คลังสินค้า
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
คลังสินค้า โรงเก็บสินค้า หรือ โกดัง[1] คืออาคารทางพาณิชย์ที่ใช้สำหรับเก็บสินค้าเพื่อรอการขนส่ง คลังสินค้าถูกใช้โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง ศุลกากร ฯลฯ คลังสินค้ามักจะเป็นอาคารธรรมดาหลังใหญ่และกว้างตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมในตัวเมือง ภายในอาคารมีทางลาดเอียงสำหรับขนถ่ายสินค้าขึ้นหรือลงรถ หรือบางครั้งคลังสินค้าใช้รับถ่ายสินค้ามาจากสถานีรถไฟ สนามบิน หรือท่าเรือโดยตรง และมักจะมีเครนหรือฟอร์กลิฟต์เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าที่วางอยู่บนแท่นวางสินค้า (pallet) ขนาดมาตรฐาน ISO

สินค้าที่เก็บอาจเป็นชนิดใดก็ได้เช่น วัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ส่วนประกอบต่าง ๆ หรือสินค้าสำเร็จรูปเกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม มีระบบการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อระบุตัวสินค้า เพื่อจำแนกหมวดหมู่ และเพื่อให้ทราบว่ามีสินค้าเท่าใด รับเข้าและส่งออกปริมาณเท่าใดในแต่ละช่วงเวลา
วิวัฒนาการของคลังสินค้า คลังสินค้ามีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน โดยได้รับอิทธิพลของแนวคิดจากการเก็บรักษาอาหาร และวัตถุดิบในครัวเรือน ต่อมาได้พัฒนาการมาสู่การเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าไว้เพื่อรอการผลิต และจำหน่าย ในประเทศไทยวิวัฒนาการของคลังสินค้าเริ่มมีความสำคัญเมื่อมีชาวต่างชาติจากยุโรปและอเมริกาเข้ามามีบทบาทด้านการค้า ช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 และจากวิวัฒนาการของการค้าและเศรษฐกิจของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2488 หรือ ค.ศ. 1945 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเป็นต้นมา มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจกันอย่างมากมาย สินค้าเริ่มมีการเคลื่อนย้ายจากท้องถิ่นหนึ่งสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง พัฒนาไปสู่อีกเมืองหนึ่ง และอีกประเทศหนึ่งในเวลาต่อมา ส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการค้าซึ่งผู้ผลิตเริ่มมองเห็นความสำคัญของระบบการจำหน่ายสินค้าและเกี่ยวข้องไปถึงระบบของการจัดการเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ได้มีการผลิตแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลไปสู่การแสวงหาวิธีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตไว้เป็นจำนวนมากวางกองเพื่อรอการจำหน่าย ผู้ประกอบการเองไม่สามารถหาวิธีการที่ดีในการจัดการเกี่ยวกับปัจจัยดังกล่าวได้ จึงได้เกิดแนวคิดในการจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในระบบของการผลิตสินค้าที่ส่งผลต่อการให้บริการลูกค้าที่ดี อีกทั้งยังหมายถึง การใช้ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประเภทของคลังสินค้า คลังสินค้ามีหลายประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับธุรกิจและสินค้าที่ต่างกันออกไป คลังสินค้าสามารถแบ่งประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
- คลังสินค้าทั่วไป เหมาะกับการเก็บสินค้าทั่วไป เช่น ข้าวของเครื่องใช้ สินค้าสำเร็จรูป อะไหล่ต่างๆ ที่ไม่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ
- คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ สำหรับเก็บสินค้าที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น ยา หรือสารเคมีบางชนิด
- คลังสินค้านิรภัย ใช้เก็บสินค้าที่มีมูลค่า เช่น ทองคำ เอกสารสำคัญ
