ซีตันเดลาวัลฮอลล์
ซีตันเดลาวัลฮอลล์ (อังกฤษ: Seaton Delaval Hall, ออกเสียง) เป็นคฤหาสน์ชนบทที่ตั้งอยู่ที่ระหว่างซีตันสลูซกับซีตันเดลาวัลในนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ในสหราชอาณาจักร ซีตันเดลาวัลฮอลล์ออกแบบโดยจอห์น แวนบรูห์ในปี ค.ศ. 1718 สำหรับพลเรือเอกจอร์จ เดลาวัล[1] แต่ตั้งแต่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1728 ซีตันเดลาวัลฮอลล์ก็ประสบแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ อันไม่เป็นมงคลมาโดยตลอด ทั้งสถาปนิกและเจ้าของต่างก็ไม่มีชีวิตต่อจนได้เห็นคฤหาสน์เมื่อสร้างเสร็จ ตั้งแต่นั้นมาคฤหาสน์ก็ผ่านมือต่อมายังทายาทที่มาพำนักอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว
ซีตันเดลาวัลฮอลล์ | |
---|---|
ซีตันเดลาวัลฮอลล์ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | คฤหาสน์ชนบท |
สถาปัตยกรรม | บาโรกอังกฤษ |
เมือง | นอร์ทธัมเบอร์แลนด์ |
ประเทศ | อังกฤษ, สหราชอาณาจักร |
พิกัด | 55°4′56.28″N 1°29′47.76″W / 55.0823000°N 1.4966000°W |
เริ่มสร้าง | ค.ศ. 1718 - ค.ศ. 1728 |
สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ ระดับ 1 |
"ซีตันเดลาวัลฮอลล์" เป็นสิ่งก่อสร้างอยู่ในรายชื่อสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ เกรด 1 ปัจจุบันคฤหาสน์มีองค์การอนุรักษ์แห่งชาติเป็นผู้บริหาร
ประวัติ
แก้ครอบครัวเดลาวัลเป็นเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ตั้งของซีตันเดลาวัลฮอลล์มาตั้งแต่การพิชิตอังกฤษโดยนอร์มันในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 นายพลเดลาวัลสร้างฐานะขึ้นมาจากทรัพย์สมบัติที่ยึดได้ขณะที่รับราชการในราชนาวี และได้ทำการซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากญาติพี่น้องที่มีฐานะยากจนกว่า
ในปี ค.ศ. 1718 นายพลเดลาวัลก็จ้างจอห์น แวนบรูห์ให้มาทำการปรับปรุงคฤหาสน์เดิมให้ทันสมัยขึ้น แต่เมื่อมาเห็นที่ตั้งของคฤหาสน์เข้าแวนบรูห์ก็มีความเห็นว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะแก้ไขได้และแนะนำให้รื้อทิ้งยกเว้นแต่ชาเปลเก่าที่ตั้งอยู่ติดกับคฤหาสน์ การสร้างคฤหาสน์มาสำเร็จลงในปี ค.ศ. 1728 สองปีหลังจากที่นายพลเดลาวัลเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งทำให้เป็นคฤหาสน์สุดท้ายที่แวนบรูห์ออกแบบ และถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของแวนบรูห์
เมื่อสร้างเสร็จฟรานซิสหลานของนายพลเดลาวัลก็ได้รับซีตันเดลาวัลฮอลล์และทำการย้ายเข้าไปอยู่ทันที ในปี ค.ศ. 1822 ส่วนกลางของตัวคฤหาสน์ถูกทำลายไปกับเพลิงไหม้ที่กล่าวกันว่าเกิดจากนกแจ็คดอว์ที่มาทำรังบนปล่องไฟ คฤหาสน์ได้รับการซ่อมแซมเป็นบางส่วนระหว่าง ค.ศ. 1862 ถึง ค.ศ. 1863 แต่ก็ยังคงทิ้งร้างอยู่ พร้อมกับร่องรอยของเพลิงไหม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในห้องโถงหลัก ที่เดิมสูงกว่า 9 เมตรที่ผนังและรูปสลักยังคงมีรอยไหม้ให้เห็น
ในปี ค.ศ. 1953 หลังจากการตีพิมพ์หนังสือที่เขียนโดยลอร์ดเล็ฟเทนแนนท์แห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ชื่อ "Education Committee of the County of Northumberland as a memento of the Coronation of Her Majesty Queen Elizabeth II and a reminder of your loyalty to Her Majesty and to the beautiful County of Northumberland" (ไทย: คณะกรรมาธิการการศึกษาแห่งมณฑลนอร์ทธัมเบอร์แลนด์เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเพื่อเป็นเครื่องเตือนถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์และแก่มณฑลอันงดงามของนอร์ทธัมเบอร์แลนด์) แล้วซีตันเดลาวัลฮอลล์ก็ได้รับการบูรณะต่อและมาเสร็จลงในปี ค.ศ. 1959 แต่คฤหาสน์ก็ไม่มีผู้พำนักอยู่จนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นเวลา 160 ปีที่ปราศจากผู้อยู่อาศัยจนเมื่อเอ็ดเวิร์ด เดลาวัล เฮนรี แอสท์ลีย์ บารอนเฮสติงส์ที่ 22 ย้ายเข้ามาอยู่ในปีกด้านตะวันตก จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2007
