จักมา (จักมา: 𑄌𑄋𑄴𑄟𑄳𑄦; พม่า: သက္ကမ,ဒိုင်းနက်လူမျို) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทิศตะวันออกสุดของอนุทวีปอินเดีย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเนินเขาจิตตะกองทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบังกลาเทศ อาศัยอยู่มากในเขตปกครองตนเองจักมา รัฐมิโซรัม ประเทศอินเดีย หลังการก่อสร้างเขื่อนกาพตาอีเมื่อ พ.ศ. 2507 ชาวจักมาจำต้องอพยพออกจากหลักแหล่งเดิม กระจัดกระจายไปตามรัฐต่าง ๆ เช่น รัฐอรุณาจัลประเทศ 60,000 คน รัฐตริปุระ 79,000 คน และรัฐอัสสัมอีกราว 20,000–30,000 คน ชาวจักมาที่อาศัยในประเทศพม่า จะเรียกว่า ไดง์เนต ถือเป็นหนึ่งหนึ่งใน 135 ชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่า

จักมา
𑄌𑄋𑄴𑄟𑄳𑄦
ประชากรทั้งหมด
ราว 790,000 คน (2554–2564)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศบังกลาเทศ,[1] ประเทศอินเดีย[1] และประเทศพม่า
 บังกลาเทศ483,299 คน (2564)[2]
 อินเดีย228,281 คน (2554)[3]
 พม่าราว 80,000 คน
ภาษา
จักมา
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไดง์เนต, ตอนต์ชอแง, ยะไข่, พม่า

ชาวจักมาเป็นเครือญาติกับกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาทิเบต-พม่าแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แต่ภายหลังภาษาได้เปลี่ยนแปลงไปอันเกิดขึ้นจากการรวมอำนาจระหว่างชนเผ่าจึงรับเอาภาษาตระกูลอินโด-อารยันเข้ามา โดยเฉพาะภาษาเบงกอลถิ่นจิตตะกองที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกับชุมชนชาวจักมา ชาวจักมายุคปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทสืบทอดมานานนับศตวรรษ[4] จากการปฏิรูปและการสถาปนาขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 โดยรานีกาลินที สมเด็จพระราชินีนาถแห่งจักมาราช มีชาวจักมาส่วนน้อยที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์[5] จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรรัฐมิโซรัม พ.ศ. 2554 พบว่า ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และมีกลุ่มที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ คิดเป็นร้อยละ 7.3[6]

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจักมากับเพื่อนบ้านค่อนข้างซับซ้อน ชาวจักมาจำนวนมากถูกรวมเข้ากับสังคมชนชั้นกลางของประเทศบังกลาเทศและอินเดีย หลายคนเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐการ นักการเมือง หรือเป็นทูตในกองทัพของประเทศอินเดียและบังกลาเทศ แต่ก็เคยเกิดเหตุขัดแย้งเนินเขาจิตตะกอง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจักมา กระทั่งมีการจัดทำข้อตกลงสันติภาพเนินเขาจิตตะกอง ความรุนแรงในพื้นที่จึงลดลงไป[7][8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Library of Congress Subject Headings. Vol. I (13th ed.). Cataloging Distribution Service, Library of Congress. 1990. p. 709.
  2. "Table 1.4 Ethnic Population by Group and Sex" (PDF) (ภาษาเบงกอล). Bangladesh Bureau of Statistics. 2021. p. 33.
  3. "Table C-16 Population by Mother Tongue: India". www.censusindia.gov.in. Registrar General and Census Commissioner of India. See 'Chakma'. Since Chakma are not recorded as an ethnicity in all states where they live (such as Arunachal Pradesh) language is the best method to estimate their population in India.
  4. "Theravada Buddhism in North-East India: a study of the Tai-Khamtis". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2021.
  5. James Minahan (2012). Ethnic Groups of South Asia and the Pacific: An Encyclopedia. ABC-CLIO. p. 112. ISBN 978-1-59884-659-1.
  6. "ST-14 Scheduled Tribe population by religious community - Mizoram". census.gov.in. สืบค้นเมื่อ 9 February 2020.
  7. Sharon O'Brien, (2004). "The Chittagong Hill Tracts". In Dinah Shelton (ed.). Encyclopedia of Genocide and Crimes against Humanity. Macmillan Library Reference. pp. 176–177.
  8. "Hidden Bangladesh: Violence and Brutality in the Chittagong Hill Tracts". Amnesty International UK. 21 August 2015. สืบค้นเมื่อ 22 September 2021.