 เซนติเมตร และระยะระหว่างหลุมในแถวเดียวกันประมาณ 45 – 60 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 - 3 เมล็ดต่อหลุมแล้วกลบเมล็ดด้วยดินบาง ๆ ในอัตรา 3 - 5 กิโลกรัมต่อไร่

โรคและศัตรูพืช แก้

ถั่วพร้ามีความต้านทานต่อโรคและศัตรูพืชค่อนข้างดี แต่ก็มีโรคและศัตรูพืชบ้างชนิดที่อาจทำอันตรายต่อถั่วพร้าได้ เช่น โรครากเน่า (root rot) ที่มีสาเหตุจาก Colletotrichum lindemuthianum, หนอนถั่วเหลือง Heterodera glycines, หนอน Spodoptera frugiperda และตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งบางชนิดที่อาจเจาะเข้าไปทำลาย stem ในเมล็ดถั่วได้

นอกจากนี้ถั่วพร้ายังเป็นพาหะ (host) ของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคจุดในมะเขือเทศ (tomato spotted wilt virus, TSWV) และทำให้ประชากรของไส้เดือน (nematode) ภายในดินลดลง

การเก็บเกี่ยว แก้

การเก็บเกี่ยวฝักอ่อนเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารจะทำได้หลังจากการเพาะปลูกราว 3 - 4 เดือน สำหรับการเก็บเกี่ยวเมล็ดที่โตเต็มที่เพื่อนำไปทำเป็นเมล็ดแห้ง จะทำได้หลังจากการเพาะปลูกราว 5 – 10 เดือน

การใช้เป็นปุ๋ยพืชสด แก้

นิยมปฏิบัติอยู่ 2 วิธี คือ

  1. ทำโดยการปลูกเป็นพืชหมุนเวียนสลับกับพืชหลัก ซึ่งจะนิยมทำกันในพื้นที่ดอน โดยทำการไถกลบหลังจากการเพาะปลูกประมาณ 60 – 65 วัน ควรเลือกทำในขณะที่ดินมีความชุ่มชื้นพอสมควร จากนั้นจึงทำการปลูกพืชหลัก
  2. ปลูกแซมไปกับพืชหลัก โดยทำการปลูกหลังจากปลูกพืชหลักไปแล้วประมาณ 1 – 2 สัปดาห์

ในการไถกลบถั่วพร้าพื้นที่ 1 ไร่ จะให้น้ำหนักสดประมาณ 2.5 - 4 ตัน ซึ่งจะได้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 10 - 20 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียปริมาณ 23 – 48 กิโลกรัม หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตปริมาณ 47 – 95 กิโลกกรัม โดยมีปริมาณร้อยละของไนโตเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมประมาณ 2.00 - 2.95, 0.30 - 0.40 และ 2.20 - 3.00 หน่วยตามลำดับ อย่างไรก็ตามน้ำหนักมวลชีวภาพและปริมาณธาตุอาหารขึ้นกับปัจจัยของดินและการจัดการ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้