ความจำโดยปริยาย

(เปลี่ยนทางจาก ความจำเชิงไม่ประกาศ)

ความจำโดยปริยาย[1] (อังกฤษ: Implicit memory) เป็นความจำประเภทหนึ่งที่ประสบการณ์ในอดีตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ต้องมีการระลึกรู้ใต้อำนาจจิตใจถึงประสบการณ์ในอดีตนั้น[2] หลักฐานว่ามีความจำโดยปริยายเห็นได้ในปรากฏการณ์ priming (การเตรียมการรับรู้) ซึ่งเป็นการวัดผู้รับการทดลองว่ามีทักษะในงานหนึ่ง ๆ ดีขึ้นเท่าไรเพราะการเตรียมตัวที่ให้กับผู้ทดลองโดยที่ไม่รู้ตัว[3][4]

ประเภทและกิจหน้าที่ของความจำในวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ

ความจำโดยปริยายสามารถนำไปสู่ปรากฏการณ์ความจริงเทียม (illusion-of-truth effect) ซึ่งแสดงว่า เรามักจะคิดว่าคำอ้างอิงหนึ่ง ๆ ว่าเป็นจริงถ้าเคยได้ยินมาก่อน ไม่ว่าคำนั้นจะตรงกับความจริงแค่ไหน[5] ในชีวิตประจำวัน เราพึ่งความจำโดยปริยายทุก ๆ วันในรูปแบบของความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ซึ่งเป็นรูปแบบของความจำที่ทำให้เราสามารถจำได้ว่า จะผูกเชือกรองเท้าอย่างไร หรือจะขี่จักรยานอย่างไร โดยไม่ต้องคิดถึงวิธีการทำกิจเหล่านั้น งานวิจัยเกี่ยวกับความจำโดยปริยายแสดงว่า ความจำนี้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางจิตใจที่ต่างไปจากความจำชัดแจ้ง (explicit memory)[2]

หลักฐานและงานวิจัยปัจจุบัน แก้

งานศึกษาในระดับสูงเกี่ยวกับความจำโดยปริยายพึ่งเกิดขึ้นภายใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยเป็นจำนวนมากได้พุ่งความสนใจไปที่ปรากฏการณ์/ผลของความจำโดยปริยายที่เรียกว่า priming (การเตรียมการรับรู้)[2] งานวิจัยหลายงานยืนยันถึงความมีอยู่ของระบบความจำต่างหากซึ่งก็คือความจำโดยปริยาย ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองฟังเพลงหลายเพลงแล้วตัดสินใจว่าคุ้นเคยกับเพลง ๆ หนึ่งหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งฟังเพลงพื้นบ้านอเมริกัน และอีกครึ่งหนึ่งฟังเพลงที่แต่งโดยใช้ทำนองของเพลงที่กลุ่มแรกได้ยินแต่ใช้เนื้อร้องที่แต่งใหม่ ผลแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มแรกมีโอกาสสูงกว่าที่จะรู้สึกว่าเพลงเหล่านั้นเป็นเพลงที่คุ้นเคย ทั้ง ๆ ที่ในกลุ่มทั้งสอง ทำนองเพลงต่างเหมือนกัน[6] งานวิจัยนี้แสดงว่า เราทำการเชื่อมต่อกันระหว่างความจำต่าง ๆ โดยปริยาย (คือไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำใต้อำนาจจิตใจ) และงานวิจัยเป็นจำนวนมากพุ่งความสนใจไปที่ ความจำเชิงสัมพันธ์ (associative memory) ซึ่งเป็นความจำที่เชื่อมสิ่งสองสิ่งเข้าด้วยกัน ส่วนงานวิจัยนี้แสดงว่า เราทำความเชื่อมโยง (โดยปริยาย) ที่มีกำลังระหว่างทำนองเพลงกับเนื้อร้องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในภายหลัง

งานวิจัยปัจจุบัน แก้

นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแดเนียล สแค็กเตอร์ ได้กล่าวไว้ว่า

ปัญหาว่าความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้งอาศัยระบบ (ประสาท) ที่เป็นรากฐานเดียวกันหรืออาศัยหลายระบบยังไม่มีคำตอบ[2]

สิ่งที่ค้นพบในงานวิจัยต่าง ๆ เป็นปรากฏการณ์จำนวนมากมายจนกระทั่งว่ายังไม่มีทฤษฎีใดเดี่ยว ๆ ที่สามารถอธิบายสังเกตการณ์เหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่ต้องมีทฤษฎี 2 ทฤษฎีที่ใช้อธิบายข้อมูลในส่วนต่าง ๆ กัน

มีแนวทางสองแนวในการศึกษาความจำโดยปริยาย แนวทางแรกคือการกำหนดลักษณะของความจำชัดแจ้ง (คืออะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ของความจำชัดแจ้งก็ต้องเป็นหน้าที่ของความจำโดยปริยาย) ถ้าคนที่มีความจำปกติสามารถผ่านการทดสอบเช่น จำรายการศัพท์ได้ คนนั้นกำลังระลึกถึงความจำนั้นใต้อำนาจจิตใจ แนวทางที่สองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองทั้งที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจและที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรอิสระหลายอย่างซึ่งมีผลต่อการตอบสนองของความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้ง[7]

ช่วงพัฒนาการ แก้

มีหลักฐานโดยการทดลองที่บอกเป็นนัยว่า ทารกมีแต่ความจำโดยปริยายเพราะยังไม่สามารถที่จะดึงความรู้จากความทรงจำ (ชัดแจ้ง) ที่มีอยู่ โดยปกติแล้วเมื่อเจริญวัยขึ้น ก็จะสามารถระลึกถึงความจำได้อย่างจงใจ คือระลึกถึงความจำชัดแจ้งได้ แต่ว่า ก็มีข้อยกเว้นในคนไข้ภาวะเสียความจำ (amnesia) คือ แม้ว่าคนไข้จะยังสามารถเกิดความจำโดยปริยายอาศัยกระบวนการ priming ในระดับหนึ่ง และเนื่องจากว่า ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) เป็นการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อสิ่งเร้าบางอย่าง เป็นความจำประเภทหนึ่งของความจำปริยาย คนไข้ภาวะเสียความความจำจึงไม่ปรากฏอาการผิดปรกติเมื่อมีพฤติกรรมโดยนิสัย (habit) ที่เกิดขึ้นอาศัยความจำเชิงกระบวนวิธี[7]

ทฤษฎีสองกระบวนการ แก้

กระบวนการเริ่มการทำงาน (activation processing) เป็นส่วนแรกของทฤษฎีสองกระบวนการ (dual processing theory) ของ ศ. แมนด์เลอร์ ผู้เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชั้นแนวหน้ากลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศ. แมนด์เลอร์แสดงว่า มีกระบวนการสองอย่างที่ทำงานกับแบบจำลอง (mental representation) ในสมอง กระบวนการแรกคือ การเริ่มทำ (activation) ซึ่งเพิ่มการทำงานที่ทำให้ความจำหนึ่ง ๆ เด่นขึ้น เป็นการเพิ่มความคุ้นเคยให้กับความจำนั้น ซึ่งสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ priming ส่วนกระบวนการที่สองก็คือ การทำเพิ่ม (elaboration) ซึ่งเป็นการเข้ารหัสความจำชัดแจ้งที่มีส่วนในกระบวนการเริ่มทำ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ระหว่างความจำต่าง ๆ ที่มีอยู่[8]

ระบบความจำต่าง ๆ แก้

ทฤษฎีระบบความจำหลายระบบแสดงว่า ความจำโดยปริยาย (implicit memory) และความจำชัดแจ้ง (explicit memory) ต่างกันเพราะมีโครงสร้างที่เป็นมูลฐานต่างกัน คือบอกว่า ความจำชัดแจ้งเป็นส่วนของระบบความจำเชิงประกาศ (declarative memory) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างตัวแทน (ทางประสาท) ของข้อมูล โดยเปรียบเทียบกัน ความจำโดยปริยายเป็นส่วนของระบบความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ที่ความจำเป็นเพียงแค่การปรับปรุงกระบวนการหรือวิธีการปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว[2]

