คูซูโนกิ มาซาชิเงะ
คูซูโนกิ มาซาชิเงะ (ญี่ปุ่น: 楠木 正成; โรมาจิ: Kusunoki Masashige ค.ศ. 1294 ถึง ค.ศ. 1336) เป็นซามูไรในช่วงต้นยุคมูโรมาจิ เป็นซามูไรคนสำคัญซึ่งสู้รบอยู่ในฝ่ายของพระจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ
ชีวิตในวัยเยาว์ของคูซูโนกิ มาซาชิเงะ และความเป็นมาของตระกูลคูซูโนกิ ไม่ได้รับการบันทึกไว้ คูซูโนกิ มาซาชิเงะ เป็นซามูไรระดับล่าง อาศัยอยู่ในแคว้นคาวาจิ (ญี่ปุ่น: 河内; โรมาจิ: Kawachi จังหวัดโอซากะในปัจจุบัน) เมื่อพระจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ทรงประกาศเชื้อเชิญให้บรรดาซามูไรทั้งหลายที่ไม่พอใจการปกครองของรัฐบาลโชกุนคามากูระเข้าร่วมกับกองกำลังของพระองค์ในการล้มล้างรัฐบาลโชกุนฯ ในปีค.ศ. 1331 คูซูโนกิ มาซาชิเงะ ประกาศตนเข้ากับฝ่ายของพระจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ และสร้างกองกำลังอยู่ที่ป้อมอากาซากะ (ญี่ปุ่น: 赤坂; โรมาจิ: Akasaka) ในแคว้นคาวาจิ ซึ่งเจ้าชายโมริโยชิ (ญี่ปุ่น: 護良親王; โรมาจิ: Moriyoshi shinnō) พระโอรสของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะเสด็จมายังป้อมอากาซากะเพื่อทรงร่วมนำทัพในการต่อต้านรัฐบาลโชกุน แต่ทว่าตระกูลโฮโจแห่งรัฐบาลโชกุนฯ ส่งกองทัพมาเข้าล้อมป้อมอากาซากะและสามารถยึดป้อมได้ คูซูโนกิ มาซาชิเงะ นำเจ้าชายโมริโยชิเสด็จหนีออกจากป้อมอากาซากะ จากนั้นมาซาชิเงะรวบรวมกำลังได้อีกครั้งที่ป้อมชิฮายะ (ญี่ปุ่น: 千早; โรมาจิ: Chihaya) ทัพของตระกูลโฮโจเข้าล้อมป้อมชิฮายะแต่ไม่สำเร็จ
เมื่อไม่สามารถปราบกองกำลังของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะได้ รัฐบาลโชกุนคามากูระจึงส่งอาชิกางะ ทากาอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利 尊氏; โรมาจิ: Ashikaga Takauji) ยกทัพมาปราบกองกำลังของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ แต่ทว่าอาชิกางะ ทากาอูจิ แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ และเข้ายึดนครหลวงเกียวโตถวายแด่พระจักรพรรดิ ส่วนนิตตะ โยชิซาดะ (ญี่ปุ่น: 新田 義貞; โรมาจิ: Nitta Yoshisada) ยกทัพเข้ายึดเมืองคามากูระ ทำให้รัฐบาลโชกุนคามากูระสิ้นสุดลง พระจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ทรงฟื้นฟูการปกครองซึ่งมีราชสำนักเมืองเกียวโตเป็นศูนย์กลางขึ้นมาใหม่ เรียกว่า การฟื้นฟูเป็นเค็มมุ (Kemmu Restoration) และลดอำนาจของชนชั้นซามูไร สร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้นซามูไรโดยทั่วไป ในค.ศ. 1335 อาชิกางะ ทากาอูจิ แยกตนออกไปเพื่อก่อตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นมาอีกครั้ง ในขณะที่คูซูโนกิ มาซาชิเงะ และนิตตะ โยชิซาดะ ยังคงจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ อาชิกางะ ทากาอูจิ ยกทัพเข้าประชิดเมืองเกียวโตในค.ศ. 1335 คูซูโนกิ มาซาชิเงะ สามารถขับไล่ทัพของอาชิกางะออกไปได้ แต่ทว่าในปีต่อมาค.ศ. 1336 อาชิกางะ ทากาอูจิ สามารถรวบรวมกำลังพลขนาดใหญ่ทั้งทางน้ำและทางบกเข้ามายังเมืองเกียวโต คูซูโนกิ มาซาชิเงะ ถวายคำแนะนำแด่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ว่าควรจะเสด็จออกจากนครเกียวโตไปก่อนเพื่อไปตั้งรับนอกเมือง เนื่องจากทัพของอาชิกางะมีขนาดใหญ่เกินรับมือ แต่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะและนิตตะ โยชิซาดะ ยืนกรานที่จะตั้งรับอยู่ภายในนครหลวงเกียวโต แม้จะทราบดีว่าการสู้รบในครั้งนี้มีโอกาสชนะน้อย แต่คูซูโนกิ มาซาชิเงะ ยังคงปฏิบัติตามพระราชโองการของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ยกทัพออกไปตั้งรับต่อกรกับอาชิกางะ
ในยุทธการที่มินะโตะงะวะ (ญี่ปุ่น: 湊川の戦い; โรมาจิ: Minatogawa-no-tatakai) ทัพของนิตตะ โยชิซาดะ ถูกโจมตีจนถอยร่นไป เหลือเพียงคูซูโนกิ มาซาชิเงะ เผชิญหน้ากับทัพขนาดใหญ่ของอาชิกางะ ทาดาโยชิ (ญี่ปุ่น: 足利 直義; โรมาจิ: Ashikaga Tadayoshi ) ซึ่งเป็นน้องชายของอาชิกางะ ทากาอูจิ เพื่อประสบกับความพ่ายแพ้ คูซูโนกิ มาซาชิเงะ จึงทำการเซ็ปปูกุเสียชีวิต
หลังจากที่คูซูโนกิ มาซาชิเงะ เสียชีวิตไปแล้ว อาชิกางะ ทากาอูจิ สามารถเข้ายึดเมืองเกียวโตได้ ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ บุตรชายของมาซาชิเงะ คือ คูซูโนกิ มาซัตสึระ (ญี่ปุ่น: 楠木 正行; โรมาจิ: Kusunoki Masatsura) รับช่วงต่อหน้าที่การนำทัพของพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ในรัชสมัยของจักรพรรดิโกะ-มูรากามิ คูซูโนกิ มาซัตสึระ เสียชีวิตระหว่างสงครามในค.ศ. 1348 จากนั้นบุตรชายอีกคนของมาซาชิเงะ คือ คูซูโนกิ มาซาโนริ (ญี่ปุ่น: 楠木 正儀; โรมาจิ: Kusunoki Masanori) ขึ้นเป็นผู้นำทัพของพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ต่อมา
นักวิชาการในยุคเมจิยกย่องเชิดชู คูซูโนกิ มาซาชิเงะ ให้เป็นตัวอย่างของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ในยุคเมจิมีการสร้างอนุสาวรีย์ของคูซูโนกิ มาซาชิเงะ ขึ้นในพระราชวังอิมพีเรียลเมืองโตเกียว และคูซูโนกิ มาซาชิเงะ ยังเป็นแบบอย่างให้แก่กองกำลังคามิกาเซะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย