จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย

ดัชเชสเอลีซาเบ็ท อมาลี ออยเยนี ในบาวาเรีย (24 ธันวาคม ค.ศ. 1837 – 10 กันยายน ค.ศ. 1898) เป็นจักรพรรดินีแห่งออสเตรียและสมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี จากการอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรียเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1854 จนกระทั่งถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1898

เอลีซาเบ็ทในบาวาเรีย
พระฉายาลักษณ์ในพิธีราชาภิเษกโดย
เอมีล ราเบินดิง, 1867
จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี (อ่านต่อ...)
ดำรงพระยศ24 เมษายน 1854 – 10 กันยายน 1898
ราชาภิเษก8 มิถุนายน 1867, บูดาเปสต์
สมเด็จพระราชินีแห่งลอมบาร์เดีย-เวนิส
ดำรงพระยศ24 เมษายน 1854 – 12 ตุลาคม 1866
พระราชสมภพดัชเชสเอลีซาเบ็ทแห่งบาวาเรีย
24 ธันวาคม ค.ศ. 1837(1837-12-24)
มิวนิก, ราชอาณาจักรบาวาเรีย
สวรรคต10 กันยายน ค.ศ. 1898(1898-09-10) (60 ปี)
เจนีวา, ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ฝังพระศพ17 กันยายน 1898
อิมพิเรียล คริปต์
คู่อภิเษกจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย (สมรส 1854)
พระราชบุตร
ราชวงศ์วิทเทิลส์บัค
พระราชบิดาดยุกมัคซีมีลีอาน โยเซ็ฟในบาวาเรีย
พระราชมารดาเจ้าหญิงลูโดวีกาแห่งบาวาเรีย
ลายพระอภิไธย

พระราชประวัติ แก้

ดัชเชสเอลีซาเบ็ทเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1837 ณ ปราสาทโพเซินโฮฟเซิน เมืองมิวนิก ราชอาณาจักรบาวาเรีย เป็นพระธิดาองค์ที่ 2 ในดยุกมัคซีมีลีอาน โยเซฟในบาวาเรีย (พระโอรสองค์เดียวในดยุกพีอุส เอากุสท์แห่งบาวาเรียและเจ้าหญิงอามาลี ลูอีเซอแห่งอาเรินแบร์ค) และเจ้าหญิงลูโดวีกาแห่งบาวาเรีย (พระราชธิดาในพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 1 โยเซ็ฟแห่งบาวาเรียและคาโรลีเนอแห่งบาเดิน) เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์มีพระนามเล่นว่า ซีซี่ (Sisi) โดยพระองค์ทรงชอบเล่นผาดโผน ทรงม้าล่าสัตว์ และทรงหลงใหล สนพระทัยในธรรมชาติ พระองค์มีพระเชษฐา 2 พระองค์ พระเชษฐภคินี 1 พระองค์ พระอนุชา 2 พระองค์ และพระขนิษฐา 3 พระองค์ โดยพระบิดาและมารดานั้น โดยเฉพาะพระมารดา ทรงเข้มงวดเรื่องการจัดหาคู่ครองให้พระราชบุตร โดยครั้งแรกนั้น พระมารดาของพระองค์ทรงจัดหาคู่ครองให้ ดัชเชสเฮเลเนอ นั่นคือจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย พระโอรสในเจ้าหญิงโซฟี ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงลูโดวีกา และเป็นพระมาตุจฉาในดัชเชสเฮเลเนอ และดัชเชสเอลีซาเบ็ท โดยทั้ง 3 พระองค์นั้นเสด็จไปแปรพระราชฐานในรัฐอัปเปอร์ ออสเตรีย ประเทศออสเตรีย ตามคำทูลเชิญของเจ้าหญิงโซฟี โดยทั้ง 4 พระองค์ได้หวังว่า จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟจะทรงสนพระราชหฤทัยในตัวดัชเชสเฮเลน ซึ่งขณะนั้น จักรพรรดิมีพระชนมายุ 23 พรรษา และดัชเชสเฮเลเนอมีพระชนมายุ 18 ชันษา แต่แทนที่พระองค์จะทรงเลือกดัชเชสเฮเลน ในการเป็นพระมเหสีนั้น พระองค์กลับเลือกดัชเชสเอลีซาเบ็ทแทน ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียงแค่ 15 ชันษา การที่จักรพรรดิเลือกพระองค์เป็นองค์จักรพรรดินีมเหสีนั้น สร้างความประหลาดใจและเสียงคัดค้านจากพระมารดาของทั้งสอง โดยเฉพาะพระมารดาของจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ทรงไม่ชอบพระองค์ตั้งแต่ที่จักรพรรดิทรงเลือกที่จะอภิเษกสมรสด้วย หลังจากที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงได้พบรู้จักและวิสาสะกันเพียงไม่กี่วัน