ปรากฏการณ์ความจริงลวง แก้

ทฤษฎีเกี่ยวกับ "ปรากฏการณ์ความจริงลวง" (illusion-of-truth effect) แสดงว่า เรามีโอกาสที่จะเชื่อข้อความที่คุ้นเคยมากกว่าข้อความที่ไม่คุ้นเคย ในการทดลองในปี ค.ศ. 1977 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านข้อความ 60 ข้อความที่อาจเป็นไปได้ทุก ๆ 2 อาทิตย์แล้วให้ตัดสินใจว่า เป็นจริงหรือเท็จ ข้อความที่ให้อ่านบางส่วน (เป็นจริงบ้าง เท็จบ้าง) ปรากฏเกินกว่า 1 ครั้งในช่วงการทดลองต่าง ๆ ผลการทดลองแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองมีโอกาสมากกว่าที่จะตัดสินใจว่าข้อความเป็นจริง ถ้าเป็นข้อความที่เคยได้ยินมาแล้ว แม้ว่าจะจำไม่ได้ว่าเคยได้ยินมาแล้ว ไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นจริงหรือเท็จ

เนื่องจากว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ไม่รู้ตัว จึงเป็นผลของความจำโดยปริยาย ผู้ร่วมการทดลองบางพวกตัดสินข้อความที่เคยได้ยินแล้วว่าเป็นจริง แม้ว่าจะได้รับแจ้งมาก่อนแล้วว่าเป็นข้อความเท็จ[9] ปรากฏการณ์นี้แสดงภัยที่อาจจะมีเพราะความจำโดยปริยาย เพราะว่า สามารถที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่รู้ตัวเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อความ

ความจำเชิงกระบวนวิธี แก้

ความจำโดยปริยายที่เราใช้ทุกวันอย่างนี้เรียกว่า ความจำเชิงกระบวนวิธี หรือ ความจำเชิงดำเนินการ หรือ ความจำเชิงกระบวนการ[1] (procedural memory) ซึ่งทำให้เราสามารถทำกิจต่าง ๆ (เช่นเขียนหนังสือหรือขี่จักรยาน) แม้ว่าเราจะไม่ใส่ใจ หรือไม่ได้คิดถึงการกระทำนั้น

ในงานทดลองหนึ่ง มีผู้รับการทดลองสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นคนไข้ภาวะเสียความจำ (amnesia) ที่มีความจำระยะยาวเสียหายเป็นอย่างยิ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนปกติ มีการให้ผู้รับการทดลองเล่นเกมหอคอยแห่งฮานอย (เป็นเกมซับซ้อนที่ต้องผ่านขั้นตอน 31 ขั้นจึงจะผ่านได้) หลายครั้งหลายคราว ผู้รับการทดลองกลุ่มแรกปรากฏการพัฒนาขึ้นในเกมต่อ ๆ มา เท่ากับผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มที่สอง แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มแรกบางคนจะยืนยันว่า จำไม่ได้ว่าเคยเห็นเกมนี้มาก่อน ผลงานวิจัยนี้บอกเป็นนัยอย่างมีกำลังว่า ความจำเชิงกระบวนวิธีเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากความจำเชิงประกาศ (declarative memory)[10]

ในอีกการทดลองหนึ่ง คนสองกลุ่มได้รับเครื่องดื่มอัดลม กลุ่มแรกภายหลังมีการทำให้เกิดความคลื่นไส้ และดังนั้นจึงเริ่มไม่ชอบใจรส (taste aversion) ของเครื่องดื่มอัดลม แม้ว่าจะได้รับแจ้งว่า เครื่องดื่มนั้นไม่ได้ทำให้คลื่นไส้ ผลงานวิจัยนี้แสดงว่า มีความจำเชิงกระบวนวิธี ที่เป็นความจำโดยปริยาย ที่สัมพันธ์ความคลื่นไส้กับรสเครื่องดื่มที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ[11]