- คลังสินค้าของสด จะมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อการรักษาความสดของสินค้า เพราะสินค้าที่เก็บจะเป็นประเภทของสด มีอายุไม่ยาวนาน เช่น ผักผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น
- คลังสินค้าอันตราย ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหมาะกับการเก็บสินค้าที่เป็นวัตถุอันตราย เช่น เชื้อเพลิง สารเคมี วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด สารพิษต่างๆ มีระบบการจัดการที่เข้มงวด
- คลังสินค้าทั่วไป เป็นคลังสินค้าสำหรับเก็บสินค้า เพื่อความต้องการของธุรกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การผลิต การบริการ การขาย โดยสินค้าที่ออกจากคลังจะยังไม่ถึงมือลูกค้าโดยตรง จะต้องผ่านการจัดการอีกทอดหนึ่ง เช่นการแปรรูป การขายปลีก
- คลังสินค้าออนไลน์ เป็นคลังสินค้าสำหรับเก็บสินค้า ที่พร้อมสำหรับการขายปลีก สินค้าที่ออกจากคลังสินค้า จะอยู่ในรูปแบบที่ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง โดยไปรษณีย์หรือขนส่ง

คลังสินค้าเกือบทั้งหมด จะต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อการประกอบการคลังสินค้า
- ชั้นวางสินค้า
- ตะแกรงเหล็กพับได้
- รถเข็นตะแกรงเหล็ก
- เครื่องปริ้นสติกเกอร์
- พาเลทพลาสติก
- เครื่องชั่งน้ำหนัก
- ถุงไปราณีย์
- กล่องอะไหล่
Warehouse Management System (WMS) คือระบบการจัดการจัดการคลังสินค้าแบบครบวงจร ทั้งในเรื่องของการรับสินค้าเข้า การจัดส่ง รวมทั้งอื่นๆที่ในขั้นตอนการจัดการของคลังสินค้า โดยจะสามารถแจกแจงเป็นระบบย่อยๆได้ดังนี้
- ระบบรับสินค้าเข้า คือ การบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของสินค้า เช่น จำนวนสินค้าที่อยู่ในคลัง มูลค่า หรือตำแหน่งของสินค้า ทำให้รู้จำนวนของสินค้าที่แน่ชัดในการเคลื่อนย้ายจากต้นทางมาปลายทาง
- ระบบจัดการเอกสาร คือ ระบบที่จะสรุปข้อมูลของเอกสารต่างๆที่ใช้ภายในคลังสินค้า เช่น ใบส่งของ ใบเสร็จ ใบรายการสินค้า ใบเบิกสินค้า ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และการนำข้อมูลไปใช้
- ระบบจัดการสินค้าคงคลัง คือ ระบบที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมการเคลื่อนไหวของสินค้า ว่ามีสินค้าใดขาด ต้องเพิ่มจำนวนสินค้าใด ทำให้สามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง
- ระบบจัดการขนส่ง คือ ระบบที่ช่วยบริหารการขนส่ง ทั้งตรวจสอบสถานะ วางแผนเส้นทาง ยืนยันการรับสินค้า บันทึกรายรับรายจ่าย รวมถึงการรับชำระเงิน ช่วยให้การขนส่งมีแผนการที่เป็นระบบ รัดกุม สร้างความพอใจให้กับลูกค้า และการสรุปข้อมูลต่างๆทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์วางแผนต่อได้
- ระบบโอนย้ายสินค้า คือ ระบบที่ช่วยจัดการการโอนย้ายจากคลังหนึ่งไปยังคลังหนึ่ง โดยจะช่วยจัดการตั้งแต่การสร้างรายการที่ต้องการโอนย้าย การโอนย้าย ส่งใบแจ้งสินค้าที่โอนย้าย ไปจนถึงการรับสินค้าของคลังปลายทาง
- ระบบหน่วยนับสินค้า คือ ระบบที่ช่วยในการกำหนดหน่วยในการนับสินค้า ช่วยลดความซับซ้อนในการนับ เช่น ในหนึ่งหน่วยสินค้าอาจมีสินค้าเพียงชิ้นเดียว หรือหนึ่งหน่วยสินค้าอาจมีสินค้าหลายชิ้น ระบบการจัดการหน่วยนับสินค้าจะช่วยจัดการให้แม่นยำ และสามารถหยิบสินค้าได้ถูกต้อง
- ระบบรายงานและสรุปภาพรวม คือ ระบบที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของคลังสินค้า เพื่อช่วยในการบริหาร โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากระบบคลังสินค้าอื่นๆ และสรุปรายงานเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด และสามารถนำไปวางแผนต่อได้
อ้างอิงและเชิงอรรถ แก้
- ↑ โกดัง หรือ กุดัง มาจากภาษามลายู gudang (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน) ส่วนภาษาอังกฤษสะกดว่า godown
- ↑ อุปกรณ์คลังสินค้า