คลองพระพิมล คลองพระพิมลราชา คลองพระราชาพิมล หรือชื่อดั้งเดิมว่า คลองพระราชาภิมณฑ์ เป็นคลองที่เริ่มต้นในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ผ่านอำเภอไทรน้อย ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีความยาว 31.50 กิโลเมตร กว้าง 40 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2,296,872 ลูกบาศก์เมตร[1] เป็นคลองที่มีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านการคมนาคมและการเกษตรของผู้คนในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน[2]

คลองพระพิมลบริเวณตลาดน้ำไทรน้อย

ประวัติ

แก้

คลองพระพิมลขุดเมื่อ พ.ศ. 2433 ริเริ่มโดยพระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) ผู้ได้รับสัมปทานการขุดคลอง เริ่มจากปลายคลองบางบัวทองตรงบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบางบัวทองในปัจจุบัน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ วัตถุประสงค์ไม่เพียงแต่เปิดพื้นที่เพื่อการเกษตรแต่ยังเป็นการเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ในแถบสุพรรณบุรี เป็นคลองกว้าง 3 วา ลึก 5 ศอก แต่การขุดได้เพียงระยะราว 16 กิโลเมตร ถึงบริเวณวัดยอดพระพิมล พระราชาภิมณฑ์ก็สิ้นชีวิต[3]

จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้เดินทางมาร่วมพิธีเกี่ยวข้าวและประกวดพันธุ์ข้าวที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี การเดินทางเป็นไปได้ด้วยความลำบากเนื่องจากการตื้นเขินของคลองพระราชาภิมณฑ์ พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงสั่งให้กรมชลประทานดำเนินการขุดคลองพระราชาภิมณฑ์ให้ลึกและกว้างกว่าเดิม และให้ขุดต่อไปบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ระยะทางจึงเพิ่มเป็น 31.50 กิโลเมตร[4]

ผลกระทบของการขุดคลองทำให้มีการขุดคลองเล็กคลองซอย เช่น คลองขุนศรี คลองลากค้อน คลองบางภาษี คลองมะสง เป็นต้น ทำให้มีผู้คนจากที่อื่น ๆ พากันอพยพมาตั้งรกราก ลงทุนทำมาหากินในท้องที่บางบัวทองกันมากขึ้น หลวงโยธีพิทักษ์ (โปร่ง สาทิศกุล) นายอำเภอบางบัวทอง กล่าวถึงความสำคัญของคลองพระราชาภิมณฑ์ไว้ตอนหนึ่งว่า "แม่น้ำเจ้าพระยามีคุณประโยชน์แก่ประเทศสยามอย่างมากมายเพียงใด คลองพระพิมลก็มีประโยชน์อย่างเดียวกัน"[5]

การตั้งชุมชนเป็นช่วง ๆ ในระหว่างชุมชนชาวไทยมีชุมชนชาวไทยมุสลิมและชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตั้งบ้านเรือนตามสองฝั่งคลองพระพิมล มีชุมชนเชื้อสายมอญเช่นชุมชนมอญวัดไทรน้อยและชุมชนมอญวัดยอดพระพิมล ชุมชนไทยมุสลิมที่บ้านสุเหร่าโรงสวดและสุเหร่าโรงกระโจม ชุมชนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากตั้งบ้านเรือนทีปากคลองพระพิมลที่เป็นตลาดบางบัวทองในปัจจุบัน ตลาดไทรน้อย ตลาดไทรใหญ่ ตลาดปากคลองเจ้าและตลาดปากคลองขุนศรี[6]

อ้างอิง

แก้
  1. "กรมชลฯ ร่วม Kick Off โครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองพระพิมลเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี". ฐานเศรษฐกิจ.
  2. "'พายเรือคายัค รักษ์คลองนนท์' ยลเสน่ห์คลองพระพิมล นนทบุรี". โพสต์ทูเดย์.
  3. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "พัฒนาการของการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.[ลิงก์เสีย]
  4. "คลองพระราชาพิมล". คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด.[ลิงก์เสีย]
  5. "คลองพระราชาพิมล...หัวใจชาวนา ดาราประจำชีวิต". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.[ลิงก์เสีย]
  6. "ภูมินามอำเภอไทรน้อย" (PDF). สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. p. 22.