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ทัศนคติโดยปริยาย (คือทัศนคติที่เรามีโดยไม่รู้ตัว) ควรจะจัดอยู่ใต้ความจำโดยปริยาย (คือ โดยบางส่วนแล้ว ทัศนคติโดยปริยายมีความเหมือนกับความจำเชิงกระบวนวิธีเพราะว่าอาศัยความรู้โดยปริยาย ที่ไม่สำนึกตัว ที่ได้เรียนรู้มาก่อนแล้วในอดีต) หรือว่า นี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่อธิบายได้โดยวิธีอื่น[12]

หลักฐานว่าความจำชัดแจ้งและความจำปริยายเป็นระบบต่างกัน แก้

มีหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงว่า ความจำโดยปริยายโดยมากต่างจากความจำชัดแจ้ง และทำงานภายใต้กระบวนการที่ต่างกันในสมอง งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ได้พุ่งความสนใจไปในการศึกษาความแตกต่าง โดยเฉพาะในการศึกษาคนไข้ภาวะเสียความจำและผลของปรากฏการณ์ priming

ความจำโดยปริยายในคนไข้ภาวะเสียความจำ แก้

หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับความต่างกันของความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้งอยู่ในงานวิจัยที่ศึกษาคนไข้ภาวะเสียความจำ (amnesia) ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องความจำเชิงกระบวนวิธี คนไข้ภาวะเสียความจำไม่มีความบกพร่องในการเรียนรู้งานและกระบวนวิธีที่ไม่ใช้ความจำชัดแจ้ง

 
รูปถ่ายจอคอมพิวเตอร์แสดง pursuit rotor task ในงานนี้ ผู้รับการทดสอบต้องใช้เมาส์หรือปากกาคอมพิวเตอร์ในการติดตามวงกลมสีแดงที่วิ่งเป็นวงกลมรอบ ๆ วงสีเทา

ในงานวิจัยหนึ่ง คนไข้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความจำศัพท์แบบระยะยาว แต่ไม่มีความเสียหายในการเรียนรู้การงานใหม่ที่เรียกว่า pursuit rotor (ดูรูป) คนไข้แสดงการพัฒนาขึ้นเมื่อทำงานซ้ำ ๆ แม้ว่าในแต่ละครั้งจะยืนยันว่าไม่เคยเห็นเกมนี้มาก่อน[13] ผลงานวิจัยนี้แสดงว่า กลไกของความจำเชิงประกาศระยะยาวไม่เหมือนกับความจำโดยปริยาย นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยหลายงานที่ใช้เทคนิค priming ในคนไข้ภาวะเสียความจำยังแสดงว่า ความจำโดยปริยายไม่เกิดความเสียหายแม้ว่าจะมีความเสียหายต่อความจำชัดแจ้งอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้และกลุ่มควบคุมแสดงการทำได้ดีขึ้นในระดับเท่า ๆ กันในเรื่องการเติมคำให้เต็มที่เป็นผลจากปรากฏการณ์ priming แม้ว่าจะจำไม่ได้ว่าได้ทำบททดสอบนั้นมาก่อนแล้ว[14] การที่ปรากฏการณ์ priming เกิดขึ้นโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจากความจำชัดแจ้งแสดงว่า ระบบความจำทั้งสองมีหน้าที่ต่าง ๆ กันในสมอง

ความต่างกันอื่น ๆ ระหว่างความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้ง แก้

นอกจากงานวิจัยเกี่ยวกับคนไข้ภาวะเสียความจำ ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงความต่างกันของความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้ง คือ รูปแบบการพัฒนาของความจำชัดแจ้งไม่เกี่ยวกับความจำโดยปริยาย ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ระบบทั้งสองอาศัยกระบวนการที่แตกต่างกัน การทดสอบเด็กวัยต่าง ๆ กันที่อยู่ในระยะการพัฒนาต่าง ๆ กัน ไม่แสดงความพัฒนาขึ้นของความจำโดยปริยายไม่เหมือนกับความจำชัดแจ้ง นี้ก็เป็นความจริงด้วยสำหรับผู้ใหญ่วัยชรา คือ ผลงานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า เมื่อเราถึงวัยชรา การทำงานของความจำชัดแจ้งก็จะเสื่อมลง แต่ว่า การทำงานของความจำโดยปริยายไม่เสื่อมลงเลยโดยประการทั้งปวง[15]

มีงานทดลองมากมายที่ทำเพื่อแสดงความแตกต่างกันระหว่างความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้ง วิธีการหนึ่งที่ใช้ก็คือ depth-of-processing effect (ผลจากการประมวลผลอย่างลึกซึ้ง) ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1981 โดยจาคอบีและดัลลัส มีการให้ผู้รับการทดลองรายการคำศัพท์เพื่อที่จะทำการปฏิสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ในคำเหล่านั้น ในศัพท์บางคำ มีการให้ผู้การทดลองทำปฏิสัมพันธ์กับคำเหล่านั้นอย่างตื้น ๆ เช่นนับจำนวนอักษรในคำ ในศัพท์บางคำ ก็ให้ผู้รับการทดลองทำปฏิสัมพันธ์กับคำเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เช่นตอบคำถามเกี่ยวกับควาหมายของศัพท์นั้น หลังจากนั้น ก็มีการทดสอบว่า ผู้รับการทดลองสามารถจำได้หรือไม่ว่าได้เห็นคำนั้นมาแล้ว เพราะว่า การประมวลผลอย่างลึกซึ้งช่วยความจำชัดแจ้งของคำ ๆ หนึ่ง ดังนั้น ผู้รับการทดลองจึงจำคำที่ต้องทำปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งได้ดีกว่า แต่ว่า ถ้ามีการทดสอบความจำโดยปริยายโดยวิธี priming คือแสดงคำศัพท์อย่างรวดเร็วแล้วให้ผู้รับการทดลองเลือกศัพท์ที่เคยเห็นแล้ว ปรากฏว่ามีผลเท่ากันระหว่างศัพท์ที่ให้ทำปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคำที่ไม่ได้ให้ทำ นี้บอกเป็นนัยว่า ความจำโดยปริยายไม่ได้อาศัยการประมวลผลอย่างลึกซึ้งเหมือนกับความจำชัดแจ้ง[16]

งานวิจัยเดียวกันทดสอบผลต่อความจำโดยการเตรียมการรับรู้ (priming) ทางการได้ยิน แล้วทดสอบโดยใช้สิ่งเร้าทางตา ในกรณีนี้ ผลที่เกิดจากการเตรียมการรับรู้ไม่ลดน้อยถอยหลงไปเมื่อทดสอบความจำชัดแจ้งโดยถามตรง ๆ ว่า สามารถจำว่าได้ยินคำนี้มาก่อนในส่วนแรกของการทดลองบ้างไหม แต่ในการทดสอบความจำโดยปริยาย ผลของการเตรียมการรับรู้ลดน้อยถอยลงไปอย่างยิ่งเพราะการเปลี่ยนประสาทสัมผัส[16] ระหว่างส่วนที่ศึกษาคำ (ด้วยการได้ยิน) และส่วนที่มีการทดสอบ (ด้วยการเห็น)

งานวิจัยต่อมาในปี ค.ศ. 1987 พบว่าการเข้าไปกวนความจำของรายการศัพท์ มีผลเป็นนัยสำคัญต่อความสามารถของผู้ร่วมการทดลองในการรู้จำคำในการทดสอบการรู้จำชัดแจ้ง แต่ว่า การกวนนั้นไม่มีผลต่อความจำโดยปริยายเกี่ยวกับรายการศัพท์นั้น[17] นอกจากนั้นแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีสหสัมพันธ์โดยสถิติระหว่างความสามารถในการจำรายการศัพท์โดยชัดแจ้ง กับความสามารถที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจที่ได้รับประโยชน์จากปรากฏการณ์ priming เพื่อช่วยในการระบุคำที่เห็นมาแล้วในการทดสอบเติมคำให้เต็ม[18] ผลเหล่านี้แสดงผลที่ชัดเจนว่า ความจำโดยปริยายไม่ใช่เพียงแค่มีอยู่เท่านั้น แต่มีอยู่โดยเป็นระบบต่างหาก มีกระบวนการของตนเองที่ต่างจากความจำชัดแจ้งโดยนัยสำคัญ