ทั้งสองพระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1854 ณ มหาวิหารเซนต์ สเตฟาน กรุงเวียนนา โดยหลังจากที่พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินีแห่งออสเตรียแล้ว พระองค์ทรงถูกกีดกัน กลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา โดยอาร์ชดัชเชสบางพระองค์ รวมทั้งอาร์ชดัชเชสโซฟี พระสัสสุด้วย เพื่อลดความสำคัญของพระองค์ลงไป แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความช่วยเหลือ และความเมตตาจากอาร์ชดยุกและอาร์ชดัชเชสหลายพระองค์ รวมทั้งพระสวามีของพระองค์ด้วย จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ และจักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทมีพระราชโอรส 1 พระองค์ และพระราชธิดา 3 พระองค์

จักรพรรดินี แก้

จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ท ทรงได้ชื่อว่าเป็นพระจักรพรรดินีที่สิริโฉมงดงามที่สุดในโลก เพราะด้วยพระพักตร์ที่ทรงสิริโฉมงดงาม อีกทั้งพระเกศายาวเกือบจรดพระบาท โดยพระองค์มักจะไม่ออกงานสังคม หรือปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันใด เหตุเนื่องจากทรงประทับอยู่แต่ในพระราชวังโฮฟบวร์ค เพื่อบำรุงความงามของพระองค์ โดยนาน ๆ ครั้ง พระองค์จะทรงยอมปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนสักครั้ง ทำให้ทุกครั้งที่เสด็จออกปรากฏพระองค์ พสกนิกรจะคอยรับเสด็จเพื่อชมพระโฉมของพระองค์อย่างแน่นขนัดทุกครั้ง อย่างเช่นครั้งหนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับสมเด็จพระราชสวามีไปยังมหาวิหารเซนต์ สเตฟาน กรุงเวียนนา ปรากฏว่าพสกนิกรมาเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก เหตุที่มาเฝ้ารับเสด็จก็เพราะเนื่องจากอยากเห็นความงามของพระองค์นั่นเอง

ด้วยความที่ทรงสิริโฉมงดงามนี่เอง ทำให้มีบรรดาอาร์ชดัชเชสหลายพระองค์ รวมทั้งอาร์ชดัชเชสโซฟี พระสัสสุที่ทรงไม่ชอบพระองค์มาตั้งแต่ต้น ทรงคอยให้ร้าย ทรงอิจฉา ริษยาพระองค์ตลอดเวลา ส่วนตัวพระองค์เองจึงทรงหลบพระองค์ไปแปรพระราชฐานที่ต่าง ๆ เช่นเกาะมาไดรา ประเทศโปรตุเกส ฮังการี ประเทศอังกฤษ หรือก็เกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ เพื่อทรงหลีกเลี่ยงเรื่องวุ่นวายทั้งหลายในราชสำนัก และเพื่อทรงพักผ่อนอีกทั้งบำรุงความงามของพระองค์ เพื่อเรียกความมั่นพระทัยในพระองค์กลับคืนมา นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอาร์คิลลีออน ที่เกาะคอร์ฟูขึ้น เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ (หลังจากที่พระองค์ทรงสวรรคต จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มทรงซื้อไว้เป็นพระราชฐานส่วนพระองค์) โดยเมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่ในเกาะคอร์ฟู พระองค์จะมีพระราชเสาวณีย์โปรดให้ครูสอนภาษากรีกมาสอนพระองค์ และนอกจากนี้ พระองค์ยังทรงศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักของประชาชน โดยให้ความสำคัญมากพอๆกับพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซเลยทีเดียว

 
พระเกศาของพระองค์ที่ยาวเกือบจรดพระบาท

พระองค์ไม่ได้ทรงขึ้นชื่อลือชาในเพียงในเรื่องของความงาม เป็นเรื่องของการแต่งฉลองพระองค์ การลดน้ำหนัก และการออกกำลังพระวรกายของพระองค์อีกด้วย ซึ่งพระองค์จะทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ทุ่มเทให้กับความงามของพระองค์ โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระกฤษฎี หรือบั้นเอวของพระองค์ทรงมีความยาวแค่ 20 นิ้ว หรือ 50 เซนติเมตร พร้อมกับความสูงของพระองค์ 172 เซนติเมตร และน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ซึ่งในสมัยปัจจุบันเห็นว่าค่อนข้างน้อยสำหรับความสูงขนาดนี้ ซึ่งด้วยความที่พระองค์ทรงมัวแต่หมกมุ่นเรื่องของความงามงาม พระองค์ทรงไม่สนพระทัยที่ พระสวามีของพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนักแสดงหญิง คาทารีนา ชแร็ท

โดยส่วนของพระวรกายที่พระองค์ทรงพอพระทัยมากที่สุดคือ พระเกศาที่ยาวเกือบจรดเท้า ที่พระองค์ทรงใช้เวลาบำรุงรักษาพระเกศาของพระองค์ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ โดยจะมีพระบัญชาให้ช่างพระเกศาส่วนพระองค์ถักพระเกศาเป็นเปียรวบขึ้นไปม้วนเป็นพระเศียร โดยต้องสระพระเกศาทุกๆ 3 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลาถึง 1 วันเต็มๆ โดยใช้ครีมแชมพูที่คิดดัดแปลงอยู่เรื่อยๆ ส่วนธรรมดาก็จะบำรุงรักษาพระเกศาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ดังนั้น ช่างพระเกศาจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในราชสำนัก ที่จะคอยสอดส่องดูแลพระเกศาของพระองค์ตลอดเวลา

ในปี ค.ศ. 1889 พระทัยของพระองค์แทบแตกสลาย เพราะเนื่องจากการเสด็จสวรรคตกะทันหันของพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว มกุฎราชกุมารรูดฌอล์ฟ ซึ่งสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน โดยทรงยิงปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เอง และนางสนมลับที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ลับด้วย บารอเนสมารี เวทเซรา โดยพระศพถูกพบที่คฤหาสน์ล่าสัตว์มาเยอร์ลิ่ง

หลังจากการสวรรคตของพระราชโอรสแล้ว พระองค์ก็ทรงประพาสแปรพระราชฐานเพื่อในการฟื้นฟูพระทัยให้กลับมาสู่สภาวะปกติ แทนที่พระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆพร้อมพระราชสวามี พระองค์ทรงหันกลับมาทำการบำรุงความงามและพระเกศาดังเดิม…

การลอบปลงพระชนม์ แก้

 
ตราประจำพระองค์จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ท
 
ภาพวาดการลอบปลงพระชนม์จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1898 จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ททรงถูกปลงพระชนม์ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้น พระองค์กำลังทรงพักผ่อนแปรพระราชฐาน พร้อมด้วยนางกำนัลคนสนิท เคานท์เตสสตาร์เรย์ โดยทรงถูกมีดแทงกลางพระหทัยโดยนักอนาธิปไตยนิยม ลุยกี ลูเชนี โดยเมื่อลูเชนีถูกนำตัวขึ้นศาล เขากล่าวว่าจะปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์ออร์เลอ็องของฝรั่งเศสเท่านั้น โดยเขาคิดว่าพระองค์คือพระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้น เขาพูดว่า "ฉันอยากฆ่าราชวงศ์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม" ศาลจึงตัดสินให้ประหารชีวิตลุยกี ลูเชนี

ส่วนพระศพของพระองค์ถูกย้ายมายังกรุงเวียนนา โดยเมื่อมาถึงตัวเมือง ประชาชนต่างมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และมาเฝ้ารับเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะกับจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ พระราชสวามี ผู้ทรงเหมือนพระหทัยแตกสลายไปตลอดกาล พระบรมศพถูกฝังที่อิมพีเรียล คริปต์ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ออสเตรียมาช้านาน

ราชตระกูล แก้

พระราชตระกูลในสามรุ่นของจักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย
จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย พระราชบิดา:
ดยุกมัคซีมีลีอาน โยเซ็ฟในบาวาเรีย
พระอัยกาฝ่ายพระราชบิดา:
ดยุกพีอุส เอากุสท์ในบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายพระราชบิดา:
ดยุกวิลเฮ็ล์มในบาวาเรีย
พระปัยยิกาฝ่ายพระราชบิดา:
เคาน์เตสพาเลไทน์มารีอา อันนาแห่งชไวบรืคเคิน-แบร์คือเฟ็ลท์
พระอัยยิกาฝ่ายพระราชบิดา:
เจ้าหญิงอามาลี ลูอีเซอแห่งอาเรินแบร์ค
พระปัยกาฝ่ายพระราชบิดา:
เจ้าชายลูทวิชแห่งอาเรินแบร์ค
พระปัยยิกาฝ่ายพระราชบิดา:
อานแห่งเมญลี-ดามไอวรี-ซูร์-แซน
พระราชมารดา:
เจ้าหญิงลูโดวีกาแห่งบาวาเรีย
พระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา:
พระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 1 โยเซ็ฟ แห่งบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายพระราชมารดา:
ฟรีดริช มิชชาเอล เคานต์พาลาไทน์แห่งชไวบรืคเคิน
พระปัยยิกาฝ่ายพระราชมารดา:
เคาน์เตสพาเลไทน์มารีอา ฟรันซิสกาแห่งซูลซ์บัค
พระอัยยิกาฝ่ายพระราชมารดา:
คาโรลีเนอแห่งบาเดิน
พระปัยกาฝ่ายพระราชมารดา:
คาร์ล ลูทวิช เจ้าชายรัชทายาทแห่งบาเดิน
พระปัยยิกาฝ่ายพระราชมารดา:
เจ้าชายอามาลีแห่งเฮ็สเซิน-ดาร์มชตัดท์

อ้างอิง แก้

  • Brigitte Hamann: The Reluctant Empress: A Biography of Empress Elisabeth of Austria (Knopf: 1986)
  • Brigitte Hamann: Sissi, Elisabeth, Empress of Austria (Taschen America: 1997) short, illustrated).
  • Barry Denenburg: The Royal Diaries Elisabeth, The Princess Bride
  • Konstantin Christomanos: Diaries (Tagebuchblaetter, several editions in Modern Greek, German, French)
  • Matt Pavelich: Our Savage (Shoemaker & Hoard: 2004)
  • Nicole Avril: L'impératrice, Paris, 1993
  • Matteo Tuveri: Specchi ad angoli obliqui. Diario poetico di Elisabetta d’Austria, Aracne Editrice, Roma, 2006
  • Matteo Tuveri: Tabularium. Considerazioni su Elisabetta d'Austria, Aracne, Roma, 2007

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า จักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย ถัดไป
มารีอา อันนาแห่งซาวอย   สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี โบฮีเมีย โครเอเชีย สโลวีเนีย และดาลมาเทีย

(ค.ศ. 1854 – 1898)
  ซีตาแห่งบูร์บง-ปาร์มา