ตลาดน้ำบางพลี

(เปลี่ยนทางจาก ตลาดน้ำโบราณบางพลี)

ตลาดน้ำบางพลี หรือ ตลาดน้ำโบราณบางพลี เป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

เป็นตลาดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ลักษณะเป็นห้องแถวไม้โบราณ 2 ชั้น ปลูกติดต่อกันเป็นความยาวกว่า 500 เมตร อยู่ใกล้กับวัดบางพลีใหญ่ใน เดิมมีชื่อว่า "ตลาดศิริโสภณ" สันนิษฐานว่าชาวจีนเป็นผู้เข้ามาเปิดร้านในตลาดนี้ราว พ.ศ. 2400 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เดิมเป็นชุมชนใหญ่มีความรุ่งเรืองมากในอดีต โดยเป็นตลาดขนส่งจากภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลสู่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก[1]

ตลาดน้ำบางพลี เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดนไฟเผาวอดไปประมาณ 16 คูหา เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ใช้รถดับเพลิงกว่า 20 คัน จึงดับเพลิงแล้วเสร็จ สันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร[2]

ตลาดน้ำบางพลี ถือเป็นตลาดน้ำที่มีความเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ ๆ มีวิถีชีวิตเรียบง่ายและมีวัฒนธรรมที่ดีงามสั่งสมอยู่มากมาย เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้านานาชนิด ทั้งอาหาร, ของใช้ต่าง ๆ, ของประดับตกแต่งบ้าน, เสื้อผ้า, สัตว์เลี้ยง กอรปกับมีทิวทัศน์ของคลองสำโรงที่ประดับประดาไปด้วยเรือพายขายขนม ผลไม้ตามฤดูกาลของชาวบางพลีที่พายไปมา รวมถึงเรือที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยังใช้สัญจรไปมาในชีวิตประจำวันด้วย[1]

พื้นที่บริเวณย่านตลาดน้ำบางพลี มีการจัดกิจกรรมและงานเทศกาลหลายงาน มีประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ประเพณีรับบัว-โยนบัว จัดขึ้นในวันที่ 13 ค่ำ เดือน 11 เพื่อสักการะหลวงพ่อโต[3]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 หน้า 17 ต่อข่าวหน้า 1, ตลาดโบราณบางพลี, "เคียงข่าว". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,596: วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แรม 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
  2. หน้า 1 ต่อหน้า 17, พระเพลิงเผาวอด ตลาดเก่าร้อยปี ชาว'บางพลี'เศร้า. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,596: วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แรม 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
  3. จิรเดช วงศ์วิสิฐศักดิ์ (2559). พัฒนาการของพื้นที่ย่านตลาดน้ำบางพลี (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2560. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°36′13″N 100°42′45″E / 13.603497°N 100.712394°E / 13.603497; 100.712394