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑"
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Schacter, D. L. (1987) ."Implicit memory: history and current status" เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition, 13, 501-518.
  3. Hamilton, Marryellen. "Measuring Implicit Memory". youtube.com. St. Peter's College. สืบค้นเมื่อ 2012-04-21.
  4. Graf, P. & Mandler, G. (1984) . Activation makes words more accessible, but not necessarily more retrievable. Journal of Verbal Learning and Verbal Behavior, 23, 553-568.
  5. Hasher, L., Goldstein, D., & Toppino, T. (1977) . Frequency and the conference of referential validity. Journal of Verbal Learning and Verbal Behavior, 16, 107-112.
  6. Crowder, Robert G.; Mary Louise Serafine; Bruno H. Repp (April 1984). "Integration of Melody and Test in Memory for Songs". Cognition. 16 (3): 285–303. doi:10.1016/0010-0277(84)90031-3. PMID 6541107. S2CID 43278146.
  7. 7.0 7.1 Harlene Rovee-Collier, Hayne (2001). The Development of Implicit and Explicit Memory. John Benjamins Publishing Company. ISBN 9027251444. สืบค้นเมื่อ 2012-04-18.
  8. Mandler, George; Jennifer Dorfman (1994). "Implicit and explicit forgetting: When is gist remembered?". The Quarterly Journal of Experimental Psychology. 47 (3): 651–672. doi:10.1080/14640749408401132. PMID 7938670. S2CID 1828772.
  9. Begg, I.M., Anas, A., & Farinacci, S. (1992) . Dissociation of processes in belief: source recollection, statement familiarity, and the illusion of truth. Journal of Experimental Psychology, 121, 446-458.
  10. Cohen, N.J., Eichenbaum, H., Deacedo, B.S., & Corkin, S. (1985) . Different memory systems underlying acquisition of procedural and declarative knowledge. Annals of the New York Academy of Sciences, 444, 54-71.
  11. Arwas, S., Rolnick, A., & Lubow, R.E. (1989) . Conditioned taste aversion in humans using motion-induced sickness as the US. Behavioral Research Therapy, 27 (3), 295-301.
  12. doi:10.1176/appi.ajp.160.2.396
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand The Nature of Remembering: Essays in Honor of Robert G. Crowder (Full Web Article)
  13. Brooks, D.N. & Baddeley, A.D. (1976) . What can amnesic patients learn? Neuropsychologia, 14, 111-129.
  14. Graf, P. & Schacter, D.L. (1985) . Implicit and explicit memory for new associations in normal and amnesic subjects. Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition, 11, 501-518.
  15. Roediger, Henry L. (September 1990). "Implicit Memory: Retention without remembering". American Psychologist. 45 (9): 1043–1056. doi:10.1037/0003-066x.45.9.1043. PMID 2221571.
  16. 16.0 16.1 Jacoby, L.L.; Dallas, M. (1981). "On the relationship between autobiographical and perceptual learning". Journal of Experimental Psychology: General. 110 (3): 306–340. doi:10.1037/0096-3445.110.3.306. PMID 6457080.
  17. Graf, P.; Schacter, D.L. (1987). "Selective effects of interference on implicit and explicit memory for new associations". Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition. 13: 45–53. doi:10.1037/0278-7393.13.1.45. S2CID 38069255.
  18. Tulving, E.; Schacter, D.L.; Stark, H.A. (1982). "Priming effects in word-fragment completion are independent of recognition memory". Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition. 8 (4): 336–342. doi:10.1037/0278-7393.8.4.336. S2CID 143013790.