ชัง ซ็อง-แท็ก (อักษรโรมัน: Jang Sung-taek; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 – 12 ธันวาคม ค.ศ. 2013) เป็นบุคคลสำคัญในการปกครองประเทศเกาหลีเหนือ และเป็นสามีของพลเอกหญิง คิม คย็อง-ฮี (Kim Kyong-hui) อาผู้หญิงของคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) ผู้นำสูงสุดของประเทศ[1][2]

ชัง ซ็อง-แท็ก
โชซ็อนกึล
장성택
ฮันจา
อาร์อาร์Jang Seong-taek
เอ็มอาร์Chang Sŏngt'aek

ชัง ซ็อง-แท็ก เคยเป็นรองประธานคณะกรรมการกลาโหมแห่งชาติ (National Defence Commission) ตำแหน่งซึ่งถือกันว่าเป็นรองแต่เพียงผู้นำสูงสุด[3] แม้ว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของเขานั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในปี ค.ศ. 2008 ชาวเกาหลีใต้ซึ่งเป็นข้าราชการและนักวิชาการด้านเกาหลีเหนือสันนิษฐานว่า เขาอาจเคยเป็นผู้นำโดยพฤตินัยระหว่างที่คิม จ็อง-อิล (Kim Jong-il) ป่วยและหลังจากที่คิม จ็อง-อิล ตาย[4] เชื่อกันว่า เขาได้เลื่อนเป็นพลเอกชั้นจัตวาระหว่างที่คิม จ็อง-อิล ตาย ดังที่ปรากฏจากเครื่องยศซึ่งเขาสวมไปเคารพศพคิม จ็อง-อิล[5] ชัง ซ็อง-แท็ก ยังนับว่าเป็น "กุนซือมือฉกาจ" ของคิม จ็อง-อิล ด้วย[6]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 เขาถูกกล่าวหาอย่างปัจจุบันทันด่วนว่า คิดต่อต้านการปกครอง และถูกถอดจากยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหมด แล้วถูกอัปเปหิจากพรรคแรงงานเกาหลี (Workers' Party of Korea) นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ลบเขาออกจากความทรงจำ ทำลายภาพถ่ายในสื่อราชการของเขาเป็นการย้อนหลัง และใช้กรรมวิธีดิจัทัลลบภาพของเขาที่ปรากฏอยู่กับผู้นำเกาหลี[7] ครั้นวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2013 สื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือแถลงว่า เขาถูกประหารชีวิตแล้ว[8]

การปลด จับกุม และประหารชีวิต แก้

ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกขับจากพรรคแรงงานเกาหลีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ก่อนหน้านี้ ภาพของเขาในข่าวซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์เกาหลีเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ถูกทำให้มัวและตัดต่อทิ้งไปเมื่อนำมาฉายอีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2013[9] หน่วยสืบราชการลับแห่งชาติ (National Intelligence Service) รายงานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกถอดจากตำแหน่ง[10] เชื่อกันว่า อี ย็อง-ฮา (Lee Yong-ha) กับชัง ซู-กี (Jang Soo-kee) คนสนิทของเขา ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 และนับแต่นั้นก็ไม่เห็นเขาในที่สาธารณะอีก[11] มีรายงานว่า อี ย็อง-ฮา ถูกประหารด้วยข้อกล่าวหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ทางมิชอบ ส่วนชัง ซู-กี นั้นเพราะถูกพิพากษาว่า มีความผิดฐานพยายามจัดตั้งฝ่ายการเมืองใหม่เพื่อล้มล้างระบอบปัจจุบัน[12][13]

ในเวลาที่เกาหลีเหนือแถลง ณ วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกขับนั้น ปรากฏว่า เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ในโอกาสนั้น เขายังถูกกล่าวหาว่า กระทำ "การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายการเมือง เป็นการต่อต้านพรรค" รวมถึง ลอบประเวณีกับสตรี มี "ใจมักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมือง" สร้างความอ่อนแอให้แก่ "แนวทางที่พรรคมีต่อองค์กรตุลาการ อัยการ และความมั่นคงของประชาชน" กับทั้งยังขัดขวาง "เศรษฐกิจของชาติ"[14]

ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกจับคาที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และการจับกุมนี้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย โดยมีการพรรณนาว่า เป็น "การปลดสมาชิกตระกูลคิมและพรรคพวกอันโจ่งแจ้งที่สุดในประวัติศาสตร์"[15][16] นี้ยังเป็นครั้งแรกนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งข้าราชการการเมืองชั้นผู้ใหญ่ถูกจับกุมอย่างเปิดเผยท่ามกลางการประชุมพรรคการเมืองโดยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์[9]

