จานรอบดาวเคราะห์

จานรอบดาวเคราะห์ (อังกฤษ: circumplanetary disc) คือกลุ่มสสารที่ประกอบกันเป็นรูปวงแหวนหรือแพนเค้ก ประกอบไปด้วย ก๊าซ, ฝุ่น, เศษชิ้นส่วนของดาวเคราะห์, ดาวเคราะห์น้อย หรือชิ้นส่วนจากการชนกัน ในวงโคจรรอบดาวเคราะห์ สสารเหล่านี้อาจเป็นแหล่งที่มาของวัสดุที่ก่อตัวเป็นดวงจันทร์ขึ้นมา แผ่นจานลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ

ในเดือนสิงหาคม 2018 นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีแผ่นจานรอบดาวเคราะห์รอบดาว CS Cha b[1] โดยได้กล่าวว่า “ระบบ CS Cha นี้เป็นระบบเดียวที่มีแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ปรากฏให้เห็นชัดเจน”[2]

ในเดือนมิถุนายน 2019 นักดาราศาสตร์ตรวจพบหลักฐานของแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ PDS 70b โดยพิจารณาจากสเปกโทรสโกปีและได้ตรวจเจอสัญญาณที่แสดงถึงการพอกพูนกันของสสาร[3] ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ยังมีการตรวจพบในดาวเคราะห์อื่นๆก่อนหน้านี้ด้วย แล้วในเดือนกรกฎาคม 2019 นักดาราศาสตร์ก็ได้ตรวจพบแผ่นจานรอบดาวเคราะห์เป็นครั้งแรกโดยใช้ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA)[4][5][6] โดย ALMA ทำการสังเกตในช่วงความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตรและซับมิลลิเมตร ซึ่งเหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝุ่นที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณระหว่างดาวเคราะห์ เพราะดาวฤกษ์จะแผ่รังสีในช่วงความยาวคลื่นนี้ค่อนข้างน้อย ในขณะที่การสังเกตการณ์ในช่วงแสงที่ตามองเห็นมักจะยากกว่าเพราะถูกรบกวนโดยแสงจากดาวฤกษ์ได้ง่าย

แผ่นจานรอบดาวเคราะห์ถูกตรวจพบรอบดาวคล้ายดาวพฤหัส ซึ่งมีมวลมากและอายุน้อย PDS 70c นอกจากนี้ยังอาจมีแผ่นจานอยู่รอบดาวเคราะห์อีกดวงคือ PDS 70b ด้วยเช่นกัน ดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบดาว PDS 70 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 370 ปีแสง (110 พาร์เซก)[7]

อันเดรอา อีเซลลา (Andrea Isella) หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ในฮิวสตันรัฐเท็กซัสกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ ซึ่งช่วยสนับสนุนทฤษฎีการก่อตัวของดาวเคราะห์จำนวนมาก.. เมื่อเปรียบเทียบกับการสังเกตการณ์ความละเอียดสูงในช่วงอินฟราเรดและแสงในช่วงที่ตามองเห็นแล้ว เราสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกาะตัวกันอย่างหนาแน่นซึ่งน่าจะเป็นแผ่นจานของฝุ่นที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสังเกตเจอลักษณะแบบนี้”

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Ginski, Christian (August 2018). "First direct detection of a polarized companion outside a resolved circumbinary disk around CS Chamaeleonis". Astronomy & Astrophysics. 616 (79): 18. doi:10.1051/0004-6361/201732417.
  2. Starr, Michelle. "Astronomers Have Accidentally Taken a Direct Photo of a Possible Baby Exoplanet". สืบค้นเมื่อ 10 October 2019.
  3. Christiaens, Valentin (June 2019). "Evidence for a circumplanetary disk around protoplanet PDS 70 b". The Astrophysical Journal Letters. 877 (2). doi:10.3847/2041-8213/ab212b.
  4. Isella, Andrea; และคณะ (11 July 2019). "Detection of Continuum Submillimeter Emission Associated with Candidate Protoplanets". The Astrophysical Journal Letters. 879 (2). doi:10.3847/2041-8213/ab2a12. สืบค้นเมื่อ 11 July 2019.
  5. Blue, Charles E. (11 July 2019). "'Moon-forming' Circumplanetary Disk Discovered in Distant Star System". National Radio Astronomy Observatory. สืบค้นเมื่อ 11 July 2019.
  6. Boyd, Jade (11 July 2019). "Moon-forming disk discovered around distant planet". Phys.org. สืบค้นเมื่อ 11 July 2019.
  7. Mandelbaum, Ryan F. (12 July 2019). "Astronomers Think They've Spotted a Moon Forming Around an Exoplanet". Gizmodo. สืบค้นเมื่อ 12 July 2019.