ดีร์ก ฟัน บาบือเริน

ดีร์ก ยัสเปิร์สโซน ฟัน บาบือเริน (ดัตช์: Dirck Jasperszoon van Baburen) หรือ เตโอดูร์ ฟัน บาบือเริน (Teodoer van Baburen; ราว ค.ศ. 1595 - 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1624) เป็นจิตรกรชาวดัตช์ในสมัยยุคทองของเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพประวัติศาสตร์, คริสต์ศาสนา และชีวิตประจำวัน

ดีร์ก ฟัน บาบือเริน

ชีวิต แก้

ดีร์ก ฟัน บาบือเริน อาจจะเกิดที่เมืองไวก์ไบดืร์สเตเดอ (Wijk bij Duurstede) แต่ครอบครัวย้ายไปยูเทรกต์เมื่อบาบือเรินยังเป็นเด็ก เอกสารแรกที่กล่าวถึงเป็นบันทึกจากปี ค.ศ. 1611 ของสมาคมช่างนักบุญลูกาของเมืองยูเทรกต์ว่าเป็นลูกศิษย์ของเปาลึส โมเรลเซอ (Paulus Moreelse) ราวระหว่าง ค.ศ. 1612 ถึง ค.ศ. 1615 บาบือเรินเดินทางไปกรุงโรม และที่นั่นทำงานร่วมกับดาฟิด เดอ ฮาน (David de Haen) และเป็นทั้งเพื่อนและผู้ติดตามของการาวัจโจ และบาร์โตโลเมโอ มันเฟรดี (Bartolomeo Manfredi) นอกจากนั้นงานของบาบือเรินยังเป็นที่สนใจของนักสะสมศิลปะและผู้อุปถัมภ์วินเชนโซ จุสตีนีอานี และคาร์ดินัลชีปีโอเน บอร์เกเซ และอาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของสองคนนี้ที่ทำให้ได้รับงานเขียนฉากแท่นบูชา "ชะลอร่างจากกางเขน" สำหรับชาเปลในโบสถ์ปีเอโตรอินมอนโตรีโอในกรุงโรมราว ค.ศ. 1617[1] บาบือเรินเป็นศิลปินรุ่นแรกที่เป็นกลุ่มผู้มาจากเนเธอร์แลนด์ที่มาทำงานในโรมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มแบ็นต์ฟือเคิลส์" (Bentvueghels)[2] บาบือเรินได้รับชื่อเล่นว่า "เจ้าขี้เมา" (Biervlieg)

ในปลายปี ค.ศ. 1620 บาบือเรินก็กลับไปยูเทรกต์และเริ่มเขียนภาพชีวิตประจำวันจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1624 เมื่อมีอายุเพียงสามสิบปี บาบือเริน, แฮ็นดริก เตอร์บรึคเคิน และเคราร์ด ฟัน โฮนต์ฮอสต์ ร่วมกันก่อตั้งลักษณะการเขียนภาพที่ปัจจุบันเรียกกันว่า "ตระกูลการเขียนภาพแบบการาวัจโจแห่งยูเทรกต์" ร่างของบาบือเรินถูกฝังเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1624 ในโบสถ์บืร์ (Buurkerk) ซึ่งเป็นโบสถ์ยุคกลางที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีลาน (Museum Van Speelklok tot Pierement) ราว ค.ศ. 1629 กวีและคีตกวีโกนสตันไตน์ เฮยเคินส์ (Constantijn Huygens) ตั้งข้อสังเกตว่าบาบือเรินเป็นจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ที่มีงานเขียนในต้น ๆ คริสต์ทศวรรษของคริสต์ศตวรรษที่ 17[3]

อาชีพ แก้

เวลาการเขียนภาพของบาบือเรินเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้นและมีภาพเขียนเหลืออยู่เพียงไม่กี่ภาพ งานเขียนมักจะเป็นศิลปะคริสเตียนในกรุงโรมรวมทั้งฉากแท่นบูชา "ชะลอร่างจากกางเขน" สำหรับชาเปลในโบสถ์ซานปีเอโตรอินมอนโตรีโอในกรุงโรม ซึ่งเป็นภาพที่เป็นหนี้ภาพหัวเรื่องเดียวกัน -- "ชะลอร่างจากกางเขน"[1] ของการาวัจโจ ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน นอกจากนั้นบาบือเรินก็เขียน "พระเยซูถูกจับ" (หอศิลป์บอร์เกเซ) สำหรับชีปีโอเน บอร์เกเซ และภาพ "พระเยซูล้างเท้าให้อัครสาวก" (Gemäldegalerie, กรุงเบอร์ลิน) สำหรับวินเชนโซ จุสตีนีอานี[4]