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2008 องค์การอนุรักษ์แห่งชาติเริ่มทำการรณรงค์หาทุนจำนวน 6.3 ล้านปอนด์เพื่อซื้อและทำการอนุรักษ์คฤหาสน์, สวน และบริเวณคฤหาสน์[2] องค์การอนุรักษ์ประกาศว่าสามารถหาทุนที่ต้องการได้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009[3]
สถาปัตยกรรมและแผนผัง
แก้ลักษณะสถาปัตยกรรมของซีตันเดลาวัลฮอลล์เป็นแบบที่เรียกว่าบาโรกอังกฤษที่วิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมพาลเลเดียนที่อินิโก โจนส์เป็นผู้ริเริ่ม ลักษณะสถาปัตยกรรมที่วิวัฒนาการขึ้นมาโดยแวนบรูห์เป็นลักษณะที่มีการตกแต่งมากกว่าและดูเบากว่าสถาปัตยกรรมบาโรกที่เป็นที่นิยมกันบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
ลักษณะของคฤหาสน์มีส่วนกลางของตัวอาคารหรือ "เอกมณฑล" (Corps de logis) ที่เป็นซุ้มทางเข้าที่มีห้องรับแขกและห้องหลักระหว่างปีกสองด้านของอาคาร ปีกสองด้านมีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นสามตอน ตอนบนเป็นจั่ว
ปีกตะวันตกเป็นห้องรองและที่พำนักของผู้มีหน้าที่การงานของคฤหาสน์ นางจรัลและครัวที่มีเพดานสูงได้รับการซ่อมแซมจนเหมือนเดิมหลังจากที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ ปีกตะวันออกเป็นโรงม้า ที่เป็นห้องยาวหกสิบฟุตที่แบ่งเป็นช่วง ๆ และมีรางหญ้าที่ทำด้วยหิน ระหว่างปีกสองปีกเป็นลานที่เปิดออกไปที่กว้าง 46.5 เมตร และ ยาว 55 เมตร
ภายนอกเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโรกอังกฤษอันสมบูรณ์แต่ภายในยังคงไม่ได้รับการซ่อมแซมจากความเสียหายที่ได้รับจากพระเพลิง
นอกจากตัวคฤหาสน์แล้วซีตันเดลาวัลฮอลล์ก็ยังมีอุทยานล้อมรอบที่มีเนื้อที่ 1.6 ตารางกิโลเมตร ภายในอุทยานก็มีมอโซเลียมที่มีหลังคางดงามทำด้วยตะกั่วและซุ้มทางเข้าเหนือเสาหินขนาดยักษ์ มอโซเลียมสร้างขึ้นโดยจอห์น ฮัสซีย์ เดลาวัลเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บุตรชายที่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1775 เมื่อมีอายุได้ 20 ปีจาก "การถูกเตะถูกอวัยวะสำคัญโดยหญิงซักผ้าเมื่อไปหา" นอกจากนั้นก็ยังมีเรือนส้ม (Orangery) ที่ปกคลุมด้วยยุวเทพและประติมากรรมต่างๆ ที่รูปหนึ่งเป็นเดวิดร่างเล็กถือหนังสติ๊กคุกเข่าอยู่เหนือโกไลแอธ
ตำนาน
แก้บ้างก็เชื่อกันว่าเมื่อคฤหาสน์สร้างซ่อมเสร็จกัปตันที่อาศัยอยู่ที่นั่น (กัปตันฟรานซิส เบลก เดลาวัล) ก็ถูกเรียกตัวไปประจำการในราชนาวี อันนาเบลภรรยาต้องอยู่บ้านตามลำพัง ห้าปีต่อมาอันนาเบลก็ได้ข่าวว่าสามีสูญหายไปในทะเลซึ่งอันนาเบลก็ไม่เชื่อและยังคงรอให้สามีกลับบ้าน กล่าวกันว่าแม้ในปัจจุบันถ้าผู้ใดมองไปยังหน้าต่างบานที่ใกล้ประตูบนชั้นสองติดกับส่วนกลางของตัวตึกก็จะเห็นวิญญาณของอันนาเบลเดินผ่านหน้าต่าง – แต่เมื่อเข้าไปในห้องก็จะไม่มีใครอยู่ในห้อง อันนาเบลได้รับสมญาว่า "White Lady" เพราะจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีขาวทั้งชุด
อ้างอิง
แก้- ↑ Listing on Images of England
- ↑ Seaton Delaval Hall: Save it, Shape it (National Trust website accessed 12:22am 10 Sep 2008)
- ↑ "National Trust saves stately home". BBC News. 2009-12-16. สืบค้นเมื่อ 2009-12-16.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซีตันเดลาวัลฮอลล์