คู่ทรหด (รายการโทรทัศน์)
คู่ทรหด เป็นรายการปกิณกะรายการแรกของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นรายการแรกของเวิร์คพอยท์ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2534 และออกอากาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยในปีแรกออกอากาศในวันเสาร์ เวลา 16.40-17.40 น. ปีที่ 2 ย้ายเวลาเป็น 17.30-18.30 น. และเทปสุดท้ายของรายการซึ่งออกอากาศในปี พ.ศ. 2536 ย้ายวันและเวลาเป็น 22.00-23.00 น. ของวันอาทิตย์
คู่ทรหด | |
---|---|
ประเภท | ปกิณกะ |
บทโดย | |
กำกับโดย | |
พิธีกร | |
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง | |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ภาษาไทย |
การผลิต | |
ผู้อำนวยการผลิต | |
ผู้อำนวยการสร้าง | วัชระ ปานเอี่ยม |
บริษัทผู้ผลิต | บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 |
ออกอากาศ | 5 มกราคม 2534 – 3 มกราคม 2536 |
การแสดงที่เกี่ยวข้อง | |
ประวัติ
แก้ผู้เป็นต้นคิดให้เกิดรายการนี้คือ ปัญญา นิรันดร์กุล ในฐานะหัวหน้าครอบครัวซึ่งมักถูกสื่อมวลชนสัมภาษณ์เรื่องครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งตนก่อตั้งบริษัทขึ้น จึงต้องการทำรายการที่เป็นเรื่องราวของครอบครัวจริง ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ จึงเกิดเป็นรายการคู่ทรหดขึ้น[1] โดยให้นิยามเปิดรายการว่าเป็น "รายการเพื่อส่งเสริมสถาบันครอบครัว สถาบันแรกที่สำคัญที่สุดของสังคม" เพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงจากการชมละครพร้อมการสัมภาษณ์ ข้อคิด หรือแนวทางในการดำรงชีวิตคู่ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ รวมถึงจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของการดำเนินชีวิตคู่
รูปแบบรายการ
แก้รายการมีลักษณะเป็นทอล์กโชว์ผสมละคร โดยนำเสนอชีวิตคู่สามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยคู่ที่ได้รับเชิญมีทั้งบุคคลในวงการบันเทิง บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการอื่น ๆ และบุคคลจากทางบ้านที่มีเรื่องราวน่าสนใจ เพื่อมาเปิดเผยกันในห้องส่ง สลับกับการชมละครจำลองชีวิตจริง โดยจะเชิญผู้ร่วมรายการมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นชีวิตคู่เป็นการเกริ่นนำ จากนั้นจะให้ชมละครจำลองรายละเอียดการดำเนินชีวิตคู่ โดยมีนักแสดงแทน ระยะเวลาประมาณ 20 นาที แล้วกลับเข้าห้องส่งเพื่อพูดคุยถึงความรู้สึกจากการชมละคร และสรุปชีวิตการครองเรือน
คู่ร่วมรายการทุกคู่จะได้รับของรางวัลในช่วงท้ายรายการ โดยในปีแรกทางรายการจะมอบเกียรติบัตรให้แต่ละคู่ และยังจะได้รับการคัดเลือกเพื่อชิงตำแหน่ง "แชมป์คู่ทรหดประจำฤดู" โดยแบ่งเป็น ฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว เมื่อสิ้นสุดทุกฤดูจะมีการตัดสินเพื่อชิงตำแหน่ง "สุดยอดคู่ทรหดแห่งปี" มีของรางวัลเป็นบ้านพร้อมที่ดินมูลค่านับล้านบาท (วิธีการคัดเลือกประจำปียังเอามาปรับใช้ในรายการชิงช้าสวรรค์ และ ไมค์ทองคำ 3 ฤดู) แต่ในปีที่ 2 ได้เปลี่ยนของรางวัลเป็นรูปภาพขนาดใหญ่อัดด้วยฟิล์มสีโกดัก ให้กับคู่ร่วมรายการในแต่ละครั้งเท่านั้น ซึ่งใช้กันมาจนเปลี่ยนรายการเป็น ละครแห่งชีวิต
รางวัลสุดยอดคู่ทรหดแห่งปี พ.ศ. 2534
- ผู้ได้รับรางวัล : ร.อ.สมบัติ บัวจันทร์ (ทหารผ่านศึกขาขาด) และ สาคร บัวจันทร์
- ผู้เข้าชิง :
- สมชาย(ส.)-สมใจ อาสนจินดา คู่ทรหดประจำฤดูร้อน
- โกวิท-วาสนา วัฒนกุล คู่ทรหดประจำฤดูฝน
โลโก้รายการ
แก้ตราสัญลักษณ์ประจำรายการ คู่ทรหด ในรูปแบบแรก ถูกออกแบบให้เป็นรูปโล่ คล้ายกับตราสัญลักษณ์ของสถาบันหรือองค์กรทางราชการ ข้างใต้เป็นริบบิ้นประทับชื่อรายการ เหนือโล่ประดับรูปหัวใจ ด้านข้างโล่เป็นสัญลักษณ์แทนสภาพอากาศซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดู และภายในโล่ถูกแบ่งด้วยส่วนสำคัญต่าง ๆ โดยใช้รูปตัวแทนสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องกับความรักในแต่ละส่วน
- มุมซ้ายบน คือ ลูกอึด แทนด้วยครกและไม้ตีพริก แสดงถึงความอดทนที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ให้ยืนยาวต่อไป
- มุมขวาบน คือ ลูกตื้อ แทนด้วยตัวทาก แสดงถึงการใช้ความพยายามในการจีบหญิงที่ตนชอบ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีความอดทนมาก
- ตรงกลาง คือ ลูกหวาน แทนด้วยหัวใจ แสดงถึงการบอกรัก
- มุมซ้ายล่าง คือ ลูกขยัน แทนด้วยหาบ แสดงถึงความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ
- มุมขวาล่าง คือ ลูกบ้า แทนด้วยตัวลิเก แสดงถึงการแสดงท่าทางของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง
แต่ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ให้เรียบง่ายขึ้น เหลือริบบิ้นประทับชื่อรายการ กับรูปหัวใจซึ่งประดับไว้เหนือริบบิ้น
พิธีกร
แก้- ปีที่ 1 (2534)
- ดอกดิน กัญญามาลย์ : มกราคม 2534-มกราคม 2535 (ขณะนั้นมีอายุ 67 ปี)
- ชนาภา นุตาคม (ชนานา นุตาคม) : มกราคม-กุมภาพันธ์ 2534
- ดวงตา ตุงคะมณี : กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2534
- ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ : พฤษภาคม 2534-มกราคม 2535
- ปัญญา นิรันดร์กุล : พิธีกรพิเศษในเทปตัดสินคู่ทรหดแห่งปี 2534
- ปีที่ 2 (2535)
- อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ : กุมภาพันธ์ 2535-มกราคม 2536
- กลศ อัทธเสรี : กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2535
- ดิลก ทองวัฒนา : พฤษภาคม 2535-มกราคม 2536
รางวัลที่ได้รับ
แก้- รางวัลเมขลา
- ประเภทรายการส่งเสริมสังคมไทยดีเด่น ปี 2534
- ประเภทรายการส่งเสริมสังคมไทยดีเด่น ปี 2535
- ประเภทผู้ดำเนินรายการดีเด่นหญิง (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ปี 2535
เพลงประจำรายการ
แก้เพลงประจำรายการคู่ทรหด จะมี 3 เวอร์ชัน
- เวอร์ชันแรก ใช้ดนตรีจังหวะคึกคัก มีเนื้อร้องเพียงชื่อรายการเท่านั้น ใช้เป็นเพลงเปิดรายการในระยะเริ่มต้น
- เวอร์ชันที่ 2 เป็นเพลงเปิดรายการในปีแรก ซึ่งมีเนื้อร้องเป็นเรื่องเป็นราว ใช้จังหวะสามช่าเรียกความสนุกสนาน แต่งคำร้องโดย ระวี กังสนารักษ์ และดนตรีโดย สุรชัย บุญแต่ง
"คิงคองไม่เกี่ยวกับส้มตำ แต่ชุดว่ายน้ำคู่กับนางสาวไทย
ปลาทูไม่เกี่ยวกับรถไฟ แต่ดาราไทยคู่กับไมโครโฟน
ฟันปลอมไม่เกี่ยวกับเหล้าขาว แต่ว่าหนวดเคราคู่กับใบมีดโกน
นักมวยไม่เกี่ยวกับกระโถน อยากร้องตะโกนว่าคู่กันได้ไง
- คู่ใคร คู่มัน คู่กันมาแต่ชาติไหน
คู่ฉันล่ะสิมันกว่าใคร จะเป็นจะตายล่ะ คู่ทรหด (ซ้ำท่อน)
...คู่ทรหด"
- เวอร์ชันที่ 3 ชื่อเพลง "ลมหายใจของกันและกัน" เป็นเพลงที่ใช้ในช่วงท้ายละคร ปิดรายการ และเปิดรายการในปีที่ 2 ดนตรีออกแนวหวานซึ้ง มีเนื้อร้องเพียงสองบรรทัด โดยภายหลังมีการ Cover โดยนักร้องคนอื่น ๆ นำไปร้องบันทึกเสียง ร้องในคอนเสิร์ต หรือร้องในพิธีมงคลสมรส และ/หรือ งานฉลองมงคลสมรสของคู่สามีภรรยาคู่ต่าง ๆ จนกลายเป็นเพลงประกอบการแต่งงานยอดนิยมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเพลงนี้มีที่มาจากเทปที่ ส.อาสนจินดา และภรรยา มาเป็นแขกรับเชิญ โดยผู้แต่งเพลงคือ ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ประทับใจจากการฟังคำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งของแขกรับเชิญคู่นี้ว่า "เธอเปรียบเหมือนลมหายใจของเขา หากขาดเธอไปก็เหมือนขาดลมหายใจ" จึงนำคำกล่าวนั้นมาดัดแปลงเป็นบทเพลงประกอบรายการ[2] ร้องโดย ฐิติวุฒิ ไกรทอง
"อาจเป็นเพราะเรา คู่กันมาแต่ชาติไหน
จะรัก รักเธอตลอดไป เป็นลมหายใจของกันและกัน"
อ้างอิง
แก้- ↑ จากบทสัมภาษณ์คุณปัญญา นิรันดร์กุล กับ เวิร์คพอยท์ ในหนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี ฉบับพิเศษ ครบรอบ 6 ปี
- ↑ http://www.prapas.com/song_detail.php?id=165
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- http://www.workpoint.co.th/th/televishows/ เก็บถาวร 2009-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ชมรายการในอดีตของเวิร์คพอยท์