งานในยูเทรกต์ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1621 เมื่อ ค.ศ. 1624 เป็นปีสุดท้ายของการเขียนภาพเป็นลักษณะการเขียนที่ผสมระหว่างการาวัจโจกับบาร์โตโลเมโอ มันเฟรดี ในงานเขียนภาพจากตำนานเทพ และจิตรกรรมประวัติศาสตร์ เช่นภาพ "โพรมีเทียสถูกล่ามโดยวัลกัน" (พิพิธภัณฑ์ไรก์ กรุงอัมสเตอร์ดัม) ที่ใช้ภาพนักบุญพอลแห่งทาซัสนอนหงายจากภาพ "มโนทัศน์ของนักบุญพอลบนถนนสู่ดามัสกัส"[2] (วัดซานตามารีอาเดลโปโปโล กรุงโรม) ของการาวัจโจ ในการวางท่าเทพโพรมีเทียสล้มหงายหลังเมื่อถูกจับ เพราะไปขโมยไฟจากพระเจ้ามาให้มนุษย์เดินดิน

บาบือเรินเป็นหนึ่งในจิตรกรกลุ่มแรกที่เผยแพร่การเขียนภาพชีวิตประจำวันเช่นภาพนักดนตรีและคนเล่นไพ่ งานชิ้นที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดชิ้นหนึ่งก็ได้แก่ภาพ "โสเภณี" (Procuress) (พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบอสตัน) ที่เป็นภาพชายยื่นเงินสำหรับการบริการให้โสเภณีที่กำลังเล่นลูตขณะที่แม่เล้าด้านขวาของภาพตรวจจำนวนเงิน ภาพเขียนนี้ (หรือก๊อบปี้ของภาพเขียนนี้) เป็นของแม่ยายของโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ และเป็นภาพที่ปรากฏในภาพเขียนของเฟอร์เมร์สองภาพ : ภาพ "เล่นดนตรี"[3] (ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์, บอสตัน) และภาพ "สตรีนั่งหน้าเครื่องดนตรี"[4] (หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน))

ผลงานบางชิ้น แก้

  • "ชะลอร่างจากกางเขน" (The Entombment) ราว ค.ศ. 1617, (โบสถ์ซานปีเอโตรอินมอนโตรีโอ, โรม)
  • "พระเยซูถูกจับ" (Capture of Christ) ก่อน ค.ศ. 1621 (หอศิลป์บอร์เกเซ, โรม)
  • "พระเยซูล้างเท้าให้อัครสาวก" (Christ Washing the Feet of the Apostles) ก่อน ค.ศ. 1621 (Gemäldegalerie, เบอร์ลิน)
  • "ความตายของยูไรอาห์ในสนามรบ" (Uriah's Death in Battle) ก่อน ค.ศ. 1621 (งานสะสมส่วนบุคคล)
  • "เด็กเป่านกหวีด" (Youth Playing a Small Whistle) ค.ศ. 1621 (Centraal Museum, ยูเทรกต์)
  • "โสเภณี" (The Procuress) ค.ศ. 1622 (พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบอสตัน)
  • "พระเยซูในหมู่นักปราชญ์" (Christ among the Doctors) ค.ศ. 1622 (หอศิลป์แห่งชาติ (นอร์เวย์), ออสโล)
  • "คนเล่นแบ็กแกมมอน" (Backgammon Players) ราว ค.ศ. 1622 (หอศิลป์เรซิเดนซ์, บัมแบร์ก)
  • "Loose Company" ค.ศ. 1623 (Gemäldegalerie, ไมนทซ์)
  • "โพรมีเทียสถูกล่ามโดยวัลกัน" (Prometheus Being Chained by Vulcan) ค.ศ. 1623 (พิพิธภัณฑ์ไรก์, อัมสเตอร์ดัม)
  • "พระเยซูทรงมงกุฏหนาม" (Crowning with Thorns) ค.ศ. 1623 (คอนแวนต์แคเทอริน, ยูเทรกต์)
  • "พระเยซูทรงมงกุฏหนาม" (Crowning with Thorns) ค.ศ. 1623 (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเนลสัน-แอตคินส์, แคนซัสซิตี (รัฐมิสซูรี))
  • "กีมอนและเปโร" (Cimon and Pero (Roman Charity)) ราว ค.ศ. 1623 (หอศิลป์แห่งเมืองยอร์ก)
  • "ไอรีนรักษานักบุญเซแบสเตียน" (Saint Sebastian Tended by Irene) ราว ค.ศ. 1623 (หอศิลป์ (ฮัมบวร์ค), ฮัมบวร์ค)

อ้างอิง แก้

  1. Brown, p. 110.
  2. Levine.
  3. Brown, p. 102.
  4. Brigstocke.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ดีร์ก ฟัน บาบือเริน

ระเบียงภาพ แก้