คลองละงู เป็นคลองสำคัญในจังหวัดสตูล มีต้นกำเนิดมาจากเขาช่องประตูซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดตรัง สตูล พัทลุงและสงขลา มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำบนภูเขาไหลลงเป็นน้ำตก ไหลผ่านอำเภอมะนังที่บ้านป่าพน บ้านวังตะเคียน เข้าเขตอำเภอควนกาหลง ตำบลอุไดเจริญ เรียกคลองช่วงนี้ว่า คลองลำโลน แล้วไหลเข้าสู่เขตอำเภอละงูที่ตำบลน้ำผุด ผ่านตำบลเขาขาว ตำบลละงู ไหลผ่านเขตเทศบาลตำบลกำแพง ไหลออกสู่ทะเลสองทาง คือสายหนึ่งไหลออกทะเลที่บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ และอีกสายหนึ่งไหลออกทะเลที่บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน[1]

ความยาวคลองละงูประมาณ 47 กิโลเมตร จากข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัดสตูล 4 ปี (พ.ศ. 2561–2564) คลองละงูมีพื้นที่รับน้ำฝน 937.08 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี และปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 709.06 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี[2]

ริมตลิ่งเป็นดินเหนียวและมีความลาดชัน พื้นท้องน้ำเป็นทราย มีน้ำไหลตลอดปี พื้นที่สองฝั่งคลองมีสภาพเป็นป่าชื้น มีการทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ มีการทำประมงในเขตอิทธิพลที่น้ำทะเลท่วมถึง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้งกุลาดำ ปลากระพง ปลาเก๋า และปูดำ นอกจากนั้นยังมีป่าชายเลน[3] เช่นที่บ้านท่ายาง ตำบลปากน้ำ สภาพป่าชายเลนมีต้นโกงกาง ต้นตะบูน และต้นจาก รวมถึงมีต้นลำแพนอายุเก่าแก่กว่า 400 ปีที่โผล่พ้นน้ำตั้งตระหง่านอยู่กลางทะเล[4] บริเวณคลองละงู หมู่ 7 ตำบลกำแพง พบเต่ากระอาน ถือเป็นลำคลองแห่งเดียวในประเทศที่เป็นแหล่งถิ่นเดิมของเต่ากระอาน[5]

อ้างอิง แก้

  1. "สตูล ๑๘๐ ปี ร้อยวิถี ร้อยเวลา". p. 44.
  2. "สภาวะแหล่งน้ำและสถานการณ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในจังหวัดสตูล" (PDF). ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-12-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
  3. "ชลชีววิทยาและทรัพยากรประมงในคลองละงู จังหวัดสตูล" (PDF). สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด. p. 62. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-12-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
  4. "เที่ยวท่องล่องคลองท่ายาง". อุทยานธรณีสตูล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
  5. "ท้องถิ่นต้นน้ำถึงปลายน้ำ ลงนามร่วมมือรักษ์คลองละงูสวยน้ำใส เป็นแห่งเดียวที่เต่ากระอานเหลืออยู่ก่อนจะสูญพันธุ์". สยามรัฐออนไลน์.