สื่อจีนตั้งข้อสังเกตว่า ความล่มจมของชัง ซ็อง-แท็ก สื่อว่า ความพยายามของเขาในอันที่จะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นถูกเพิกเฉย และนโยบายทหารนำได้รับการสนับสนุนขึ้นมาในเกาหลีใต้[17]

วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2013 สื่อราชการเกาหลีใต้รายงานว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกประหารชีวิตแล้ว โดยระบุว่า "นายชัง สวะสถุลไร้สกุล เลวทารุณยิ่งกว่าหมา ทำชั่วช้าสารพัดต้องถูกแช่งชักเป็นสามเท่า หน้าซื่อใจคดทรยศหักหลังความไว้วางใจอันลึกซึ้งและความรักประดุจบิดามารดาเปี่ยมด้วยไมตรีเป็นที่ยิ่งซึ่งพรรคและหัวหน้าพรรคได้มีให้" คำแถลงซึ่งมีเนื้อความ 2,700 คำนั้นร่ายรายละเอียดข้อกล่าวหาตลอดจนข้อหาอื่น ๆ เช่น เอารูปปั้นหินแกรนิตของผู้นำสูงสุดไปวางไว้ใน "หลืบมืด" และ "ปล่อยให้แบบแผนชีวิตแบบทุนนิยมอันถอยเข้าคลองของตนเองนั้นลุกลามมาถึงสังคมเราได้ โดยยังให้แพร่หลายในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายซึ่งสื่ออันลามกจกเปรตทุกประเภท" ทั้งในยามที่มีการอ่านถ้อยแถลงของคิม จ็อง-อึล นั้นก็ยัง "ไม่เต็มใจปรบมือ ถือเป็นการทำให้เราเหล่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องเจ็บท้องข้องใจ"[8][18][19]

ในเหตุการณ์นี้ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความกังวลและความสงสัยต่อปัญหาความระส่ำระสายของประเทศเกาหลีเหนือ[20]

อ้างอิง แก้

  1. "장성택(張成澤)" (ภาษาเกาหลี). Information Center on North Korea, Ministry of Unification, Republic of Korea. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 20 August 2007.
  2. "North Korean media confirms promotion of Jang Song-thaek to senior post". Yonhap News. 13 December 2007. สืบค้นเมื่อ 3 January 2008.
  3. Choe, Sang-hun (7 June 2010). "N. Korea Reshuffle Seen as Part of Succession Plan". New York Times.
  4. Ben Webster (8 November 2008). "North Korea 'is being run by Kim Jong Il's brother-in-law'". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 8 November 2008.
  5. Andrew Salmon; David Blair (28 December 2011). "Kim Jong-il funeral: Kim Jong-un steps up as nation mourns". Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
  6. "North Korea May Take Action to Jolt Economy, Analysts Say". The New York Times. 5 September 2012. สืบค้นเมื่อ 9 January 2013.
  7. "Der retuschierte Onkel". Der Spiegel. Hamburg. 10 December 2013. สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
  8. 8.0 8.1 "North Korea executes Kim Jong Un's uncle". Associated Press. 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 12 December 2013.
  9. 9.0 9.1 Foster-Carter, Aidan (9 December 2013). "Family affair: Kim Jong Un wipes his uncle from North Korea's history". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
  10. "North Korean leader's powerful uncle dismissed – Seoul media". Reuters. 3 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-07. สืบค้นเมื่อ 2013-12-14.
  11. "North Korean leader's uncle likely removed from power: spy agency". Yonhap. South Korea. 3 December 2013.
  12. Where Is Kim Jong-un? Chosun. 6 December 2013.
  13. N Korea film 'edits out dismissed uncle Chang Song-thaek' BBC. 7 December 2013. 13 December 2013.
  14. "Report on Enlarged Meeting of Political Bureau of Central Committee of WPK". Korean Central News Agency. North Korea. 8 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-04. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013.
  15. "Jang Song Thaek purge confirmed amid rumors of his execution". NK News. 9 December 2013. สืบค้นเมื่อ 9 December 2013.
  16. "Jang Arrested on State Television". Daily NK. South Korea. 9 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 9 December 2013.
  17. Jang's fall won't exert significant influence on East Asian dynamics Global Times 9 December 2013
  18. North Korea Says Kim’s Uncle Executed The New York Times 12 December 2013
  19. Alastair Gale (12 December 2013), What North Korea Said About Jang Song Thaek The Wall Street Journal
  20. "International concern over N Korea execution". Al Jazeera. 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.